มุมมองของอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คุณ กรณ์ จาติกวณิช กับ 4 เมกะเทรนด์ในอนาคตของไทย ในงานสัมมนา Thailand Investment Fest 2016 เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2559
1. ไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน...ต้องโตไปด้วยกัน
โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกัมพูชา พม่า ลาว และเวียดนาม (CMLV) จากข้อมูลตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP Growth) โดยเฉลี่ยเติบโตประมาณ 7 % และข้อมูลการเติบโตของภาคส่งออก Export Growth เฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 20% ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนถึงความมั่นคั่งและกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มประเทศ CMLV ซึ่งเมื่อเทียบตัวเลขการส่งออกจากกลุ่มประเทศเหล่านี้แล้ว ประเทศไทยได้ได้รับประโยชน์จากดุลการค้าเป็นบวกมาโดยตลอด และแสดงให้เห็นว่าสินค้าของไทยได้รับการยอมรับจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นอย่างดี
2. จีนและอินเดีย...มาแน่!
ในอนาคตประเทศจีน จำนวนประชากรโดยประมาณ 350 ล้านคน จะเคลื่อนย้ายอพยพจากสังคมชนบทเข้ามาสู่สังคมเมืองกันเพิ่มมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีเมืองประมาณ 240 เมืองที่มีประชากรมากกว่า 1 ล้านคน
ตัวชี้วัดไทยกับจีนอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ตัวเลขภาคการท่องเที่ยวจากช่วงปี 2551 จำนวนประชากรจีนเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเฉลี่ยเพียง 8 แสนคนต่อปี แต่ ณ ปัจจุบัน ประชากรเข้ามาท่องเที่ยวถึง 10 ล้านคนต่อปี
ในส่วนของประเทศอินเดีย ยังขาดการลงทุนทางด้านระบบสาธารณูปโภค งบประมาณที่ใช้ลงทุนด้านนี้เฉลี่ยเพียง 400 บาทต่อคนต่อปี ในขณะที่ประเทศจีนใช้งบประมาณด้านเดียวกันเฉลี่ยแล้ว 3,000 บาทต่อคนต่อปี แสดงให้เห็นถึงโอกาสในการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในด้านนี้ของอินเดียยังมีได้อีกมาก
3. สังคมไทยจะกลายเป็น...สังคมผู้สูงอายุ
ปัญหาหนึ่งที่สำคัญ คือ ผลตอบแทนการลงทุนไม่ทันไว้ใช้จ่ายในวัยชรา อันเนื่องมาจากคนไทยไม่มีเงินออมเก็บ รวมถึงไม่มีเงินบำเหน็จบำนาญ ไม่มีหลักประกันความมั่นคงในวัยชรา ดังนั้นแล้วจึงย่อมส่งผลต่อรัฐบาลที่จะต้องเข้ามาแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการดูแล และจะนำไปสู่การเก็บภาษีจากคนวัยทำงานเพิ่มขึ้นได้
ตัวชี้วัดหนึ่ง ณ ปัจจุบัน อัตราส่วนประชากรวัยทำงานต่อประชากรวัยผู้สูงอายุอยู่ที่ 4:1 แต่ในอีกประมาณ 25 ปีข้างหน้า อัตราส่วนประชากรวัยทำงานต่อประชากรวัยผู้สูงอายุจะสูงถึง 2:1 อัตราส่วนนี้ถือได้ว่าใกล้เคียงกันค่อนข้างมาก
4. เทคโนโลยี...จะสร้างการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่
ยกตัวอย่าง Fin-Tech หรือการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ให้บริการทางการเงิน ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และนำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เช่น ผลกระทบต่อธนาคาร ณ ปัจจุบัน ประชาชนไปใช้บริการสาขาของธนาคารน้อยลง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้ระบบเทคโนโลยีบนอินเทอร์เนตหรือมือถือกันมากขึ้นเรื่อย ๆ
นอกเหนือจากนั้น ในประเด็นเฉพาะหน้านี้ ดอกเบี้ยต่ำ และอุปสงค์ต่ำ หรือไม่ว่าจะเป็นการที่ ECB ปรับลดอัตราดอกเบี้ย หรือ Fed ยังคงไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ย หรือ BOJ พยายามอัดฉีดเม็ดเงินเรื่อย ๆ ปัจจัยเหล่านี้ย่อมสะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ดี และปริมาณเงิน (Money supply) ในระบบเศรษฐกิจมีล้นตลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ
ประเด็นด้านทางการเมือง แม้ว่าจะมีความขัดแย้งหรือทัศนคติทางการเมืองของไทย แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อนโยบายทางเศรษฐกิจมากนัก อาทิ เช่น นโยบายระบบคมนาคมหรือนโยบายโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ยังคงได้รับการสานต่อนโยบายจากรัฐบาลชุดต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง
ในยุคที่ดอกเบี้ยต่ำ นักลงทุนไม่ควรที่จะถือเงินสด ยังไงต้องพยายามหาช่องทางในการลงทุน ตามระดับความเสี่ยงต่าง ๆ ที่สามารถยอมรับได้ ดังนั้นแล้วสิ่งที่น่าคิดต่อยอดไปในฐานะนักลงทุนจะสามาราถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างไรดีต่างหาก