#ลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐาน

หนี้รัฐบาล...แค่ไหนถึงอันตราย

โดย ดร. ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์
เผยแพร่:
410 views

มีตัวเลขเศรษฐกิจอยู่ตัวหนึ่งที่หลายคนมักมองมันอย่างผิวเผินว่าเป็น “ตัวเลขหายนะ” 

ตัวเลขนั้นก็คือสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (ขอเรียกสั้นๆ ว่า หนี้รัฐบาลต่อ GDP) 

ในขณะที่บ้านเรากังวลกันว่าตัวเลขนี้อาจขึ้นไปแตะ 50 เปอร์เซ็นต์ หรือจะชนกรอบที่ตั้งไว้ที่ 60 เปอร์เซ็นต์ในไม่ช้า  เคยสงสัยไหมครับว่าทำไมเราถึงต้องกังวลกับมันทั้งๆ ที่เศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วแทบจะทุกเศรษฐกิจมีหนี้รัฐบาลอยู่ในระดับที่เรียกได้ว่า “ชาตินี้ก็ชำระไม่หมด”

บทความนี้จะนำเสนอประเด็นที่เราควรและไม่ควรกังวล บวกกับผลวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับตัวเลขนี้ครับ

ข้อควร (และไม่ควร) กังวลเกี่ยวกับหนี้รัฐบาล

ในเชิงทฤษฎีแล้วนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่มองว่าหากรูปแบบของรายจ่ายรัฐบาลไม่เปลี่ยนแปลงไปจากในอดีตและจะมีการชำระหนี้ทั้งหมดจริงในอนาคต การกู้เงินมาใช้ในวันนี้เป็นแค่การกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่จะเป็นการสร้าง “ลมต้าน” ในการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว

หนึ่งในกลไกหลักที่หนี้รัฐบาลเป็นเหมือนการสร้างลมต้านเป็นเพราะว่าการกู้เงินโดยรัฐบาลท้ายสุดแล้วจะทำให้รายได้ของประชากรลดลง  เริ่มจากการที่หนี้ที่เพิ่มขึ้นทำให้ระดับการออมรวมของประเทศ (national saving) ลดลงอย่าง ซึ่งก็แปลว่าการลงทุนในประเทศจะลดลงตามไปด้วย ทำให้รายได้จากทุนต่อหัวประชากรต่ำลง 

ในขณะเดียวกันเมื่อปริมาณทุนลดลง ผลิตภาพของแรงงานก็จะลดลงตามกัน  ยกตัวอย่างง่ายๆ แบบหยาบๆ เช่นเมื่อเรามีจำนวนเครื่องจักร (ซึ่งถือเป็น “ทุน” ชนิดหนึ่ง) น้อยลง พนักงานคนหนึ่งก็จะมีผลิตภาพที่ลดลงเพราะว่าเขาไม่มีเครื่องจักรให้ทำงานด้วยมากเท่าแต่ก่อน  เมื่อผลิตภาพแรงงานลดลง แน่นอนว่ารายได้เขาก็ต้องลดลงด้วยเพื่อเป็นการสะท้อนคุณค่าที่ลดน้อยลงของแรงงาน ในที่สุดแล้วเศรษฐกิจก็จะพบเจอกับลมต้านที่ทำให้รายได้ทั้งจากทุนและจากแรงงานลดลง  นี่คือความกังวลอย่างแรกเกี่ยวกับปริมาณหนี้รัฐบาล

การตกหน้าผาการคลัง (fiscal cliff)

ความกังวลอย่างที่สองคือการตกหน้าผาการคลัง (fiscal cliff)  ผาการคลังที่ว่านี้จะลึกแค่ไหนและจะเดินไปถึงเมื่อไหร่นั้นขึ้นอยู่กับวินัยการคลังและกฎหมายกรอบการคลังของแต่ละประเทศ  ที่นักลงทุนเป็นกังวลอย่างมากในช่วงปีค.ศ. 2012 นั้นเป็นเพราะมีสองเหตุการณ์เกิดขึ้นในสหรัฐฯ  หนึ่งคือมาตรการลดหย่อนภาษีหลายมาตรการของเขากำลังจะสิ้นอายุลง ทำให้ผู้คนจำนวนมากจะต้องเสียภาษีมากขึ้น อีกทั้งยังมีกฎหมาย sequestration ที่จะปรับลดรายจ่ายภาครัฐแบบอัตโนมัติหากปริมาณหนี้เข้าใกล้เพดานหนี้หรือการชำระหนี้ไม่เป็นไปอย่างที่กำหนดไว้  ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์นี้ทำให้นักลงทุนกังวลมากว่ามันจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ หดตัวอย่างรุนแรง  เปรียบได้กับการที่เศรษฐกิจ “เดินตกผา” นั่นเอง 

วงจรอุบาทว์แห่งการติดหนี้

ความกังวลอย่างที่สามคือวงจรอุบาทว์แห่งการติดหนี้  สัดส่วนหนี้รัฐบาลต่อ GDP ที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ความเสี่ยงในการผิดชำระหนี้เพิ่มขึ้น หากเป็นเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยมีความน่าเชื่อถือหรือมีประวัติด่างพร้อยอยู่แล้ว มีโอกาสที่จะเกิดการดีดตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยจากการเทขายพันธบัตรรัฐบาลซึ่งเป็นการทำให้ทั้งภาระในการชำระหนี้เก่าและต้นทุนในการกู้เงินรอบใหม่ๆ มาไฟแนนซ์รายจ่ายที่จำเป็นเพิ่มขึ้น สุดท้ายจึงเป็นหนี้มากกว่าเดิม กลายเป็นวงจรอุบาทก์ที่หาทางออกได้ยากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่เศรษฐกิจกำลังหดหรือกำลังต้องการเงินอัดฉีดจากภาครัฐ  ตัวอย่างที่เราเคยได้เห็นกันคือในกรณีของเศรษฐกิจ PIIGS เมื่อคราววิกฤตยุโรป

อย่างไรก็ตามความกังวลทั้งสามรูปแบบนี้จะบรรเทาลงและจะไม่ก่อให้เกิดหายนะชั่วข้ามคืนเมื่อ 1) หนี้รัฐบาลเป็นสกุลเงินที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลหรือธนาคารกลางได้ หรือ 2) รัฐบาลสามารถผลักดันพฤติกรรมของผู้ให้กู้ได้ไม่โดยตรงก็โดยอ้อมเพื่อป้องกันการดีดตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยอย่างกระทันหัน  ตัวอย่างชั้นดีของประเด็นนี้คือเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่แม้จะมีหนี้เกิน 230 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ก็ตาม ซูโม่แห่งแดนอาทิตย์อุทัยก็ยังไม่ล้มเพราะหนี้เป็นสกุลเยนและผู้ถือพันธบัตรส่วนใหญ่อยู่ในประเทศ อีกทั้งก็ยังคงคอยซื้อพันธบัตรกันอย่างเลื่อมใส

 

งานวิจัยล่าสุดชี้ว่าไม่มีตัวเลขวิเศษ

ข่าวร้ายคือทุกวันนี้ยังไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าตัวเลขนี้ควรจะอยู่ที่เท่าไหร่และเท่าไหร่ถือว่าอันตราย                                                                  

แม้ว่างานวิจัยชื่อดังเมื่อปี 2012 ของ Carmen Reinhart กับ Vincent Reinhart, และ Kenneth Rogoff (https://www.aeaweb.org/articles?id=10.1257/jep.26.3.69) จะพบว่ามีความเกี่ยวเนื่องระหว่างอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจที่จะลดลงเมื่อตัวเลขนี้เลย 90 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ขึ้นไป  แต่งานวิจัยชิ้นนี้ก็ได้ถูกตำหนิและชำแหละหลายครั้งโดยงานวิจัยชิ้นใหม่ๆ (เช่น http://voxeu.org/article/high-public-debt-harmful-economic-growth-new-evidence) จนเริ่มมีหลักฐานมากพอที่จะมาหักล้างความเชื่อที่ว่าสัดส่วนที่สูงเกินจุดๆ หนึ่งจะต้องมีผลทางลบกับการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างแน่นอน อีกทั้งยังพบด้วยว่าตัวเลขเส้นตายที่ว่านี้ยังมาไม่ถึงสำหรับเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ และจะต่างกันในแต่ละประเทศแต่ละเวลาด้วย  ไม่ควรมองว่ามีตัวเลขวิเศษตัวเดียวที่ใช้ได้กับทุกสถานการณ์ 

บทเรียนสำคัญวันนี้คือในเมื่อเรายังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะสรุปว่าตัวเลขนี้อยู่ตรงไหนแล้วถึงแปลว่าอันตราย จึงไม่ควรตัดสินใจดำเนินนโยบายรัดเข็มขัดในยามคับขันเพียงเพราะว่าสัดส่วนหนี้รัฐบาลนี้ได้เข้ามาอยู่ใกล้กรอบๆ หนึ่งซึ่งแท้จริงแล้ว “เป็นเพียงตัวเลข”  แต่ควรใช้กรอบนี้เป็นแค่เครื่องมือเตือนใจให้รัฐบาลใช้จ่ายอย่างรอบคอบ

เพราะปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่จะเป็นตัวตัดสินว่าควรจะมีหนี้รัฐบาลเพิ่มขึ้นแค่ไหนคือ ผลตอบแทนในอนาคตจากโปรเจคที่รัฐบาลตั้งใจจะเอาเงินที่กู้มาไปลงทุน

หากเงินส่วนมากถูกเอาไปใช้เพื่อกระตุ้นการบริโภคชั่วคราวที่ไม่ได้เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันหรือเพิ่มผลิตภาพระยะยาว สุดท้ายก็จะหนีไม่พ้นวงจรลมต้านอย่างที่ได้เกริ่นเอาไว้  อีกทั้งยังมีโอกาสติดกับดักประชานิยมที่จะทำให้เกิดการขาดวินัยทางการคลังจนเคยตัว ไม่พร้อมรับมือกับภาระทางการคลังที่ยังมาไม่ถึงเช่นเมื่อรัฐต้องเข้าอุ้มประชากรจำนวนมากที่เริ่มเข้าสู่วัยเกษียณ  ปัญหาเศรษฐศาสตร์ที่ท้าทายอยู่แล้วจึงอาจกลายพันธุ์ไปเป็นปัญหาการเมืองที่ท้าทายยิ่งกว่า  ซึ่งสุดท้ายจะทำให้รัฐบาลชุดใหม่ๆ ที่ต้องการกู้เงินมาลงทุนในสิ่งที่จะทำกำไรให้กับชาติในระยะยาวกลับต้องมาชนกับเพดานหนี้หรือตกหน้าผาการคลังอย่างน่าเสียดาย

ติดตามบทวิเคราะห์จากมุมมองเศรษฐศาสตร์ที่เข้าใจง่ายได้ที่ www.settakid.com  ครับ


ผู้เขียนเป็นเจ้าของเว็บไซต์ settakid.com ที่วิเคราะห์ประเด็นเปลี่ยนโลกผ่านมุมมองเศรษฐศาสตร์แบบเข้าใจง่ายๆ  คุณ ณภัทร จบปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลและจอนส์ ฮอปกินส์ เคยมีประสบการณ์ทำวิจัยที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ดและธนาคารโลก และสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์ประยุกต์อยู่ที่มหาวิทยาลัยมินนิโซต้า เป็นนักเขียนรับเชิญของ stock2morrow และเป็นคอลัมนิสต์ประจำสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า

Facebook

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง