ทำไมช่วงนี้เรามักจะได้ยินข่าวโรงงานใหญ่ๆในไทย ต่างทยอยปิดตัว ?
คำตอบสั้นๆ ที่พอจะบอกได้ คือ เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะอ่อนแอ ภาคอุตสาหกรรมไทยอยู่ในภาวะที่อ่อนแอกว่า
ทั้งดัชนีการผลบิตที่หดตัวลงติดต่อกันนานกว่า 12 เดือน และหนี้เสียในภาคการผลิตที่กำลังเร่งตัว
แต่ถ้าจะให้อธิบายยาวๆ น่าจะมาจาก ดัชนีการผลิตที่ติดลบติดต่อกันนานกว่า 12 เดือน
โดยในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาการเปลี่ยนแปลงที่เป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีนักของเศรษฐกิจไทย
คือการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่วัดจากดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ได้มาจากการสำรวจผู้ผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ
ในประเทศไทยเผยแพร่โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม พบว่า มีการหดตัวต่อเนื่องกันกว่า 1 ปี 3 เดือน แล้ว
ซึ่งนับเป็นการโตติดลบติดต่อกันที่ยาวนานมากที่สุดครั้งหนึ่ง
แม้ว่าวัฏจักรการค้าโลกจะเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ปลายปี 2566 แล้วก็ตาม
จากข้อมูลสถิติพบว่า ปี 2564 มีโรงงานทยอยปิดไปแล้วเฉลี่ย 57 โรงงานต่อเดือน
ในขณะที่ปี 2565 พบว่ามีโรงงานปิดกิจการไปแล้วเฉลี่ย 83 โรงงานต่อเดือน
ในปี 2566 มีโรงงานปิดไปแล้วเฉลี่ย 159 โรงงานต่อเดือน
และในปี 2567 ไตรมาสแรก ปิดไปแล้วกว่า 1,700 แห่ง กระทบการจ้างงานกว่า 4.2 หมื่นตำแหน่ง
ไม่สอดคล้องกับยอดโรงงานที่เปิดใหม่ กลับมีเพียง 50 โรงงานต่อเดือนเท่านั้น ...
สิ่งที่น่ากังวลอีกประเด็น คือ การเพิ่มขึ้นของหนี้เสีย
โดยเฉพาะภาคการผลิตที่มีสัญญาณเร่งตัวขึ้นอย่างชัดเจนและสะท้อนปัญหาที่รุนแรงในภาคอุตสาหกรรมไทยมากกว่าเป็นการชะลอตัวชั่วคราว
ซึ่งนำไปสู่ความจำเป็นต้องปิดโรงงานและกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้
บทวิเคราะห์ KKP Research พบความสัมพันธ์ระหว่างอุตสาหกรรมที่มีการปิดตัวของโรงงานสูงกับอุตสาหกรรมที่หนี้เสียปรับตัวสูงขึ้น
โดยโรงงานกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการปิดตัวมากกว่า มีแนวโน้มที่การเพิ่มขึ้นของหนี้เสียสูงกว่าด้วย
นอกจากนี้ สิ่งที่น่ากังวล ยังประกอบไปด้วย 3 เหตุผลหลัก คือ
1. การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในบางกลุ่มสินค้าหลัก
เช่น การเปลี่ยนจากรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในเป็นรถยนต์ EV โดยในช่วงทีผ่านมามีการส่งออกรถยนต์ EV ราคาถูกจากจีนมายังไทยและส่งผลกระทบอย่างมากต่อทั้งยอดขายและราคารถยนต์ ICE ในไทย หรือ การเปลี่ยนจากการใช้ HDD เป็น SSD ซึ่งจะรุนแรงมากขึ้นต่อเนื่องในอนาคต โดยเฉพาะเมื่อราคา EV และ SSD มีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ทำให้เข้ามาทดแทนเทคโนโลยีเก่าได้เร็วและกว้างขึ้น
2. การแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากสินค้าจีน
โดยในปัจจุบันไทยขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และไม่เพียงแต่เฉพาะสินค้าในกลุ่มยานยนต์ที่เข้ามายังไทย แต่ไทยมีการนำเข้าจากจีนในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในหลายกลุ่มสินค้าเมื่อเทียบกับการนำเข้าทั้งหมด รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีต้นทุนต่ำกว่าสินค้าที่ผลิตในไทย
3. มาตรการกีดกันการค้าระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มทวีความเข้มข้นขึ้น
โดยเฉพาะในช่วงหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งในกรณีที่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง มีแนวโน้มที่จะมีมาตรการกีดกันทางการค้าจากจีนและโลกเพิ่มเติม
ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงทำให้การค้าโลกในภาพรวมชะลอตัวลง และมีโอกาสที่สินค้าจากจีนจะทะลักมายัง ASEAN รวมถึงไทยเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นการระบายสินค้าของจีนไปยังตลาดส่งออกอื่น
ประเด็น คือ การเร่งดำเนินนโยบายเพื่อช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมและปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเป็นสิ่งที่ยังจำเป็นต้องทำ
ควบคู่ไปกับการหาเครื่องยนต์ใหม่มาทดแทนเครื่องยนต์เดิมของเศรษฐกิจที่หายไป
ถ้าไม่อย่างนั้นแล้ว เราก็จะเห็นเศรษฐกิจไทยมีศักยภาพการเติบโตต่ำลงไปเรื่อยๆ
KKP Research โรงงานไทยที่กำลังปิดตัวบอกอะไรเรา? อ่านรายงานฉบับเต็ม