#ข่าวหุ้นธุรกิจการลงทุน

เข้าใจ “คลินตันนอมิกส์”

โดย ดร. ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์
เผยแพร่:
153 views

ผมคิดว่ามาถึงจุดนี้แล้วทุกคนคงทราบกันถ้วนหน้าแล้วว่าหากโดนัลด์ ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งขึ้นมาจะเกิด "นโยบายสุดผ่าเหล่า" อะไรขึ้นมาบ้าง 

แต่สิ่งที่ถูกดราม่าและความอื้อฉาวของการเมืองอเมริกันกลบจนแทบจะมิด คือจะเกิดอะไรขึ้นกับนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯ หากฮิลลารี คลินตันชนะการเลือกตั้งครั้งนี้

ซึ่ง ณ วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2559  simulation จากเว็บไซต์ fivethirtyeight ทำนายว่าคลินตันมีโอกาสชนะมากกว่า 69 เปอร์เซ็นต์ (ถ้าไม่ป่วยเรื้อรังไปก่อน)

แม้ว่าในช่วงเจ็ดปีที่ผ่านมานี้นโยบายการเงินจะเป็นเหมือนพระเอกคนเดียวในการช่วยผลักดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ นักเศรษฐศาสตร์หลากค่าย (และจากธนาคารกลางเอง) มองว่านโยบายการคลัง (fiscal policy) ที่สั่งตรงจากทำเนียบขาวจะต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการกำหนดทิศทางของเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งแม้ว่านโยบายการคลังส่วนมากจะเป็นนโยบายในประเทศ แต่ความเป็นไปของเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลกนี้จะสามารถส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปสู่เศรษฐกิจในประเทศอื่นๆได้อย่างแน่นอนในช่วง 10 ปีข้างหน้า

บทความนี้จะอธิบายสั้นๆ ว่าหากคลินตันสามารถเอาชนะทรัมป์ได้ในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในเดือนพฤศจิกายนนี้  เราควรจะคาดหวังว่าสหรัฐฯ จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเขาอย่างไร

*** บทความนี้ขอไม่พูดถึงนโยบายการค้าระหว่างประเทศนะครับเพราะกระแสการเมืองปัจจุบันทำให้คาดเดาได้ยากว่าคลินตันจะทำอย่างไรกับนโยบายการค้าระหว่างประเทศ เช่น TPP ***

1. กฎหมายภาษีใหม่แบบ “โรบินฮูด”

การปฏิรูปนโยบายภาษีเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจของคลินตัน โดยมีสองใจความหลักๆ คือ

หนึ่งจะมีการขึ้นภาษีของบุคคลที่มีรายได้สูงจากหลายช่องทาง เช่น "ภาษีบุฟเฟ่" ที่หากใครมีรายได้ทั้งปีรวมแล้วสูงกว่า 1 ล้านดอลลาร์ จะต้องเสียภาษีอย่างต่ำไม่น้อยกว่า 30% ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ไปจนถึงการเก็บ "ภาษีคนมหารวย" แยกเพิ่มเป็นแบบ “a la carte” อีก 4% สำหรับคนที่มีรายได้เกิน 5 ล้านดอลลาร์ต่อปี

สองคือจะมีการปิดช่องโหว่ภาษีมากมายเพื่อแก้พฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ของเหล่าบริษัทที่เคยเลี่ยงภาษีได้อย่างถูกกฎหมายมาก่อน ให้กลับมาเสียภาษีเพิ่มให้กับสหรัฐฯ  ถือเป็นการบังคับให้ภาคเอกชนจ่ายภาษีอย่างแฟร์ขึ้น

ซึ่งหากทำทั้งหมดนี้ได้จริงๆ Moody's Analytics คำนวนแล้วว่ารัฐบาลสหรัฐฯจะมีรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้นทั้งหมดราว 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ภายในสิบปี  และที่สำคัญคือเกือบทั้งหมดนี้จะถูกไฟแนนซ์โดยกลุ่มครัวเรือนที่ร่ำรวยที่สุด 5% ของครัวเรือนทั้งหมดเท่านั้น ชนชั้นกลางและล่างแทบจะไม่รู้สึกถึงระบบภาษีใหม่ที่คลินตันนำเสนอ

2. ใช้จ่ายเพื่อส่วนรวมและปั้นเศรษฐกิจอนาคต

คลินตันไม่ได้มุ่งเน้นว่าจะเอาเงินภาษีใหม่ที่ได้มาลดการขาดดุลการคลัง (fiscal deficit) แต่หวังจะเอาเงินภาษีที่เพิ่มขึ้นมาใหม่นี้ไปลงทุนในการการพัฒนาเศรษฐกิจในมิติหลักๆ ต่อไปนี้

หนึ่งคือจะเอาเงินกว่า 7 แสนล้านดอลลาร์ไปลงทุนกับการพัฒนาการศึกษาชั้นปฐมวัยและชั้นก่อนวัยเรียน โดยเฉพาะในรูปแบบของทุนการศึกษา universal preschool สำหรับเด็กอายุ 4 ขวบทั่วสหรัฐฯ และกองทุนช่วยแบ่งเบาภาระทางการเงินให้กับนักศึกษาระดับอุดมศึกษา

สองคือลงทุนราว 3 แสนล้านดอลลาร์เพื่อปรับปรุงและสร้าง infrastructure ใหม่ๆ เช่นถนนหนทางและการคมนาคมในประเทศ ซึ่งชาวอเมริกันทราบดีว่าถึงเวลารื้อของเก่าแล้วเพราะคุณภาพสู้เมืองใหม่ๆ ในเอเชียไม่ได้แล้ว

สามคือเอาอีก 3 แสนล้านดอลลาร์ไปสนับสนุน paid family leave นั่นแปลว่าชาวอเมริกันจะสามารถลาไปเลี้ยงบุตรและยังได้ค่าตอบแทนอย่างน้อยคือ 2 ใน 3 ของเงินเดือนปกติ โดยคาดว่านโยบายนี้จะสามารถลดต้นทุนของการทำงานและเพิ่มอัตราส่วนการเข้าร่วมแรงงานได้

 

3. อ้าแขนรับแรงงานต่างแดน

คลินตันสัญญาว่าจะผลักดันกฎหมายปฏิรูปการตรวจคนเข้าเมืองอย่างเต็มที่ โดยจะมีข้อเสนอมากมายเพื่อดึงดูดให้แรงงานที่มีทักษะสูงและเป็นที่ต้องการ (เรียนจบปริญญาโทสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม หรือคณิตศาสตร์ หรือจบปริญญาเอกในสาขาใดก็ได้) เข้ามาทำงานในสหรัฐฯ มากขึ้นและเป็นระยะเวลาได้นานขึ้น บวกกับมีข้อเสนอให้เพิ่มจำนวนบุคคลที่สามารถขอ Green Card ต่อปีได้มากขึ้นอีกด้วย  ที่น่าสนใจที่สุดเห็นจะเป็นการนำระบบเก็บแต้ม (ใครการศึกษาดี พูดอังกฤษได้ดี ได้แต้มมากกว่า) เข้ามาใช้พิจารณาด้วยว่าใครสมควรได้รับสัญชาติอเมริกัน

นอกจากนี้คลินตันยังเคยเสนอนโยบายโอบรับแรงงานไร้ทักษะเพิ่มขึ้นด้วย (แม้จะถูกคัดค้านอย่างรุนแรง) ว่าจะพยายามทำให้แรงงานนอกระบบที่ปกติก็ทำงานอยู่ในสหรัฐฯ สามารถเคลียร์ตัวเองเพื่อบรรจุเป็นสัญชาติอเมริกันได้อย่างถูกกฎหมาย

ทั้งหมดนี้จะทำให้สหรัฐมีจำนวนประชากรมากขึ้นทั้งในระยะสั้นและยาว  จะมีแรงงานทั้งที่มีทักษะและที่ไร้ทักษะจำนวนมากขึ้น อุปสงค์ก็จะมากขึ้นตามธรรมชาติ อีกทั้งการดึงดูดให้แรงงานมีทักษะเข้ามาได้ง่ายเป็นพิเศษก็จะมาเพิ่มผลิตภาพของเศรษฐกิจสหรัฐฯได้ในระยะยาว

สรุป

สรุปง่ายๆ ว่านโยบายเศรษฐกิจของคลินตันมุ่งเน้นพัฒนาเศรษฐกิจในระยะกลางถึงยาวและต้องการลดความเหลื่อมล้ำไปในขณะเดียวกัน  โดยพลังของการขับเคลื่อนเกือบทั้งหมดจะมาจากการ “ปล้นคนรวยเพื่อใช้จ่ายให้คนส่วนมาก”   ซึ่งผลโดยรวมของนโยบายหลักๆ คือจะทำให้คนส่วนมากมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีทักษะเพิ่มขึ้น ส่วนรวมมี infrastructure ที่ดีขึ้น อีกทั้งยังจะมีแรงงาน “หน้าใหม่” เข้ามาสมทบอีกด้วย คนมหารวยแม้จะมีรายได้ลดลงแต่ผลกระทบต่อการบริโภคไม่น่าเป็นห่วงนัก หากนโยบายที่สัญญาไว้ทำได้อย่างมีคุณภาพจริง ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเติบโตได้ในอัตราที่เร็วขึ้นและแข็งแกร่งขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัยในช่วง 10 ปี ข้างหน้า 

แต่ปัญหาคือผลลัพธ์เหล่านี้จะขึ้นอยู่กับปัจจัยทางการเมืองด้วยว่าคลินตันจะทำทั้งหมดนี้ได้จริงๆ โดยไม่ถูกขัดขาโดยกลุ่ม Republican ในสภาเสียก่อน  ชิ้นที่สำคัญที่สุดคือการปฏิรูประบบภาษีซึ่งหากทำไม่ได้ ก็แปลว่าจะไม่มีเงินพอที่จะดำเนินนโยบายทั้งหมดที่สัญญาประชาชนไว้ และถึงแม้ว่าทั้งหมดนี้จะผ่านสภาได้ และยังมีความไม่แน่นอนด้วยว่าครัวเรือน ท๊อป 5% ผู้ซึ่งมีอิทธิพลจะยอมแบกภาระประเทศให้จริงๆ โดยไม่หาช่องทางขัดขวาง โยกย้ายเงิน เลิกลงทุนในสหรัฐฯ หรือย้ายถิ่นฐานไปเลยเสียก่อน

แต่ก่อนที่เราจะมองข้ามไปไกลขนาดนั้น เรามาลุ้นกันก่อนดีกว่าว่าทรัมป์จะยังมีไพ่ตายใบอื่นๆ เหลืออีกไหมและคลินตันจะยังสามารถดูแลสุขภาพได้ดีพอก่อนขึ้นสังเวียนเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนนี้หรือไม่ครับ

ติดตามบทวิเคราะห์จากมุมมองเศรษฐศาสตร์ที่เข้าใจง่ายได้ที่ www.settakid.com  ครับ


ผู้เขียนเป็นเจ้าของเว็บไซต์ settakid.com ที่วิเคราะห์ประเด็นเปลี่ยนโลกผ่านมุมมองเศรษฐศาสตร์แบบเข้าใจง่ายๆ  คุณ ณภัทร จบปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลและจอนส์ ฮอปกินส์ เคยมีประสบการณ์ทำวิจัยที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ดและธนาคารโลก และสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์ประยุกต์อยู่ที่มหาวิทยาลัยมินนิโซต้า เป็นนักเขียนรับเชิญของ stock2morrow และเป็นคอลัมนิสต์ประจำสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า

Facebook

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง