นักลงทุนควรรับมืออย่างไร ? เมื่อเงินบาท “แข็งค่า” อย่างรวดเร็ว ?
เงินบาทกำลังแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 36 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงต้นปี 2567 ตอนนี้มีแนวโน้มว่ากำลังแข็งค่าไปสู่ระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์
เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากปัจจัยอะไรบ้าง ? มีผลกระทบอย่างไรบ้าง ? และทำไมนักลงทุนถึงควรติดตามการแข็งค่าหรืออ่อนค่าของเงินบาท ? หรือจะเตรียมตัวรับมือกับความผันผวนของตลาดหุ้นจากค่าเงินที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
วันนี้ Stock2morrow จะพาคุณมาเข้าใจว่า “เงินบาทแข็งค่า” ควรรับมืออย่างไร และมีผลกระทบอะไรบ้าง ?
[เงินบาทแข็งค่าคืออะไร ?]
การที่เงินแข็งค่าขึ้น คือการที่ “เงินสกุลนั้น ๆ” มีมูลค่ามากกว่าเงินอีกสกุลเงินหนึ่ง
หรือเรียกได้ว่าสามารถใช้เงินที่มีอยู่เดิมน้อยลงเพื่อแลกกับสกุลเงินอื่น ๆ ได้มากยิ่งขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น สมมติตอนนี้ 1 ดอลลาร์ เท่ากับ 40 บาท
นั่นหมายความว่าเราต้องใช้เงิน 40 บาทเพื่อแลกกับ 1 ดอลลาร์
แต่เมื่อเวลาผ่านไปเงินบาท “แข็งค่า” ยิ่งขึ้น
ส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 1 ดอลลาร์เท่ากับ 30 บาท
นั่นหมายความว่าหากเราใช้เงิน 40 บาทเท่าเดิมแลกดอลลาร์
เราจะสามารถแลกเงินดอลลาร์ได้มากถึง 1.33 ดอลลาร์
หรือแลกเป็น “ดอลลาร์” ได้มากยิ่งขึ้นนั่นเอง
ว่าแต่จะรู้ได้อย่างไรว่าค่าเงินสกุลนั้น ๆ กำลังแข็งค่าหรืออ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ
ก็ต้องดูจากอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับสกุลเงินอื่น ๆ ในตลาดโลก
โดยส่วนใหญ่แล้วหลายประเทศมักเปรียเทียบกับ “ดอลลาร์สหรัฐฯ” เป็นหลัก
[ปัจจัยและผลกระทบที่นักลงทุนควรจับตา]
1. การส่งออกและนำเข้า
หากเงินบาทแข็งค่า การส่งออกไทยจะน้อยลงเนื่องจากสินค้าไทยแพงมากยิ่งขึ้นเมื่อเทียบกับต่างประเทศ แต่ก็ยังมีข้อดีเนื่องจากเป็นปัจจัยบวกให้กับการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเพราะมีราคาที่ถูกเมื่อเทียบกับช่วงที่เงินบาทกำลังอ่อนค่า
2. การท่องเที่ยว
การท่องเที่ยวซึ่งเป็น “ส่วนสำคัญ” และเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของไทยจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเนื่องจากเมื่อเงินบาทแข็งค่ายิ่งขึ้นส่งผลให้ “นักท่องเที่ยวลดลง” เนื่องจากต้องแลกเงินมากยิ่งขึ้นเมื่อมาเที่ยวในประเทศไทย และใช้จ่ายมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้นักท่องเที่ยวอาจหาตัวเลือกใหม่ ๆ ในต่างประเทศแทน
3. ตลาดหุ้น
หากเงินบาทแข็งค่า นักลงทุนทั่วโลกก็จะหันมาลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากยิ่งขึ้น และทำให้ Fund Flow หรือเม็ดเงินจากทั้งในประเทศและต่างประเทศไหลกลับเข้าสู่ตลาดหุ้น อาจส่งผลให้ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย
4. เงินเฟ้อ
การแข็งค่าของเงินบาทจะช่วย “ลดแรงกดดัน” ด้านเงินเฟ้อเพราะทำให้ราคาสินค้านำเข้ามีราคาถูกลง โดยผู้นำเข้าสินค้าและบริการจะได้รับประโยชน์จากเงินแข็งค่าเนื่องจากราคาสินค้าจากต่างประเทศมีราคาถูกลง ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มกำไรให้กับบริษัทมากยิ่งขึ้น
5. อัตราดอกเบี้ย
โดยส่วนใหญ่แล้วเมื่อเงินบาทอ่อนค่าลงมักทำให้ธนาคารกลางแต่ละประเทศ “ปรับขึ้นดอกเบี้ย” เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ในขณะเดียวกันเมื่อเงินแข็งค่าขึ้นมาก ๆ หลายประเทศก็เลือกที่จะ “ปรับลดดอกเบี้ย” เนื่องจากต้องการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศให้ดียิ่งขึ้น
[นักลงทุนควรปรับตัวอย่างไร ?]
หากเงินบาทแข็งค่ายิ่งขึ้น นักลงทุนหลายคนมักโฟกัสไปที่หุ้นกลุ่ม Passive Stock
หรือหุ้นปันผลที่เน้นการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาขายในประเทศ
หรือเป็นสินค้ากลุ่มอุปโภคบริโภค หรือแม้แต่ทองคำเองก็เป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่คนส่วนใหญ่เลือก
ทั้งนี้รวมถึงการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ เช่น หุ้นต่างประเทศ ตราสารหนี้ต่างประเทศ เป็นต้น
แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเงินบาทแข็งค่าก็ไม่ควรมองข้าม “หุ้นไทย” เพราะตามสถิติแล้วเมื่อเงินบาทแข็งค่า
จะส่งผลให้หุ้นไทยปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในช่วงที่เงินบาทอยู่ราว 29-30 บาทต่อดอลลาร์
หุ้นไทยได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 1,000 จุด เป็น 1,500 จุดมาแล้ว
ไม่ว่าจะ “หุ้นไทย” หรือ “ต่างประเทศ” ก็เป็นหุ้นที่ไม่ควรมองข้ามทั้งนั้น แต่นักลงทุนก็ควรเลือกสินทรัพย์ให้เหมาะสำหรับการลงทุนของตัวเอง และที่สำคัญควรศึกษาให้ละเอียดก่อนเริ่มการลงทุนทุกครั้งด้วยนะ
#Stock2morrow #สื่อและสังคมของนักลงทุน #SET #เงินบาทไทย #เศรษฐกิจ #ประเทศไทย