แชร์ลูกโซ่ vs ขายตรง ต่างกันอย่างไร ? รู้ไว้ก่อน จะได้ไม่โดนหลอกทีหลัง
จากกระแสข่าวขายตรง vs แชร์ลูกโซ่ที่กำลังมาแรงในปัจจุบัน ทำให้หลายคนตกเป็นเหยื่อและต้องสูญเสียเงินจำนวนมาก แต่รู้หรือไม่ว่าหลายคนยังไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างแชร์ลูกโซ่กับขายตรงได้
วันนี้ stock2morrow จะพาคุณไปทำความเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างธุรกิจทั้งสอง รู้ไว้ก่อน จะได้ไม่โดนหลอกทีหลัง
[แชร์ลูกโซ่คืออะไร ?]
แชร์ลูกโซ่หรือ Pyramid Scheme คือวิธีการหลอกลวงประเภทหนึ่งของมิจฉาชีพ โดยอาศัยการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อหลอกลวง ทั้งนี้มักจะเชิญชวนคนที่น่าเชื่อถือให้เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อดึงดูดความน่าสนใจจากทุก ๆ ฝ่าย ก่อนที่จะหลอกเงินให้ลงทุนเพื่อหวังค่าตอบแทนที่สูงมากยิ่งขึ้น เช่น ทองคำ หุ้น Forex หรือสินค้าออนไลน์ และเมื่อได้เงินก้อนไปแล้วก็จะหลบหนีต่อไป
รูปแบบธุรกิจที่เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่
- เน้นการสร้างเครือข่ายมากกว่าการขายสินค้า
- มีการการันตีผลตอบแทน และมักคืนทุนในระยะเวลาสั้น ๆ
- กระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจที่ฉับพลัน เน้นง่าย แต่ต้องลงทุนสูง ๆ
[ขายตรงคืออะไร ?]
ธุรกิจขายตรง (Direct Sales) คือการทำการตลาดผ่านการขายสินค้ากับผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งในทีนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นตัวแทนจำหน่าย และมักมีการเชิญชวนคนรอบข้างให้เข้ามาซื้อสินค้าหรือเป็นตัวแทนจำหน่ายด้วยเช่นกัน
โดยสิ่งที่แตกต่างจากแชร์ลูกโซ่คือมีสินค้าอยู่จริง มีการจ่ายสินค้าจริง และมีแผนธุรกิจที่แน่นอน ไม่การันตีผลตอบแทน แต่รายได้และกำไรมาจากการขายสินค้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปตามกลไกของตลาดการขายสินค้าทั่วไป
สิ่งที่ทำให้ใครหลายคนมองว่า ขายตรง คือ แชร์ลูกโซ่ คือปัญหาของตัวแทนจำหน่าย ที่บางครั้งจะต้องสต็อกสินค้าหรือลงทุนเงินจำนวนมากเพื่อออกมาขายสินค้า แต่บางครั้งสินค้ากลับขายไม่ออกและไม่สามารถคืนกลับบริษัทได้ ทำให้ในส่วนนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นส่วนที่ทำให้ใครหลายคนเข้าใจผิดว่าธุรกิจขายตรงเป็นธุรกิจหลอกลวงเงิน
[กลโกงแชร์ลูกโซ่ในคราบขายตรง]
1. เน้นหาลูกทีม ไม่เน้นขายของ
โครงสร้างธุรกิจที่เตรียมรับแต่ลูกทีมหรือดาวน์ไลน์เพียงอย่างเดียว โดยได้รายได้จากการที่ลูกทีมเข้ามาขายสินค้าประเภทเดียวกันโดยเก็บเป็นค่าคอมมิชชันและค่าสมัครแทนที่จะตั้งใจเข้ามาขายสินค้าโดยตรง
2. ขายของทิพย์ ไม่ส่งสินค้าจริง
สินค้าที่แก๊งแชร์ลูกโซ่ขายนั้นมักจะไม่มีคุณภาพหรือไม่ส่งสินค้าจริงตามเวลาที่ควรจะเป็น ตัวอย่างเช่นมีการผลัดวันส่งสินค้าออกไปเรื่อย ๆ และไม่มีกำหนดการส่งที่แน่นอน ทำให้เราต้องรอสินค้าออกไปเรื่อย ๆ แม้ว่าจะจ่ายเงินออกไปแล้วก็ตาม
3. บังคับให้ทำยอดขาย ซื้อสินค้า ต้องลงทุนไปเรื่อย ๆ
มีการบังคับให้ซื้อสินค้ามากกว่าความจำเป็นหรือต้องลงทุนเพื่อสต็อกสินค้าไปเรื่อย ๆ ทั้งที่ยังไม่มียอดขายจริงหรือมีแนวโน้มที่จะขายสินค้าออกได้ตามความเป็นจริง
4. ข้อมูลไม่ชัดเจน ไม่แน่นอน ไม่มีใบอนุญาต
ข้อมูลบริษัทไม่ชัดเจน ไม่ยอมให้ข้อมูลที่ชัดเจนแก่ผู้บริโภค ไม่สามารถคืนเงินหรือเปลี่ยนสินค้ากับบริษัทได้ และไม่ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)
อย่างไรก็ตามเราต้องระมัดระวังการลงทุนในทุกรูปแบบควรศึกษาให้แน่ชัดก่อนที่จะลงทุนหรือสต็อกสินค้าใด ๆ ทุกครั้ง และแน่นอนว่าการตามรอยคนดังไม่ได้หมายความว่าจะประสบความสำเร็จเสมอไป
ดังนั้นเราควรหมั่นศึกษาและเข้าใจตลาดอยู่เรื่อย ๆ เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพในอนาคต
#Stock2morrow #สื่อและสังคมของนักลงทุน #ธุรกิจ #แชร์ลูกโซ่