#แนวคิดด้านการลงทุน

Sunk Cost: ตัดใจหรือติดกับเมื่อติดดอย

โดย ดร. ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์
เผยแพร่:
228 views

ในบางสถานการณ์มนุษย์เราตัดสินใจได้แย่พอๆ  กับ (หรือแย่กว่า) นกพิราบที่กำลังเก็บกินเศษขนมปังตามท้องถนน

“เพิ่งซื้อหุ้นซัมซุงมาอย่างแพง...Note 7 ดันเน่ายกแผง...แต่อย่าเพิ่งขายเลย เสียดาย”

“X-Men ภาคสามนี่ทำได้แย่จริงๆ  แต่เสียดายค่าตั๋ว ทนดูไปอีกสองชั่วโมงแล้วกัน”

“เราเกลียดงานเรา แต่อุตส่าห์ทำมาตั้ง 5 ปีแล้ว จะให้ลาออกได้ยังไง”

“อย่าเพิ่งเลิกกันเลย เราอาจจะเข้ากันไม่ได้ แต่เราคบกันมาตั้ง 7 ปีแล้วนะ”

ช่วงเวลาสำคัญๆ เหล่านี้มนุษย์ทุกคนล้วนเคยผ่านมันมาแล้วทั้งนั้น แต่จะมีส่วนน้อยที่ไม่เคยติดกับดักที่ชื่อว่า sunk cost fallacy 

Sunk cost คือต้นทุนที่ จมไปเรียบร้อยแล้ว เอาคืนมาไม่ได้  ไม่มีเหตุผลที่ควรจะนำมันมาช่วยพิจารณาการตัดสินใจในการลงทุนเม็ดเงิน แรงกาย หรือแรงใจต่อไปในปัจจุบันเพราะว่ามันไม่สามารถมากระทบผลตอบแทนหรือต้นทุนใหม่ๆ ที่กำลังจะมาถึงในอนาคตได้   

การทำความเข้าใจกับกับดัก sunk cost นั้นมีความสำคัญยิ่ง เนื่องจากมันเป็นอุปสรรคต่อการตัดสินใจที่ดีที่สุดของเรา ไม่ว่าจะเป็นในการลงทุนในสินทรัพย์หรือในชีวิตส่วนตัว

มนุษย์ผู้ติดกับ

งานวิจัยชิ้นแล้วชิ้นเล่าพบว่ามนุษย์เรามักติดกับดักนี้ในแทบจะทุกสถานการณ์ เช่น

1. หากถามผู้คนว่าถ้าตั๋วหนังราคา 10 ดอลลาร์ แล้วคุณพบว่าทำเงินหายไป 10 ดอลลาร์ขณะกำลังเปิดกระเป๋าสตางค์ คุณจะยังซื้อตั๋วหรือไม่  88% บอกว่าซื้อ  แต่ถ้าคุณซื้อตั๋วมา 10 ดอลลาร์แล้วแต่ดันทำตั๋วหายก่อนเข้าชม คุณจะไปซื้อตั๋วใหม่หรือไม่ แค่ 46% ตอบว่าจะยังซื้อ ทั้งๆ ที่สองสถานการณ์นี้ตามหลักแล้วมันเหมือนกัน ในเหตุการณ์ที่สองตั๋วมันได้หายไปแล้ว ทำอะไรไม่ได้  มนุษย์เราควรจะเทียบความคุ้มค่าของการดูหนังกับราคา 10 ดอลลาร์เหมือนในเหตุการณ์แรกเท่านั้น   (psych.hanover.edu/classes/cognition/papers/tversky81.pdf )

2 โค้ชบาสเก็ตบอล NBA ให้โอกาสลงเล่นกับผู้เล่นที่ทีมเสียเงินไปในช่วง draft ผู้เล่นเมื่อตอนเปิดฤดูกาลมากกว่าผู้เล่นคนอื่นๆ แทนที่จะตัดสินใจด้วยฟอร์มการเล่นปัจจุบัน (www.jstor.org/stable/2393794)

3 จากการทดลองในห้องแล็บ เรายอมทนกับการรักษาแผนเดิมทั้งๆ ที่การรักษาแผนใหม่ดีกว่าเห็นๆ (http://link.springer.com/article/10.1007/s12144-010-9077-7)

4 เมื่อเทียบกับ CEO ที่ซื้อธุรกิจมาอีกทีแล้ว CEO ที่สร้างธุรกิจขึ้นมาเองกับมือมักจะพยายามขยายธุรกิจต่อไปทั้งๆ ที่แนวโน้มไม่ดี (https://www.gwern.net/docs/sunkcosts/1993-mccarthy.pdf )

 

ทำไมเราถึงติดกับดักนี้

หลายสิบปีที่ผ่านมามีทฤษฎีมากมายที่พยายามจะอธิบายว่าทำไมมนุษย์เราถึงชอบติดกับดัก sunk cost  ในขณะที่สัตว์และแมลงหลายสปีซี่ส์ดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยติดกับดักนี้ และถึงจะติดก็ติดไม่เท่ามนุษย์ (www.americandreamcoalition.org/transit/sunkcosteffect.pdf  การหลับหูหลับตาปฏิบัติตามคำสอน เช่น “อย่าฟุ่มเฟือย” หรือ “อย่ายอมแพ้ง่ายๆ” เป็นคำอธิบายที่ถูกยอมรับกันอย่างกว้างขวางในวงการจิตวิทยาเพราะว่ามนุษย์ (ที่โตแล้ว) เท่านั้นที่จะมีพลังทางความคิดมากพอที่จะคอยนึกถึงคำสอนเหล่านี้  จึงชอบติดกับดักนี้กัน

แต่ก็มีอีกคำอธิบายหนึ่งที่เพิ่งถูกค้นพบเมื่อไม่กี่ปีมานี้ที่ผู้เขียนคิดว่าน่าสนใจ  นักเศรษฐศาสตร์ Sandeep Baliga กับ Jeffrey Ely แห่ง Northwestern University ตั้งสมมุติฐานว่าในบางกรณีเราอาจจะยอมติดกับดัก sunk cost แต่โดยดีเพราะว่าเราต้องการใช้มันเป็นเหมือนเครื่องช่วยจำชนิดหนึ่ง   (https://www.aeaweb.org/articles?id=10.1257/mic.3.4.35) นั่นก็คือ ความจำเราสั้น เราจำไม่ได้ว่าเราลงทุนในอดีตไปเพราะเหตุผลแท้จริงอะไรกันแน่  การแก้ปัญหาความจำเฉพาะหน้าในวันนี้คือการดูเอาว่าเราลงทุนไปมากแค่ไหนในอดีต  ยิ่งมากก็ยิ่งมั่นใจว่ามันต้องเป็นการลงทุนที่ดีมากๆ แน่ๆ (ไม่งั้นตัวเราในอดีตคงไม่ลงทุนไปมากๆ ตั้งแต่แรก) จึงเป็นอีกหนึ่งคำอธิบายว่าเหตุใดเราจึงยอมให้ต้นทุนในอดีตที่จบไปแล้วกลับมากระทบการตัดสินใจในปัจจุบัน

พวกเขาทดสอบสมมุติฐานที่ว่านี้ด้วยการทำการทดลองในแล็บคอมพิวเตอร์กับนักเรียน MBA ปีแรก 100 คนที่ Kellogg School of Management   โดยให้พวกเขาเล่นเกมลงทุนที่มีสองขั้นตอน 

ขั้นตอนแรกจะให้เหล่านักเรียนเลือกว่าจะลงทุนในโปรเจค 30 โปรเจคต่อไปนี้หรือไม่ ซึ่งแต่ละโปรเจคนก็จะมีผลตอบแทนและต้นทุนที่เป็นไปได้สองแบบด้วยความน่าจะเป็นเท่ากัน ยกตัวอย่างเช่น อาจจะได้ผลตอบแทน 7 หรือ 12 ดอลลาร์เมื่อโปรเจคเสร็จสิ้น และเสียเงินลงทุนไป 1 หรือ 6 ดอลลาร์ในวันนี้

หลังจากที่ตอบคำถามว่าจะลงทุนหรือไม่ลงทุนกับโปรเจคกว่า 30 โปรเจคในขั้นตอนแรก เหล่านักเรียน 100 คนนี้จะต้องตัดสินใจอีกรอบในขั้นตอนที่สองว่า จะลงทุนเพิ่มในแต่ละโปรเจคไหม ซึ่งอาจจะต้องจ่าย 1 หรือ 10 ดอลลาร์ด้วยความน่าจะเป็นที่เท่ากัน  ความมันส์อยู่ตรงที่ว่าทุกโปรเจคในขั้นตอนที่สองจะบอกว่าลงทุนไปแล้วเท่าไหร่ แต่บางโปรเจคจะไม่บอกว่ามันจะมีผลตอบแทนเท่าไหร่เมื่อโปรเจคเสร็จสิ้น  คนปกติจะลืมตัวเลขไปหมดแล้วจากขั้นตอนแรก นี่จึงเป็นการทดสอบว่านักเรียนเหล่านี้จะเดินเข้าสู่กับดัก sunk cost เพราะว่า “ลืม” เหตุผลที่ลงทุนไปกับโปรเจคพวกนี้จากขั้นตอนแรกหรือไม่

ผลก็เป็นดั่งที่ตั้งสมมุติฐานไว้ คือคนเรายอมติดกับดักและใช้ sunk cost เพื่อทดแทน “ข้อมูลที่หายไป” เพราะว่าขีดจำกัดของความจำมนุษย์

อยู่กับ sunk cost

แม้ว่าจะไม่มีใครหลีกเลี่ยงกับดักนี้ได้ทุกครั้ง แค่เพียงเราทราบถึงตัวตนของมันก็น่าจะทำให้เราตัดสินใจได้ดีขึ้นกว่าคนที่ไม่เคยรู้จักมันแล้ว

และในเมื่อมันหลีกเลี่ยงลำบาก บางทีเราอาจพลิกมาใช้ประโยชน์จากมันก็ยังได้  ผู้เขียนเองยอมจ่ายเงินซื้อคอร์สออกกำลังกายในสตูดิโอแพงๆ (ทั้งๆ ที่ออกกำลังกับ dvd ที่บ้านก็ได้) เพื่อที่จะทำให้รู้สึกเสียดายเงินเวลาขี้เกียจออกกำลังกาย  สุดท้ายพบว่าเป็นวิธีรักษาวินัยในการดูแลสุขภาพระยะยาวที่ได้ผลมาก

อีกทั้งในภาพรวมแล้วการติดกับดัก sunk cost ก็อาจไม่ได้แย่ขนาดที่เราคิด  มันอาจเป็น “ราคา” ที่เรายอมจ่ายเพื่อลดภาระของสมองเนื่องจากการหลับหูหลับตาทำตามคำสอนในสังคมหรือการใช้ sunk cost เพื่อทดแทนความจำของเรานั้นทำได้ง่าย แทบไม่ต้องคิด ไม่ต้องประมวลสถานการณ์ และผลลัพธ์ส่วนใหญ่น่าจะออกมาพอใช้ได้  

 

คุณผู้อ่านมีวิธีอยู่กับ sunk cost กันอย่างไรก็ comment มาได้ครับ

ติดตามบทวิเคราะห์จากมุมมองเศรษฐศาสตร์ที่เข้าใจง่ายได้ที่ www.settakid.com  ครับ


ผู้เขียนเป็นเจ้าของเว็บไซต์ settakid.com ที่วิเคราะห์ประเด็นเปลี่ยนโลกผ่านมุมมองเศรษฐศาสตร์แบบเข้าใจง่ายๆ  คุณ ณภัทร จบปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลและจอนส์ ฮอปกินส์ เคยมีประสบการณ์ทำวิจัยที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ดและธนาคารโลก และสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์ประยุกต์อยู่ที่มหาวิทยาลัยมินนิโซต้า เป็นนักเขียนรับเชิญของ stock2morrow และเป็นคอลัมนิสต์ประจำสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า

Facebook

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง