ในช่วงหนึ่งอาทิตย์หลังการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นสหรัฐฯ สามารถดีดตัวขึ้นมาได้อย่างเหนือความคาดหมายเนื่องจากนักลงทุนต่างมองว่าชัยชนะของโดนัลด์ ทรัมป์ และพรรครีพับลิกันซึ่งคุมได้ทั้งสภาคองเกรสและวุฒิสภานั้นจะทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ เป็นหนึ่งเดียวขึ้น ไม่มีการขัดขากันเหมือนสมัยโอบามา คิดจะทำนโยบายอะไรก็จะลื่นไหลกว่า
หนึ่งในนโยบายที่มีโอกาสเกิดขึ้นสูงคือการหั่นภาษียกใหญ่
โดยตัวมันเองแล้วการลดภาษีเป็นนโยบายที่ใคร ๆ ก็น่าจะต้องชื่นชอบ เนื่องจากมันทำให้เรามีเงินในกระเป๋าสตางค์มากกว่าเดิม แต่จากมุมมองที่กว้างกว่าแค่กระเป๋าสตางค์ของเรานั้นผลลัพธ์ของมันต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมกลับเข้าใจได้ไม่ง่ายนักและมักไม่ขาวดำเหมือนอย่างในตำราเศรษฐศาสตร์ระดับพื้นฐานทั่วไป
สหรัฐฯ เป็นประเทศที่เคยมีการปฏิรูปนโยบายภาษีครั้งใหญ่ ๆ (ทั้งเพิ่มและลด) มาแล้วนักต่อนัก แต่กลับไม่มีผลลัพธ์ที่เด่นชัดต่ออัตราขยายตัวของ GDP ในระยะยาวเลย
บทความนี้จะนำเสนอแนวคิดเชิงทฤษฎีและผลวิจัยเกี่ยวกับผลของการลดภาษีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในอดีตครับ
กินหวานแล้วค่อยกินเปรี้ยว
โบราณเขาว่าให้เราอดเปรี้ยวไว้กินหวาน แต่ผลวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ชี้ว่าการลดภาษีนั้นเปรียบเสมือนกับการกินหวานแล้วค่อยกินเปรี้ยว (หรืออดกิน) เนื่องจากมันสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้นแต่มักไม่มีผลหรือส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจในระยะยาวเนื่องจากเป็นการเพิ่มการขาดดุลการคลัง
ในมุมมองหนึ่งการลดภาษีเป็นการเพิ่มแรงจูงใจให้ผู้เล่นทำงานและลงทุนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากพวกเขาจะไม่ต้องแบ่ง “รางวัล” จากการกระทำเหล่านี้ให้กับรัฐบาลมากเท่าเดิม เงินที่เคยกองอยู่อาจถูกนำออกมาหมุนเพิ่มขึ้น ชั่วโมงพักผ่อนอาจถูกเปลี่ยนไปเป็นชั่วโมงทำงานมากขึ้น นี่คือมุมมองที่คนส่วนมากใช้เป็นเหตุผลในการสนับสนุนนโยบายลดภาษีว่ามันจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้
แต่ในอีกมุมมองหนึ่ง การลดภาษีก็เป็นการลดแรงจูงใจให้ผู้เล่นทำงานและลงทุนได้เหมือนกัน เหตุเป็นเพราะว่าการลดภาษีเป็นการเพิ่มรายได้หลังหักภาษีแบบทันทีทันใด “ความรวยขึ้นแบบกระทันหัน” นี้จึงเป็นการลดแรงจูงใจให้ผู้เล่นขยันขันแข็ง ลองจินตนาการถึงกรณีการเพิ่มรายได้แบบสุดโต่งจากการที่คุณถูกลอตเตอรี่รางวัลที่หนึ่งดูก็ได้ครับ หลังจากที่คุณทราบข่าวดีแล้วคุณคงไม่คิดจะออกไปทำงานจำนวนชั่วโมงเท่าเดิมใช่ไหมครับ
สองมุมมองนี้เป็นไปได้ทั้งนั้น คำถามคือแล้วที่ผ่าน ๆ มานั้นมุมมองไหนถูก
ในระยะยาว งานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่าการลดภาษีไม่ได้ทำให้คนออกมาทำงานกันมากขึ้นและไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ไวขึ้น (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.nber.org/chapters/c10943.pdf และ https://www.aei.org/wp-content/uploads/2013/12/-tax-policy-lessons-from-the-2000s-chapter-34_114619105718.pdf) แม้กระทั่งการลดภาษีกำไรจากการขายทรัพย์สิน (capital gain tax) ที่เป็นจุดเด่นของการลดภาษีสไตล์รีพับลิกันเมื่อปี 2003 ก็ไม่พบว่าสามารถกระตุ้นการลงทุนได้แต่อย่างใด (อ่านเพิ่มได้ที่ https://www.brookings.edu/bpea-articles/investment-overhang-and-tax-policy/)
แต่ในระยะสั้นนั้น พบว่าการเปลี่ยนแปลงนโยบายภาษีที่ไม่มีจุดประสงค์เกี่ยวกับความต้องการในการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นสามารถมีผลกระทบจริงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจแบบชั่วคราว (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.nber.org/papers/w13264.pdf) ทั้งนี้มีข้อแม้ว่าการเปลี่ยนแปลงนโยบายภาษีที่มีผลในระยะสั้นนี้จะต้องเป็น “shock” ที่ไม่เกี่ยวกับสภานะการณ์ทางเศรษฐกิจขณะนั้น การตั้งใจลดภาษีเพื่อเข็นเศรษฐกิจที่กำลังแผ่วแรงอยู่ให้เร่งเครื่องขึ้นมาใหม่นั้นไม่ถือว่าอยู่ในกรอบนี้
สำคัญไม่แพ้กันคือลดภาษีเพื่อใคร
การลดภาษีสไตล์พรรครีพับลิกันที่มีโอกาสเกิดขึ้นสูงนั้นมักจะเป็นการช่วยชนชั้นนำมากกว่าการช่วยคนทั่วไป (ซึ่งขัดกับสิ่งที่ทรัมป์สัญญาไว้กับฐานเสียงของเขา!)
น่าเสียดายเนื่องจากการลดภาษีเพื่อคนรวยนอกจากจะทำให้ความเหลื่อมล้ำยิ่งทวีเพิ่มมากขึ้นแล้ว การเพิ่มรายได้หลังภาษีให้กับคนรวยนั้นก็ไม่ “คุ้ม” เท่ากับการลดภาษีให้กับคนทั่วไปด้วย นั่นเป็นเพราะว่าพวกเขาใกล้ขีดสุดของการใช้จ่าย เมื่อเทียบกับคนทั่วไปแล้วเงินที่เพิ่มมากขึ้นจะไหลออกจะพวกเขายากขึ้น ประมาณว่าคนเราจะซื้อเรือยอร์จหรือเครื่องบินส่วนตัวเพิ่มขึ้นได้อีกสักกี่ลำหากเราร่ำรวยล้นฟ้ามีทุกอย่างที่ต้องการอยู่แล้ว จุดนี้จึงอาจเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมการวิเคราะห์ข้อมูลภาษีตั้งแต่ปี 1945 ถึง 2010 โดยHungerford ไม่พบว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างการขยายตัวของเศรษฐกิจกับการลดภาษีคนรวยจาก 90% เมื่อช่วงปี 1950 ลงมาเหลือแค่ 35% ทุกวันนี้ (http://graphics8.nytimes.com/news/business/0915taxesandeconomy.pdf)
สรุป
การลดภาษีในบางรูปแบบในสหรัฐฯ สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ชั่วคราว แต่ไม่การันตีว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาวโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการลดภาษีนั้นเป็นการช่วยคนรวยมากกว่าคนทั่วไป
หากทรัมป์ต้องการพิสูจน์ว่าผู้ที่โจมตีเขาผิด การลดภาษีครั้งที่กำลังจะมาถึงนี้จะต้องไม่ลำเอียงให้กับคนรวยเกินไป และจะต้องเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เกิดพฤติกรรมเศรษฐกิจใหม่ ๆ (เช่น ออกไปทำงานเพิ่ม ไม่ใช่เป็นแค่ “การถูกรางวัลแบบกระทันหัน”)
หากการลดภาษีเป็นเพียงนโยบายที่หวังช่วยเหลือชนชั้นนำ สิ่งที่นักลงทุนควรจับตามองที่สุดคือทรัมป์จะใช้จ่ายอย่างไรเพื่อให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ “โตหนีหนี้” ที่กำลังจะทวีคูณขึ้น
อย่างที่ผมได้เขียนสรุปไว้ในบทความครั้งก่อนเกี่ยวกับหนี้รัฐบาล หนี้รัฐบาลจะอันตรายก็ต่อเมื่อความสามารถในการชำระหนี้นั้นต่ำ ซึ่งสหรัฐฯ จะโตหนีหนี้ได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับเครดิตของสหรัฐฯ ในสายตาผู้ให้กู้ และ ความเป็นไปได้ที่การใช้จ่ายรัฐบาลจะนำไปสู่การพัฒนาของผลิตภาพของเศรษฐกิจ
ผู้อ่านคิดว่าการใช้จ่ายของรัฐบาลทรัมป์จะทำให้สหรัฐฯ โตหนีหนี้ได้จริงหรือไม่ครับ?
ติดตามบทวิเคราะห์จากมุมมองเศรษฐศาสตร์ที่เข้าใจง่ายได้ที่ www.settakid.com ครับ