ทำความเข้าใจกันก่อนว่า NVDR คืออะไร?
เอ็นวีดีอาร์หรือใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย เป็นตราสารที่ออกโดยบริษัทที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจัดตั้งขึ้น ซึ่งคือ "บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด" (Thai NVDR Company Limited) เอ็นวีดีอาร์เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนโดยอัตโนมัติ (Automatic List)
วัตถุประสงค์หลักของเอ็นวีดีอาร์ เพื่ออะไร?
- เพื่อกระตุ้นการลงทุนและเพิ่มสภาพคล่องให้ตลาดหลักทรัพย์และเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับนักลงทุนชาวต่างประเทศ ที่สนใจลงทุนในบริษัทจดทะเบียนแต่อาจไม่สามารถลงทุนในหลักทรัพย์นั้นได้ อันเนื่องมาจากการควบคุมสัดส่วนการถือครองหหลักทรัพย์ของคนต่างด้าวที่ระบุไว้ตามกฎหมายไทย
- ช่วยขจัดปัญหาของผู้ลงทุนชาวต่างชาติบางประเภท ที่ไม่สามารถลงทุนในหน่วยลงทุน ซึ่งรวมถึงหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนซึ่งเป็นคนต่างด้าว (Thai Trust Fund) ได้
ดังนั้น เอ็นวีดีอาร์ จึงเป็นอีกทางเลือกให้กับนักลงทุนที่สนใจลงทุนในหลักทรัพย์นั้น ซึ่งผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางการเงิน เช่น เงินปันผล และสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนเช่นเดียวกับการลงทุนในหุ้นของบริษัทจดทะเบียน แต่ผู้ถือเอ็นวีดีอาร์จะไม่มีสิทธิในการออกเสียงในที่ประชุมของบริษัทจดทะเบียน (Non-Voting Rights)
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าเอ็นวีดีอาร์จะออกมาเพื่อส่งเสริมการลงทุนของผู้ลงทุนชาวต่างประเทศ แต่ผู้ลงทุนไทยก็สามารถลงทุนในเอ็นวีดีอาร์ได้ทั้งนี้ นักลงทุนสามารถซื้อขายเอ็นวีดีอาร์ได้เช่นเดียวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ทั่วไปที่มีการซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
NVDR สามารถไว้ใช้ซื้อขายหลักทรัพย์อ้างอิงใดได้บ้าง ?
- หุ้นสามัญ
- หุ้นบุริมสิทธิ์
- ใบสำคัญแสดงสิทธิ
- ใบแสดงสิทธิ์ในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้
โดยที่เป็นลักษณะเดียวกับการซื้อขายหุ้นทั่วไป กล่าวคือ ผู้ลงทุนที่ต้องการซื้อหรือขายหลักทรัพย์เอ็นวีดีอาร์ สามารถสั่งซื้อหรือขาย ผ่านสมาชิกตลาดหลักทรัพย์ (Broker) ได้ตลอดเวลา โดยให้ระบุในคำสั่งซื้อหรือคำสั่งขายว่าเป็นการซื้อหรือขาย เอ็นวีดีอาร์
TOP 10 NVDR ข้อมูลซื้อขายสุทธิรายเดือนย้อนหลัง 1 เดือนล่าสุด (ข้อมูล ถึงวันที่ 15/08/2559)
*ข้อมูลเพิ่มเติม
- ผู้ถือเอ็นวีดีอาร์ต้องรายงานการได้มาหรือจำหน่ายไปทุก 5% ของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ (นับทั้งเอ็นวีดีอาร์และหุ้นรวมกัน และให้นับรวม NVDR และหุ้นของบุคคลที่เกี่ยวข้องของผู้ถือ NVDR ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์การรายงานการถือครองหลักทรัพย์ของบุคคล ต่อบริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด และบริษัทจะเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวต่อสาธารณชน
- กรณีที่ผู้ถือครองเอ็นวีดีอาร์รายใดรายหนึ่งถือครองเอ็นวีดีอาร์เกินกว่าหรือเท่ากับ 25% ของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ (นับทั้งเอ็นวีดีอาร์ และหุ้นรวมกันและให้นับรวม NVDR และหุ้นของบุคคลที่เกี่ยวข้องของผู้ถือ NVDR ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์การรายงานการถือครองหลักทรัพย์ของบุคคล บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด มีสิทธิจะบังคับซื้อคืนเอ็นวีดีอาร์ส่วนที่เกินได้ทันที !!!
ขอบคุณข้อมูล : Thai NDVR, SET