#ข่าวหุ้นธุรกิจการลงทุน

ถ้าพลิกล็อค "ทรัมป์" ชนะ จะเกิดอะไรขึ้น?

โดย ดร. ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์
เผยแพร่:
139 views

 

(หมายเหตุ: บทความนี้เขียนตั้งแต่ช่วงปลายกันยายน ช่วงนั้นคะแนนนิยมคลินตันนำโด่ง)

 

แม้ว่าตอนนี้แนวโน้มที่โดนัลด์ ทรัมป์จะเอาชนะฮิลลารี คลินตันได้จะยังมีไม่มากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ได้พ่ายแพ้ไปในศึกโต้วาทีครั้งแรกเมื่อวาน

แต่สิ่งที่นักลงทุนทั่วโลกยังคงกังวลคือ “แล้วถ้าทรัมป์ชนะล่ะ” จะเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจทั่วโลก

ณ วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2559  simulation จากเว็บไซต์ fivethirtyeight ทำนายว่าทรัมป์มีโอกาสชนะเพียงแค่ 45.2 เปอร์เซ็นต์ แต่ด้วยความห่ามของนโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์และความวิตกของตลาด เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายเหล่านี้ไว้หน่อยตอนนี้ก็ไม่เสียหายอะไร

บทความนี้สรุป 3 มุมมองสำคัญเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์ ซึ่งแทบจะตรงกันข้ามกับทุกอย่างที่ฮิลลารี คลินตันเคยเสนอไว้ (อ่านบทความเกี่ยวกับนโยบายของเธอได้ที่นี่

 

1.ปฏิรูปนโยบายภาษีเพื่อคนรวย

จากการแถลงนโยบายภาษีเมื่อวันที่ 15 กันยายน ทรัมป์ต้องการ “หั่น” ภาษีเงินได้ให้กับชาวอเมริกันทุกชนชั้นและลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลง ซึ่งสถาบันวิจัยเชิงนโยบาย Tax Foundation คำนวนว่าหากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง รายได้ของชาวอเมริกันที่จนที่สุด 80 เปอร์เซ็นต์จะเพิ่มขึ้นราว 0.8 ถึง 1.9 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่กลุ่มคนมหารวยท๊อป 1 เปอร์เซ็นต์จะได้รับเงินหลังภาษีเพิ่มขึ้นราว 10 ถึง 16 เปอร์เซ็นต์ 

แม้ว่าเราจะไม่สนใจเรื่องความเหลื่อมล้ำ การหั่นภาษีแบบนี้ไม่ได้เป็นการการันตีอนาคตอันสวยหรูสำหรับเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรวมเสมอไป

ทรัมป์คิดว่าการลดภาษีจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นแน่นอน ปัญหาคือนี่คือแนวคิด “มิติเดียว” ที่ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดในสาขาเศรษฐศาสตร์ว่ามันจริง

การลดภาษี “สามารถ” ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้จากการดึงดูดให้คนเข้ามาทำงาน ลงทุนหรือทำธุรกิจมากขึ้นในระยะสั้น แต่รายได้หลังภาษีที่สูงขึ้นจากการลดภาษีสามารถลดความต้องการในการออกมาทำงาน ลงทุนหรือทำธุรกิจได้ด้วย (เพราะเริ่มรวยแล้ว)  

แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือหากไม่มีเงินภาษีที่เคยเข้าไปหล่อเลี้ยงโครงการที่มีความจำเป็นต่อการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจในระยะยาว เช่น การศึกษาหรือ infrastructure  ผลผลิตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะค่อยๆ ลดลงจริงๆ 

หากทรัมป์ไม่ยอมลดรายจ่ายเหล่านี้ทั้งๆ ที่ลดภาษี มีโอกาสที่ภาวะการขาดดุลการคลัง (fiscal deficit) ของสหรัฐฯ จะทยานทะลุเมฆขึ้นไปอีกราว 4 ล้านล้านดอลลาร์  ซึ่งสามารถสร้างความผันผวนในตลาดบอนด์ และเราอาจได้เห็นอัตราดอกเบี้ยที่เด้งสูงขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงต่อเจ้าหนี้

นั่นก็คือ จากการลดภาษีครั้งนี้ ทรัมป์จะต้องเลือกระหว่างการขยายตัวที่ติดขัดไปหลายปีเพราะรายจ่ายรายการสำคัญลดลง หรือ เลือกภาวะความตื่นตระหนกในตลาดบอนด์ที่ยังไม่มีใครทราบว่ามันจะกลายพันธุ์ไปเป็นอะไรต่อ

 

2. ปิดรับแรงงานต่างถิ่น

ในขณะที่คลินตันต้องการดึงดูดแรงงานต่างถิ่นเข้ามาเสริมทัพเศรษฐกิจ ทรัมป์ต้องการปิดกั้นและลดจำนวนแรงงานต่างถิ่นผ่านทางสองช่องทางหลัก  

หนึ่งคือมาตรการ “ไม้แข็ง” ตรวจจับแรงงานผิดกฎหมายเพื่อส่งกลับประเทศ  สองคือทำให้ภาคเอกชนจ้างแรงงานต่างถิ่นถูกกฎหมาย (เช่นผู้ถือวีซ่า H-1B) ได้ลำบากขึ้น โดยการเพิ่มความยากในการพิสูจน์ให้ได้ว่าบริษัทอเมริกันหาชาวอเมริกันมาทำงานนี้ไม่ได้จริงๆ ก่อนเปิดตำแหน่งให้แรงงานต่างถิ่น

สถาบันวิจัยเชิงนโยบาย American Action Forum คำนวนไว้ว่านโยบายแบบนี้มีค่าใช้จ่ายสูงมากในการไล่จับและขับไล่แรงงานนอกระบบกว่าสิบล้านคน  ซึ่งในระยะ 20 ปีจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ สูญเสียแรงงานไปราว 11 ล้านคนและลด GDP ลงถึงกว่า 5.7 เปอร์เซ็นต์

 

3. เปิดสงครามการค้า สั่งสอนจีนและเม็กซิโก

ในมิติของการค้าระหว่างประเทศ ค่อนข้างมีความชัดเจนว่าทรัมป์จะต่อต้านการเจรจา NAFTA และ TPP มากกว่าคลินตันและต้องการปกป้องแรงงานอเมริกันด้วยการสั่งสอนประเทศจีนหรือประเทศคู่ค้าอื่นๆ ที่ดำเนินนโยบายการค้าแบบตุกติก

“การสั่งสอน” นั้นมีตั้งแต่การเจรจา NAFTA ใหม่เพื่อขึ้นภาษีนำเข้ากับประเทศเม็กซิโกไปที่ 35 เปอร์เซ็นต์  กดดันประเทศจีนไม่ให้ทำให้เงินหยวนอ่อนค่าเกินจริง เพิ่มกำลังพลทหารในน่านน้ำทะเลจีนใต้ และขึ้นภาษีนำเข้าจากประเทศจีนไปที่ 45 เปอร์เซ็นต์

จริงอยู่ที่งานวิจัยล่าสุดพบว่าการค้ากับประเทศจีนเคยทำให้แรงงานในอุตสาหกรรมการผลิตตกงานไปกว่าหนึ่งล้านคนภายในแค่ระหว่าง ค.ศ. 2000 กับ ค.ศ. 2007 (ที่มา: http://economics.mit.edu/files/6613)  แต่สิ่งที่ทรัมป์คิดจะทำนั้นผ่าเหล่าเกินไป และจะย้อนศรมาทำร้ายเศรษฐกิจสหรัฐฯ ด้วยเหตุผลต่อไปนี้

หนึ่งคือเมื่อทรัมป์เริ่มเปิดสงครามการค้า ประเทศจีนและเม็กซิโกจะโต้กลับด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เหมือนกัน บริษัทอเมริกันทั้งหลายที่ทำการค้ากับสองประเทศนี้จะถูกกระทบเพราะขาด access ต่อตลาดส่งออกสำคัญ อาจถึงขั้นต้องโละแรงงานชาวอเมริกันที่ทรัมป์ต้องการจะช่วย เศรษฐกิจคู่ค้าของสหรัฐฯ เองก็จะถูกกระทบ จึงไม่แปลกที่เงินเปโซเม็กซิกันและแคนาดาดอลลาร์แข็งตัวขึ้นหลังจากที่คลินตัน “ชนะ” การโต้วาทีเมื่อวาน

สองคือเศรษฐกิจภาคอื่นๆ ที่ไม่ได้ส่งออกเลยสักนิดก็ยังสามารถถูกกระทบอีกต่อหนึ่งได้ด้วยเพราะการนำเข้าของวัตถุดิบมีราคาสูงขึ้น อีกทั้งแรงงานในภาคส่งออกก็จะเริ่มไม่มีรายได้ไปอุดหนุนธุรกิจอื่นๆ ในประเทศ อุปสงค์ก็จะแผ่วลงในหลายๆ ส่วนของเศรษฐกิจสหรัฐฯ

Peterson Institute for International Economics พบว่าการใส่นโยบายการค้าของทรัมป์เข้าไปในโมเดลเศรษฐกิจจำลองทำให้อัตราว่างงานพุ่งขึ้นถึงเกือบ 9 เปอร์เซ็นต์ และเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอย โตแค่ -0.1 เปอร์เซ็นต์ภายในแค่สามปีหลังการเลือกตั้ง

 

สรุป

ทรัมป์พยายามจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯ ด้วยนโยบายที่พูดง่าย ถูกต้องในบางมิติ แต่สมการเศรษฐกิจไม่บาลานซ์ และเป็นนโยบายที่ทำแล้วมีโอกาสบานปลายไปทั่วทุกมุมโลกในรูปแบบที่ไม่มีใครเคยเห็น (หรืออยากเห็น)  โดยรวมแล้วทุกฝ่ายฟันธงว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดิ่งลงเหวแน่นอน

ทั้งหมดนี้ไม่ได้แปลว่าทรัมป์จะสามารถทำทุกอย่างได้อย่างใจหวังผ่านสภาคองเกรส เพราะแท้จริงแล้วแคมเปญของทรัมป์ครั้งนี้ได้ก่อให้เกิดรอยร้าวและศัตรูภายในพรรครีพับลิกันที่คุมสภาอยู่ในขณะนี้ด้วย 

เว้นแต่ในเรื่องของการเปิดสงครามการค้าซึ่งนักกฎหมายและนักรัฐศาสตร์มองว่าทรัมป์สามารถใช้อำนาจโดยไม่ถูกขัดขวางได้มากกว่าเรื่องอื่นๆ  ซึ่งหากทรัมป์สามารถทำการถ่วงไม่ให้เกิด TPP ขึ้นได้จริง อาจเป็นโอกาสท่ามกลางวิกฤตให้กับประเทศไทยที่จะไม่ต้องเสียส่วนแบ่งตลาดในกลุ่มประเทศ TPP มากอย่างที่เคยคิดไว้  

แต่สิ่งที่แน่นอนที่สุดและเป็นปัญหาที่แท้จริงสำหรับนักลงทุนทั่วโลกคือ ทรัมป์เป็นคนไม่แน่ไม่นอน 

นี่คือฝันร้ายตัวจริงที่นักลงทุนไม่ต้องการหลังจากที่ต้องอดทนกับความผันผวนของตลาดอย่างต่อเนื่องในช่วงห้าปีที่ผ่านมา

ติดตามบทวิเคราะห์จากมุมมองเศรษฐศาสตร์ที่เข้าใจง่ายได้ที่ www.settakid.com  ครับ


ผู้เขียนเป็นเจ้าของเว็บไซต์ settakid.com ที่วิเคราะห์ประเด็นเปลี่ยนโลกผ่านมุมมองเศรษฐศาสตร์แบบเข้าใจง่ายๆ  คุณ ณภัทร จบปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลและจอนส์ ฮอปกินส์ เคยมีประสบการณ์ทำวิจัยที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ดและธนาคารโลก และสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์ประยุกต์อยู่ที่มหาวิทยาลัยมินนิโซต้า เป็นนักเขียนรับเชิญของ stock2morrow และเป็นคอลัมนิสต์ประจำสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า

Facebook

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง