3 เหตุผล ทำไมคนไทยต้องใช้เงินเดือน 21 ปี เพื่อซื้อบ้านดี ๆ สัก 1 หลัง ?
ใครที่กำลังวางแผนซื้อบ้านสักหลัง อาจกำลังสงสัยว่าทำไมการผ่อนบ้านแต่ละครั้งกลับต้องใช้เงินมหาศาล ไม่เพียงแต่เงินต้นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือนอีกด้วย ทำให้เราได้ยินข่าวบ่อย ๆ ว่าจ่ายเงินผ่อนบ้าน 12,000 บาท อาจลดเงินต้นเพียง 100 บาทเท่านั้น
วันนี้ Stock2morrow จะพาคุณมาทำความเข้าใจ 3 เหตุผลว่าทำไมคนไทยต้องใช้เวลานาน 21 ปีเพื่อซื้อบ้านดี ๆ สัก 1 หลังกัน
[3 เหตุผลทำไมคนไทยซื้อบ้านไม่ได้สักที]
1. รายได้น้อย ทำให้กู้ได้น้อย
การผ่อนบ้านสัก 1 หลังในปัจจุบันต้องจ่ายดอกเบี้ยที่ราว 6,000 บาทต่อเดือนต่อ 1 ล้านบาท นั่นหมายความว่าหากมองค่าเฉลี่ยเงินเดือนของคนไทยที่อยู่ที่ราว 14,000-15,000 บาทต่อเดือน สามารถผ่อนบ้านได้สูงสุดเพียง 60% ของเงินเดือนหรือราว 9,000 บาทต่อเดือนเท่านั้น หรือหมายความว่าสามารถผ่อนได้สูงสุด 1.3 ล้านบาท
ปัจจุบันบ้านราคา 1.3 ล้านบาทถือว่าหากได้ยากอย่างมากโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ทำให้เราแทบจะไม่เห็นคนรุ่นใหม่ผ่อนบ้านใหม่ ๆ ในกรุงเทพฯ แต่หันมาเลือกซื้อบ้านมือสองที่ราคาถูกและนำมารีโนเวทกันใหม่แทน
2. รายได้น้อย ผ่อนนาน จนไม่ไหว
แน่นอนการซื้อบ้าน 1 หลังหลายคนมักเลือกผ่อน 30-40 ปีขึ้นไปกับธนาคาร อย่าลืมว่าบ้านที่อยู่อาศัย ถ้าไม่ได้ทำเพื่อปล่อยเช่ามันถือเป็น “หนี้ระยะยาว” ที่จะติดตัวเราไปอีก 30-40 ปี
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผยว่าราคาที่อยู่อาศัยเฉลี่ยในเมืองของไทยสูงกว่ารายได้ครัวเรือนเฉลี่ยราว 21 ปี หรือพูดง่าย ๆ ว่าคนไทยจะใช้เวลานานถึง 21 ปี กับการซื้อบ้านและหมดหนี้ 1 หลัง อย่าลืมว่าถ้าเงินเดือนของคุณคือ 15,000 บาท และต้องมีรายจ่ายราว 9,000 บาทต่อเดือนตลอด 21 ปี ในช่วงแรก ๆ ของชีวิตอาจจะไหวแต่พอถึงช่วงท้าย ๆ อาจจะเริ่ม “ไม่ไหว” อีกต่อไป
อีกหนึ่งทางเลือกที่แก้ไขได้คือการชำระหนี้มากกว่าขั้นต่ำ เช่น การโปะเงินค่าหนี้บ้านเข้าไปเพิ่มขึ้นในทุก ๆ เดือน สิ่งนี้จะทำให้หนี้บ้านลดลงได้อย่างรวดเร็ว หรือการหารายได้เสริมเพื่อมาปิดหนี้บ้านก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือก แม้ว่าในช่วงเริ่มต้นอาจจะยากลำบากหน่อย แต่ก็อาจทำให้ระยะเวลา 21 ปี เหลือเพียง 8-11 ปีเท่านั้น
3. รายได้ เติบโตน้อยกว่า ค่าที่ดิน
เงินเดือนของคนไทยเติบโตขึ้นเฉลี่ย 1.2% ต่อปี ในขณะที่ค่าที่ดินกลับเติบโตราว 9% ต่อปี นั่นทำให้รายได้ของคนไทยเติบโตน้อยกว่าค่าที่ดินแทบจะเทียบไม่ติด ส่งผลให้อดีตคนที่สามารถจ่ายเงินเพื่อกู้ธนาคารได้มีจำนวนมากแต่ปัจจุบันเมื่อระยะเวลายิ่งผ่านไป คนกลับยิ่งกู้เงินซื้อบ้านไม่ได้อย่างที่ควรเป็น
ส่งผลให้ในปี 2024 อัตราการโอนบ้านน้อยลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงความเข้มงวดของธนาคารในการปล่อยกู้เนื่องจากหนี้เสีย (NPL) กำลังเติบโตขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา
แม้ว่าปัจจุบันหนี้ครัวเรือนจะลดลงต่ำกว่า 90% ต่อ GDP แล้วแต่ก็ยังไม่สามารถเชื่ออย่างสนิทใจได้ว่าจะเกิดหนี้เสียจากบ้านเพิ่มขึ้นอีกในอนาคตหรือไม่
ดังนั้นหากใครกำลังเลือกซื้อบ้านสัก 1 หลังอย่าลืมที่จะวางแผนอย่างถี่ถ้วนและคำนวณค่าใช้จ่ายให้เหมาะสม ไม่เช่นนั้นบ้านของคุณอาจตกไปอยู่ในมือของคนอื่นในอนาคตได้
#Stock2morrow #สื่อและสังคมของนักลงทุน #อสังหาริมทรัพย์ #บ้าน #ประเทศไทย