#ลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐาน

วัดมูลค่านักฟุตบอล ก็เหมือนวัดมูลค่าหุ้น

โดย อธิป กีรติพิชญ์
เผยแพร่:
149 views

นักลงทุนแนวพื้นฐานวีไอจะตัดสินใจลงทุน ก็ต่อเมื่อหุ้นนั้นมีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง จึงเป็นที่มาของคำถามคลาสสิกมากๆ เกี่ยวกับการหามูลค่าที่แท้จริงของกิจการ (Intrinsic Value) ว่า มันคืออะไร หามาอย่างไร อ่านหนังสือกี่เล่มๆ ก็ไม่เข้าใจ ผมขอเอาหลักการมาเล่าให้ฟังเป็นไอเดียเบื้องต้น 

อยากให้ลองเทียบกับ การซื้อขายนักเตะระดับโลกอย่าง คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ทีมชาติโปรตุเกส ขอเรียกว่า โรนัลโด้ นะครับ เป็นนักเตะอัจฉริยะที่ทั้งเก่ง ทั้งหล่อ และมีเสน่ห์ดึงดูดแฟนฟุตบอลทุกเพศทุกวัย ย้ายจากทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มาค้าแข้งที่ ทีมราชันย์ชุดขาว รีล มาดริด ยอดทีมสโมสรจากสเปน ด้วยค่าตัวที่เป็นสถิติโลก 80 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 4,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นสถิติการซื้อนักฟุตบอลที่แพงที่สุดในโลก คำถามคือ บอร์ดบริหารของทีมรีลมาดริด ใช้อะไรมาวัดว่า ค่าตัวนักเตะคนนึง 4,500 ล้านบาทคือ สิ่งที่ควรตัดสินใจ “ซื้อ!” 
 
ผมคิดว่าทีมงานรีลมาดริดต้องคำนวนหา “มูลค่าที่แท้จริง” ของโรนัลโด้ ถามว่ามูลค่าที่แท้จริงควรวัดจากอะไร วัดจากจำนวนประตูที่ทำได้?... วัดจากจำนวนครั้งที่ลงสนาม?...หรือ วัดจากความหล่อ?...หรืออะไร?
 
สโมสรผู้ลงทุนย่อมหวังความสามารถในการสร้างกระแสเงินในอนาคต ที่ทีมจะได้รับจากการซื้อโรนัลโด้ครั้งนี้ สมมติว่าเซ็นต์สัญญา 5 ปี ก็ต้องตอบให้ได้ว่า กระแสเงินสดที่ทีมจะได้รับจากการมีโรนัลโด้ แต่ละปีๆ ควรเป็นเท่าไหร่ เช่น รายได้จากการขายเสื้อ รายได้ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดที่จะเพิ่มขึ้น รายได้ส่วนแบ่งโฆษณาที่ทีมจะได้รับเพิ่มขึ้น สปอนเซอร์ติดเสื้อที่จะจ่ายให้ทีมมากขึ้น รายได้จากโปรแกรมเดินสายแข่งโชว์ในเอเชีย และประมาณการยิงประตูที่โรนัลโด้ควรจะทำได้ เพื่อจะพาทีมได้แชมป์ลาลีกา ลีกสเปน, แชมป์โกปาเดลเรย์ ถ้วยสูงสุดสเปน และแชมป์ยูฟ่าแชมเปี้ยนลีก สุดยอดแชมป์เหนือแชมป์แห่งสโมสรทวีปยุโรป ฯลฯ ... ทุกอย่างเป็นเงินเป็นทอง... ประมาณการกระแสเงินสดที่จะได้รับเพิ่มเติม จากการมีโรนัลโด้ในทีม ปีที่ 1,2,3,4 และ 5 ควรมีกระแสเงินสดเหล่านี้เท่าไหร่ ซึ่งการประเมินกระแสเงินสดสุทธิแต่ละปีเราเรียกว่า กระแสเงินสดอิสระ(Free Cash Flow หรือ FCF) ปีที่ 1 (FCF1), ปีที่ 2 (FCF2), …จนถึงปีที่ 5 (FCF5) ซึ่งเป็นปีสิ้นสุดสัญญา
 
หลังจากนั้นเอามาคำนวณเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value) โดยการคิดกลับด้วย discount rate (อัตราคิดลด) ด้วยต้นทุนเงินทุนของทีมรีลมาดริด เค้าใช้ค่า WACC หรือ Weighted Average Cost of Capital หรือ ต้นทุนเงินทุนระหว่างเงินกู้กับเงินทุนของเจ้าของทีม วิธีการวัดมูลค่าแบบนี้เรียกว่าวิธีคิดลดกระแสเงินสด( Discounted Cash Flow) หรือ DCF นั่นเอง
 
ถ้า Net Present Value ออกมาสูงกว่า 4,500 ล้านบาท แสดงว่ามูลค่าที่โรนัลโด้จะสร้างให้กับทีมสูงกว่าค่าตัว “ให้ตัดสินใจซื้อ” แต่ถ้ามูลค่าที่คิดได้ต่ำกว่า 4,500 ล้านบาท “ก็ไม่ควรซื้อ” หรือให้ไปต่อรองลดราคาค่าตัวกับเซอร์อเล็ก เฟอร์กูซัน ผู้จัดการทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดในขณะนั้น เพื่อให้ดีลจบ 
 
ดีลนี้เกิดขึ้นไปแล้วใน ปี 2009 มูลค่าการซื้อขายที่ 4,500 ล้านบาท ปัจจุบันโรนัลโด้ลงแข่งให้ทีมรีล มาดริดไปแล้ว 116 นัด ยิง 125 ประตู เคยได้รับตำแหน่งดาวซัลโวประจำลาลีกา เคยพาทีมได้แชมป์ ลาลีกา และเป็นแม่เหล็กดึงดูดแฟนบอลสโมสรรีล มาดริดทั่วโลก ให้ติดตามชมถ่ายทอดสด...คิดว่าคุ้มค่านะ
 
จุดอ่อนของ DCF คือ การประเมินกระแสเงินสดที่จะเกิดในอนาคตนี่แหละ เวลานักวิเคราะห์จะประเมินราคาหุ้นซักตัวด้วย DCF จะต้องประมาณการรายได้ รายจ่าย เพื่อคำนวณหา “กระแสเงินสดอิสระ” หรือ Free Cash Flow (FCF) ไปในอนาคต ปีที่ 1 ปีที่ 2 ปีที่ 3 ไปเรื่อยๆ ตราบเท่าที่มีข้อมูล ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริง โดยเฉพาะประมาณการไปในอนาคตหลายๆ ปี เมื่อได้ FCF ปีที่ 1 ปีที่ 2 ปีที่ 3 ไปเรื่อยๆ แล้ว จึงคิดกลับมาเป็นมูลค่าปัจจุบันด้วย discount rate (อัตราคิดลด) ด้วยต้นทุนเงินทุนของบริษัท ซึ่งก็คือ WACC นั่นเอง 
 
เมื่อได้มูลค่าของทั้งบริษัทแล้ว ถ้าต้องการ“มูลค่าต่อหุ้น” ก็เอาจำนวนหุ้นทั้งหมด (total outstanding share) ไปหาร ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนการคำนวณ
 
นี่คือหลักการคร่าวๆ ของ DCF หรือการประเมินมูลค่าแบบ Discounted Cash Flow Technique จริงๆ แล้วยังมีวิธีประเมินมูลค่าอีกหลายวิธี ลองเอาหลักการเบาๆ ประมาณนี้ก่อนละกันครับ
 

เจ้าของหนังสือ Best Seller “ติวหุ้น รวยด้วยวีไอ” และยังเป็นวิทยากรคอร์ส “ลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐานแบบ Value/Growth Investor” ด้วยประสบการณ์ในตลาดทุนกว่า 17 ปี และประสบการณ์ในการเป็นติวเตอร์ บวกกับความเป็นคนอารมณ์ขัน  ทำให้คุณนิ้วโป้งสามารถถ่ายทอดเรื่องยาก อย่างการลงทุน ให้เข้าใจได้ง่าย และยังใช้ภาษา ลีลาที่มีเอกลักษณ์น่าสนใจอย่างยิ่ง จึงทำให้ได้รับเชิญไปบรรยายในงานต่างๆ มากมาย

Facebook

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง