“Flash Crash” คำๆนี้ถ้าใครไม่เคยได้ยิน รีบทำความคุ้นเคยกับมันไว้นะครับ แปลให้ง่ายๆคือเหตุการณ์ที่ตลาดหุ้นลดลงอย่างฮวบฮาบภายในเวลาไม่กี่นาที!
เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก และย่อมไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งสุดท้ายแน่นอน เรามาศึกษา Flash Crash ซักหน่อยดีกว่า เพื่อให้รู้ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร และจะเตรียมตัวรับมือกับมันอย่างไร?
Flash Crash ครั้งสำคัญของโลก
สาเหตุของการร่วงลงรุนแรงในแต่ละครั้งนั้นมีหลายสาเหต แต่บ่อยครั้งผู้ต้องสงสัยมักหนีไม่พ้น “Program Trading” หรือที่รู้จักกันอีกชื่อก็คือ “Algorithm Trading” ซึ่งก็คือชุดคำสั่งคอมพิวเตอร์สำหรับการเสนอซื้อขายโดยอัตโนมัติที่นำมาใช้ และแพร่หลายในหมู่กองทุนขนาดใหญ่ทั่วโลก
24 สิงหาคม 2015 หุ้นร่วงเป็นหลักพัน!
หากยังจำกันได้ เหตุการณ์ในวันนั้นเรียกกันติดปากว่า “Black Monday” ที่เริ่มเกิดขึ้นในตลาดหุ้นเอเชีย และส่งผลกระเพื่อมไปยังตลาดหุ้นยุโรปและอเมริกาทันทีที่ตลาดเปิด โดยเกิดการเทขายอย่างหนักระหว่างวันในตลาดเอเชีย ส่งผลกระทบทันทีต่อ Stock Future ในยุโรปและอเมริกา (ก่อนตลาดจะเปิดทำการจริงเสียอีก!)
วันนั้น DOW JONES เปิดตัวในสภาพที่ร่วงไปกว่า 1,000 จุด แต่ภายในนาทีแรกของการเริ่มซื้อขายเท่านั้น ดัชดีเด้งแรงกลับขึ้นมาได้ถึงครึ่งทาง บทสรุปในวันที่แสนหินนั้นคือตลาดปิดที่ Index ลดลงไป 588 จุด
ในช่วง 15 นาทีแรกของการซื้อขายในวันนั้น เกือบ 1 ใน 5 ของบริษัทที่อยู่ใน S&P 500 กับอีกกว่าครึ่งของบริษัทที่อยู่ใน Nasdaq หุ้นราคาร่วงลง 10% จากราคาปิดวันก่อนหน้า
ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากการผสมโรงด้วยข่าวการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศจีน และนโยบายการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของ Fed ยิ่งทำให้นักลงทุนยิ่งตกใจกลัวกันยิ่งไปอีก
9 กรกฎาคม 2015 : ตลาด NYSE หยุดทำการไป 4 ชั่วโมง
นับว่าเป็นวันซวยของตลาด NYSE ของอเมริกา จากที่นักลงทุนต่างตื่นตระหนกกับการถดถอยชะลองตัวของตลาดหุ้นในจีนบวกกับวิกฤตหนี้สินในกรีซเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ระบบซื้อขายก็ดันมาล่มซะอีก (เรียกแบบบ้านๆว่า “ปลั๊กหลุด” ซึ่งนับร่วมๆ นานเกือบ 4 ชั่วโมง ตั้งแต่ 11.30 – 15.10 น. ทำให้นักลงทุนพากันแตกตื่นไปกันยกใหญ่ว่าเกิดอะไรขึ้น
22 สิงหาคม 2013 : ตลาด NASDAQ “ปลั๊กหลุด” :
เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2013 ระบบซื้อขายหุ้นออนไลน์ของ Nasdaq ไม่สามารถทำงานได้เป็นเวลานานถึง 3 ชั่วโมง 11 นาที อันเกิดมาจากการผิดปกติของระบบซื้อขาย (security information processor) ของ Nasdaq ส่งผลให้ตลาดต้องหยุดการทำการซื้อขาย ทำให้เกิดความแตกตื่นเป็นอย่างมากว่าเป็นเพราะเหตุขัดข้องทางเทคนิค หรือเป็นเพราะใครแกล้งเตะปลั๊กหลุด?
วัน Facebook IPO วอลุ่มหนาจัดจนระบบล่ม
เมื่อ 18 พฤษภาคม 2012 Facebook เข้าตลาดหุ้นครั้งแรก NASDAQ โดยที่ออกเสนอขายหุ้น IPO เป็นจำนวน 16 พันล้านเหรียญ ซึ่งเป็นการออกหุ้น IPO ที่ใหญ่ที่สุดตั้งแต่เริ่มก่อตั้งตลาด NASDAQ
เมื่อ Facebook เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่ได้รับความสนใจจากสาธารณะชนจำนวนมาก จึงมีคำสั่งซื้อขายเข้ามามากกว่า 30,000 คำสั่ง ทำให้ระบบถึงกับล่ม นักลงทุนไม่สามารถส่งคำสั่งซื้อขายนานกว่า 2 ชั่วโมง ซึ่งเป็นความผิดพลาดทางเทคนิคในการออกแบบซอฟต์แวร์ที่ไม่มีการทดสอบมาก่อน
จากเหตุการณ์ครั้งนั้น ตลาด NASDAQ เลยต้องโดนค่าปรับ 10 ล้านเหรียญฯ เป็นค่าสูญเสียโอกาสในช่วงระหว่างการเสนอขายหุ้น IPO (เป็นเมืองไทยจะมีจ่ายแบบนี้มั๊ยเนี่ย 555)
เมื่อ 6 พฤษภาคม 2010
เหตุการณ์นี้คล้ายๆ Black Monday ที่เรียกได้ว่าเป็น Flash Crash ของจริง!! ตลาดดาวน์โจนลดลงเกือบ 1,000 จุดภายในเวลาไม่กี่นาที สร้างความตระหนกตกใจให้กับนักลงทุนเป็นอันมาก ภายหลังทาง ก.ล.ต หรือ SEC ของสหรัฐอเมริกาเปิดเผยว่า มีกองทุนแห่งหนึ่งพยายามเทขาย S&P 500 futures ทีมีมูลค่าสูงถึง 4.5 พันล้านเหรียญ การเทขายออกมามากขนาดนี้ในเวลาอันสั้น ทำให้สภาพคล่องจากฝั่งซื้อไม่เพียงพอ นอกจากนั้นยังมีการจับกุมเทรดเดอร์นักเก็งกำไรที่สร้างราคาและโยนออร์เดอร์ไปมาเพื่อสร้างสถาการณ์ให้เลวร้ายยิ่งขึ้นไปอีก
ดังนั้นเราอาจสรุปได้ว่า Flash Crash นั้นเกิดขึ้นได้จาก 3 ปัจจัยหลักคือ 1. ระบบมีการสั่งเทขายพร้อมๆกัน 2. ระบบล่ม และ 3. มีข่าวร้ายผสมโรงทำให้เกิดการแตกตื่น
ดังนั้นการออกแบบระบบ Artificial Intelligence หรือ Robot ที่ดี จะมีความแตกต่างกับ Algo Trade สมัยก่อนมาก โดยระบบแบบใหม่จำเป็นต้องมีระบบตรวจสอบที่ชาญฉลาดและละเอียดเพียงพอ เพื่อประเมินว่า Flash Crash ที่เกิดขึ้นเป็นจะมีความรุนแรงแค่ไหน เป็น Crash ของปลอม หรือเป็นจุดเริ่มต้นของหุ้นขาลงจริงๆ
นอกจากนี้ระบบ A.I. ที่ดีอาจสามารถทำกำไรจากการรีบาวน์อย่างรวดเร็วของ Flash Crash ให้กับนักลงทุนได้ด้วยซ้ำ!
ติดตามเพจ FB: Think Algo ตอนหน้าจะเล่าเรื่องของ Flash Crash ของเมืองไทย
ห้ามพลาดครับ!
ข้อมูล : CNBC