นักลงทุนที่อยู่ในตลาดหุ้นมาเกิน 2 ปี น่าจะเคยได้ยินคำว่า "เพิ่มทุน" ผ่านหูกันมาไม่มากก็น้อย บางคนโดนกับหุ้นในพอร์ทตัวเองซะด้วยซ้ำ บางคนก็สละสิทธิ์ปล่อยให้โดน Dilute ไป บางคนยอมจ่ายตังเพิ่มทุนไปแบบงงๆก็มี
การเพิ่มทุนเป็นสิ่งที่แย่ขนาดนั้นเลยหรือ ทำไมนักลงทุนถึงไม่ชอบคำนี้เอาเสียเลย?
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจเรื่องการเพิ่มทุนกันแบบสั้นๆคร่าวกันก่อนครับ
บริษัทมีหลายเหตุผลที่ต้องเพิ่มทุนครับ แต่หลักๆที่ใช้อ้างกันมีดังนี้:
เพื่อที่จะนำไปชำระหนี้ของบริษัท
แม้ว่าการเพิ่มทุนเพื่อเอาเงินไปลดหนี้แบบนี้จะทำให้บริษัทลดภาระดอกเบี้ยลงได้ก็จริง แต่ก็มักจะทำให้อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) ลดลงเช่นกัน ซึ่งในกรณีส่วนมากผู้ถือหุ้นใหญ่ก็ไม่ค่อยอยากจะเพิ่มทุนหรอกครับ แต่แบงค์ที่จะให้กู้บังคับเป็นเงื่อนไขซะเป็นส่วนใหญ่ ประมาณว่า "ถ้าเธอไม่ลงขันเพิ่ม ฉันก็ไม่ให้เธอกู้เพิ่มนะ" เช่นในกรณี TRUE ที่ผ่านมา
เพิ่มทุนเพราะกู้ธนาคารไม่ผ่าน
บางบริษัทที่พึ่งก่อตั้งใหม่อาจยังไม่มีประวัติผลการดำเนินงาน ธนาคารและสถาบันการเงินจึงมักไม่ค่อยจะยอมเสียงให้กู้เท่าไหร่ ดังนั้นเจ้าของธุรกิจเลยจำเป็นต้องระดมเงินจากผู้ถือหุ้นด้วยการเพิ่มทุนเพื่อเอาเงินมาขยายกิจการ ในกรณีนี้ก็คล้ายๆกับบริษัท Startup หรือ SME ที่พึ่งเริ่มต้นกิจการได้ไม่กี่ปี
แต่สำหรับกรณีบริษัทเปิดดำเนินการมานานแล้ว แต่ขาดทุนเรื้อรังหรือมีปัญหาเรื่องธรรมาภิบาลความโปร่งใส ทำให้ธนาคารไม่กล้าปล่อยเงินกู้ กรณีนี้ถือว่า "แย่" เพราะเมื่อไม่สามารถเอาเงินจากธนาคารมาได้ ก็ต้องเอาเงินจากนักลงทุนรายย่อยผ่านการเพิ่มทุน กรณีเช่นนี้นักลงทุนรายย่อยต้องระวังตัวให้มาก เพราะเงินที่เพิ่มทุนไปอาจเป็นการ "ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ" ต้องดูให้ดีว่าหากธุรกิจทำท่าเหมือนจะไปไม่รอดแล้วยังเรียกเพิ่มทุนอยู่เรื่อยๆ อาจต้องตัดใจ cut loss ออกไปเลยดีกว่าหรือไม่
เพิ่มทุนเพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่ หรือพาร์ทเนอร์ใหม่
หลายครั้งเมื่อธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากในการขยายธุรกิจ กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ชุดเดิมไม่มีทุนมากพอที่จะลงทุนได้ด้วยตนเองทั้งหมด จึงจำเป็นต้องเปิดช่องให้มีผู้กลุ่มถือหุ้นใหม่หรือพันธมิตรทางธุรกิจใหม่เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุนในรูปแบบ Private Placement (PP) และก็อาจเปิดโอกาสให้รายย่อยเดิมเพิ่มทุนผ่าน Right Offering (RO) เพื่อรักษาสิทธิไม่ต้องโดน Dilute ในกรณีนี้สิ่งที่นักลงทุนต้องพิจารณาคือ:
1. กลุ่มพาร์ทเนอร์ใหม่มีประสบการณ์ และความสามารถในการต่อยอดธุรกิจได้จริงหรือไม่?
2 ราคาที่เพิ่มทุนแบบ PP ให้แก่กลุ่มพาร์ทเนอร์ใหม่ ต่ำกว่าราคาเฉลี่ยในกระดานหรือราคายุติธรรมหรือไม่ หากพาร์ทเนอร์ใหม่มีความสามารถในการต่อยอดธุรกิจได้จริง และราคา PP ไม่ได้ต่ำกว่าราคาตลาดหรือราคายุติธรรมมากจนเกินไป ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่จะทำให้อนาคตของธุรกิจเติบโตต่อได้
แต่หากเป็นการเพิ่มทุนในราคาต่ำๆให้กับเสี่ยต่างๆ ซึ่งก็ยังตอบไม่ได้ว่าเสี่ยแกจะเข้ามาต่อยอดอะไรให้กับธุรกิจ หรือถ้าเป็นเสี่ยที่มีประวัติเข้าเร็วออกเร็วแบบเทรดเดอร์ แบบนี้นักลงทุนต้องระวังตัวเป็นพิเศษเพราะอาจเป็นเหยื่อของเกมการเงินได้
เพิ่มทุนให้ผู้บริหารหรือพนักงาน
การเพิ่มทุนให้แก่กรรมการหรือพนักงานบริษัท (Employee Stock Option Program : ESOP) ส่วนใหญ่ก็เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ผู้บริหารหรือพนักงานที่ทำงานดีอยู่กับองค์กรต่อไป กรณีนี้ส่วนใหญ่บริษัทไม่สามารถตุกติกอะไรได้มาก เพราะกฎของ ก.ล.ต. คุมไว้อย่างเข้มงวดและโดยมากก็ไม่ค่อยกระทบกับผู้ถือหุ้นรายย่อยเท่าไหร่
เพิ่มทุนเพื่อเอาไปทำธุรกิจใหม่
กรณีนี้รายย่อยอาจต้องระวังเป็นพิเศษว่าธุรกิจใหม่ที่จะทำ บริษัทมีประสบการณ์หรือความสามารถที่จะ "ทำฝันให้เป็นจริง" ได้หรือไม่ เพราะบางครั้งการขายฝันว่าจะทำโน่นทำนี่ทั้งๆที่บริษัทไม่มีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อน เป็นความเสี่ยงอย่างมาก เพราะขนาดธนาคารยังไม่ยอมให้กู้จึงต้องวิ่งมาหานักลงทุนรายย่อยให้เพิ่มทุน
แต่ถ้านักลงทุนพิจารณาดีแล้วว่าธุรกิจใหม่เกี่ยวเนื่องเป็นการต่อยอดธุรกิจเดิม และผู้บริหารมีความเชี่ยวชาญ การเพิ่มทุนก็อาจเป็นสิ่งที่ควรกระทำ ถือเป็นการลงทุนเพิ่มในธุรกิจที่ตนเองถนัด
เพิ่มทุนเพื่อเล่นเกมส์การเงิน
บางบริษัทเพิ่มทุนโดยอ้างเหตุผลที่ฟังไม่ค่อยจะขึ้น แต่ดึงดูดให้รายย่อยเพิ่มทุนเข้ามาโดยเอา "ขนมหวาน" เข้ามาล่อ เช่น วอร์แรนต์ฟรี หรือบางทีเพิ่งประกาศเพิ่มทุนเสร็จไปไม่นาน ก็ประกาศจะซื้อหุ้นคืนซะงั้น (ตกลงบริษัทคุณต้องการเงิน หรือเงินเหลือกันแน่?)
ในกรณีนี้ก็เหมือนเป็นการ "เข้าบ่อน" ครับ เพราะเป็นเรื่องของเกมการเงินล้วนๆ ถ้าคุณเป็นนักพนันกล้าได้กล้าเสียและเต็มใจอยากจะเสี่ยงโชคก็แล้วแต่ศรัทธาละกันครับ แต่ถ้าโดนเจ้ามือทุบก็อย่าบ่นละกันนะครับ แต่ถ้าใครเป็นนักลงทุนที่ต้องการเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นจริงๆ ควรหลีกเลี่ยงการเพิ่มทุนในลักษณะเกมการเงินนี้ทุกกรณี
ตอนหน้าเรามาเจาะลึก "5 สัญญาณสำคัญ" เพื่อให้คุณรู้ตัวล่วงหน้าว่าหุ้นของคุณอาจกำลังเสี่ยงต่อการโดนเพิ่มทุน
ติดตามตอนต่อไปครับ