ณ เวลานี้กระแส Bitcoin และสินทรัพย์ดิจิทัลกำลังมาแรง
สาเหตุเพราะราคา Bitcoin พุ่งทำจุดสูงสุดใหม่ได้
ทำให้สื่อต่างประเทศ เริ่มสนใจแล้วว่า เกิดอะไรขึ้นกับ Bitcoin และมีปัจจัยบวกอะไรที่ทำให้ Bitcoin กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง
สื่อต่างประเทศ แสดงความคิดเห็นว่า
นอกจากประเด็นเรื่องของ Bitcoin Halving และ การก่อต้ัง Bitcoin spot ETF
ซึ่งเป็นผลดีให้นักลงทุนสถาบันเข้าถึง Bitcoin ง่ายขึ้น
เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ Bitcoin ได้รับความนิยม
อีกสาเหตุหนึ่ง ที่เรามองข้ามไม่ได้เลย คือ ความเคลื่อนไหวของ นายิบ บูเคเล (Nayib Bukele)
ประธานาธิบดีของเอลซัลวาดอร์ ที่มีกระแสข่าวในความพยายามจะขับเคลื่อน Bitcoin ให้เป็นสกุลเงินของประเทศ
สื่ออย่าง Cointelegraph รายงานข่าวว่า นายิบ บูเคเล ได้ประกาศชัยชนะในการเลือกตั้งและคว้าตำแหน่งประธานาธิบของเอลซัลวาดอร์ได้เป็นสมัยที่ 2 ท่ามกลางความดีใจของประชาชน และเหล่าผู้สนับสนุนคริปโต
เขามีชื่อเสียงอย่างมาก จากการที่เป็นผู้ที่สนับสนุน Bitcoin มาอย่างยาวนาน และการชนะเลือกตั้งครั้งนี้ก็มีการคาดการณ์ว่าตัวของ Bukele จะช่วยให้เอลซัลวาดอร์เข้ามามีบทบาทในแวดวงคริปโตมากขึ้นในอนาคต
คำถาม คือ สำคัญอย่างไรกับวงการคริปโต โดยเฉพาะ Bitcoin
คำตอบ คือ เขาเป็นผู้สนับสนุน Bitcoin
และเขาเองยังเป็นคนที่ริเริ่มการร่างกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคริปโตภายในประเทศด้วย เช่นในปี 2021 ที่เอลซัลวาดอร์ได้อนุมัติให้ Bitcoin เป็นสกุลเงินที่ถูกต้องตามประมวลกฎหมาย
อ่านมาถึงตรงนี้ เราอาจจะสงสัยว่า ทำไมนายิบ บูเคเล
ต้องพยายามผลักดัน Bitcoin ให้เป็นเงินของประเทศ .. ?
อยากจะเล่าให้ฟังแบบนี้ครับ
เอลซัลวาดอร์มีปัญหาที่แก้ไม่ได้อยู่ 2 ข้อและเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เป็น "ประเทศล้มเหลว" อย่างสิ้นเชิง มาจาก
1. ปัญหาทางด้านการเมือง นำไปสู่ปัญหาอาชญากรรมและยาเสพติด
2. ปัญหาทางด้าน "ค่าเงิน"
ข้อแรก : ปัญหาทางด้านการเมือง นำไปสู่ปัญหาอาชญากรรมและยาเสพติด
เอลซัลวาดอร์ เป็นประเทศเล็กๆในทวีปอเมริกากลาง ที่มีประชากรราวๆ 6.5 ล้านคน
อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานความร้อนใต้พิภพ และป่าไม้
ปัญหาทางด้านการเมืองระหว่างความเชื่อในคอมมิวนิสต์ และกลุ่มต่อต้านคอมมิวนิสต์ทำให้เกิดสงครามกลางเมืองหลายครั้งกินระยะเวลายาวนานเกือบ 30 ปี
มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ผู้คนสิ้นหวัง ทำให้ประเทศตกอยู่ในวังวนแห่งอาชญากรรม และยาเสพติด
แทนที่ประเทศเล็กๆแห่งนี้จะมีชื่อเสียงทางด้านทรัพยกรธรรมชาติ และการท่องเที่ยว
แต่กลับกลายเป็นว่าประเทศแห่งนี้มีชื่อเสียงในเรื่องของแก๊งมาเฟีย ยาเสพติด
ขึ้นชื่อในเรื่องเมืองนอกกฏหมายอันดับต้นๆของโลก เด็กรุ่นใหม่ที่เติบโตมาไม่เป็นขอทาน ก็ต้องไปทำงานที่เกี่ยวข้องกับการค้ายา
จนกระทั่งมีเด็กหนุ่มคนหนึ่งชื่อ นายิบ บูเคเล (Nayib Bukele) หวังขึ้นมาเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศ ..
เขาได้รับอิทธิพลจากพ่อของเขาซึ่งเป็นนักการเมืองและนำพาเขาคลุกคลีการเมืองมาตั้งแต่เด็ก
งานแรกในฐานะของการเป็นผู้นำ คือ การเป็นนายกเทศมนตรีของเมืองนิวโวคัสเคตลัน (Nuevo Cuscatlan)
ชุมชนเล็กๆในเมืองซานซัลวาดอร์ เมืองหลวงของประเทศ
บูเคเล แสดงความสามารถในการเปลี่ยนชุมชนนิวโวคัสเคตลันจากแหล่งเสื่อมโทรม กลายมาเป็นเมืองแห่งความหวังของประเทศ
ผ่านการสร้างห้องสมุด ศูนย์พัฒนาชุมชน-สร้างงานให้คนในชุมชน
และที่สำคัญคือการศึกษาให้กับคนในพื้นที่โดยเฉพาะเด็กๆในย่านนั้น เพราะหวังว่าเด็กๆที่มีการศึกษา เมื่อพวกเขาโตขึ้นจะไม่เป็นอาชญากรรม
เมืองนิวโวคัสเคตลัน ได้กลายมาเป็นเมืองที่น่าอยู่ที่สุดในเอลซัลวาดอร์
แน่นอว่าผู้คนเริ่มกลับมามีความหวังอีกครั้ง
ในปี 2015 บูเคเล ได้รับการรับเลือกจากประชาชนอย่างล้นหลามให้เป็นผู้ว่าฯ เมืองซานซัลวาดอร์
โดยเป้าหมายแรก คือ กำจัดแหล่งเสื่อมโทรม กวาดล้างอาชญากรรม ลดความรุนแรงและทำให้เมืองซานซัลวาดอร์กลับมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวปลอดภัย
แต่การทำแบบนี้ย่อมไม่เป็นที่ถูกใจของผู้มีอำนาจในท้องถิ่น ในที่สุดบูเคเลจึงถูกขับไล่ออกจากพรรค และถูกการเมืองกลั่นแกล้งให้ออกจากการเป็นผู้ว่าของเมือง
นายิบ บูเคเล จึงก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ที่ชื่อว่า "New Idea" และเปลี่ยนภาพลักษณ์ของตัวเองมาเป็น "ผู้นำแห่งความหวังใหม่"
และสุดท้าย เขาก็ได้รับเลือกจากประชาชนให้เป็นประธานาธิบดีเอลซัลวาดอร์
งานของเขามีอยู่หลายอย่าง เช่นการปราบปรามอาชญากรรมซึ่งถือเป็นหัวใจหลักในการนำพาประเทศไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น
แต่ผลงานที่คนทั่วโลกรู้จักกันเป็นอย่างดี คือ การออกกฏหมายให้ "Bitcoin' เป็นสกุลเงินที่ถูกต้องตามกฏหมายในเอลซัลวาดอร์
สาเหตุที่เขาทำแบบนั้น เพราะ ปัญหาทางด้านค่าเงิน ซึ่งจะเล่าในข้อต่อไปครับ
- สรุปสาเหตุ ทำไม Bitcoin ราคาสูงขึ้นจนแตะ All Time High ?
- สรุปสาเหตุ "ทองคำ" ทำไมราคาพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์
- ทำไมในปี 2567 นักลงทุนถึงไม่ควรมองข้ามหุ้นจีนและหุ้นไทย
ข้อสอง : ปัญหาทางด้านค่าเงิน
ในอดีตประเทศเอลซัลวาดอร์ มีสกุลเงินเป็นของตัวเองในชื่อ "Salvadoran peso"
ก่อนที่จะยกระบบการเงินของตัวเองใหม่ในปี 1919 และเปลี่ยนชื่อมาเป็น "โคโลน" (colón)
และตรึงค่าเงินตัวเองกับดอลล่าร์สหรัฐ โดยมีอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 2 โคโลน = 1 ดอลล่าร์สหรัฐ
ในปี 1931 สกุลเงินโคโลน เกิดวิกฤตเศรษฐกิจจึงปลอยค่าเงินลอยตัว
ทำให้สกุลเงินโคโลนอ่อนค่าลงความมั่งคั่งของผู้ถือครองโคโลนลดลงอย่างรวดเร็ว
บางคนก็หันมาถือดอลล่าร์สหรัฐกันอย่างลับๆ เพราะไม่เชื่อมั่นในสกุลเงินของประเทศ
ความไม่เชื่อมั่นครั้งนี้กินระยะเวลายาวนานถึง 70 ปี
ในปี 2001 ประธานาธิบดีฟรานซิสโก ฟรอเรส (Francisco Flores) ประกาศให้สกุลเงินหลักของประเทศเป็น US Dollar
ส่วนสกุลเงินโคโลนก็ยังสามารถใช้ได้โดยจะตรึงค่าเงินไว้ที่ 8.75 โคโลน = 1 ดอลล่าร์สหรัฐ
แต่เนื่องจากว่าคนไม่เชื่อถือสกุลเงินโคโลนอีกต่อไป ทั้งประเทศเลยหันมาใช้สกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐแทน
ประเทศเอลซัลวาดอร์ เป็นประเทศเล็กๆที่ไม่ได้มีงานให้ทำมากนัก
เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ประชาชนยากจน ธุรกิจล้มตายจำนวนมาก
คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่จึงหันไปทำงานต่างประเทศ เวลาจะส่งเงินกลับก็ต้องส่งผ่านตัวกลาง เช่น Western Union หรือ Moneygram
ทื่คิดค่าธรรมเนียมราวๆ 33% ของจำนวนเงินที่จะส่งกลับ ซึ่งถือว่าเป็น "ค่าธรรมเนียม" ที่สูงเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน
นอกจากนั้น เอลซัลวาดอร์ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการเข้าถึงระบบการเงิน
เนื่องจากธนาคารในประเทศเอลซัลวาดอร์ส่วนใหญ่เป็นเครือข่ายธนาคารจากสหรัฐฯ
ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ที่มีฐานะยากจน ไม่มีรายได้ที่สม่ำเสมอ ไม่สามารถใช้บริการธนาคารเหล่านี้ได้
โดยเอลซัลวาดอร์มีสถิติประชากรที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบการเงินสูงราว 80% เลยทีเดียว
การไม่สามารถเข้าถึงระบบการเงินทำให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อของหนี้นอกระบบ และ อาชญากรรมทางการเงิน
ยิ่งไปกว่านั้น การไม่สามารถมีได้แม้กระทั่งบัญชีเงินฝาก ทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่สามารถเก็บเงินได้โดยไม่เสี่ยงต่อการจารกรรม
บูเคเล เห็นปัญหาลักษณะนี้ประกอบกับตัวเองมีความสนใจใน Bitcoin อยู่แล้ว
โดยได้เคยแสดงความสนใจในเทคโนโลยีบิตคอยน์มาตั้งแต่ช่วงปี 2015 แต่ด้วยข้อจำกัดทางเทคโนโลยีทำให้บิตคอยน์ยังไม่พร้อมสำหรับการใช้งานในระดับประเทศ
โดยเฉพาะสำหรับการใช้จ่ายประจำวันด้วยระยะเวลายืนยันธุรกรรมที่นานกว่า 10 นาที ...
จนกระทั่งในปี 2019 ไมค์ ปีเตอร์สัน นักโต้คลื่นชาวอเมริกันตั้งใจที่จะท้าทายความเชื่อดังกล่าวนี้
ด้วยการชักชวนผู้คนใน El Zonte ให้หันมาใช้ และ รับ Bitcoin ผ่านระบบ Lightning Network
ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นในช่วงปี 2018 ที่ทำให้ผู้คนสามารถรับส่งบิตคอยน์ได้อย่างรวดเร็ว
โดยแทบไม่มีค่าธรรมเนียมในการใช้งาน และสามารถใช้งานได้โดยปราศจากศูนย์กลาง
เขาได้ก่อตั้งกลุ่ม Bitcoin Beach ขึ้นเพื่อผลักดันการเข้าถึงระบบการเงินผ่าน Lightning Network
การเคลื่อนไหวดังกล่าวได้รับความสนใจจากสังคมบิตคอยน์ในหลาย ๆ ประเทศ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แจ็ค มอลเลอร์ (Jack Mallers) ผู้ก่อตั้ง Strike กระเป๋า Lightning Network
ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในสหรัฐในขณะนั้นเนื่องด้วยความสะดวกสบายในการใช้งานที่ผู้ใช้สามารถจะรับส่งบิตคอยน์ หรือ USD ผ่าน Strike app ก็ได้ตามสมัครใจ
จากนั้นไม่นาน แจ็คก็ได้เดินทางมาอยู่อาศัยใน El Zonte เป็นเวลาหลายเดือนเพื่อช่วยผลักดันการใช้งานบิตคอยน์ และ USD ผ่าน Lightning Network ระหว่างนั้นเองที่ประธานาธิบดีนายิบ บูเคเล ได้ติดต่อ Mallers และกลุ่ม Bitcoin Beach เพื่อขอคำแนะนำในการสร้างโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงระบบการเงินได้ผ่าน Lightning Network นำมาสู่การร่างกฎหมายบิตคอยน์ และการพัฒนาแอปพลิเคชัน Chivo ซึ่งเป็นวอลเลตของรัฐบาลที่เชื่อมต่อกับกองทุนบิตคอยน์ ที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้น
เมื่อประชาชนใช้งาน Chivo เขาจะสามารถรับเงินเป็นบิตคอยน์ หรือ USD ก็ได้
โดยรัฐบาลจะเป็นผู้แลกเปลี่ยนเงินดังกล่าวให้ทันทีผ่านกองทุนสภาพคล่องของรัฐ
นอกจากนั้น Chivo ยังเป็นซอฟต์แวร์เปิดที่สามารถทำงานร่วมกันกับ Bitcoin Lightning Wallet อื่น ๆ ได้อีกด้วย
การใช้งาน Lightning เป็นระบบส่งเงิน สามารถทำให้ผู้คนส่งเงินข้ามประเทศได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
โดยประชาชนสามารถส่ง "ดอลล่าร์สหรัฐ" ผ่าน Lightning ได้ด้วยการใช้บริการ wallet ของรัฐบาลอย่าง Chivo หรือผ่าน lightning wallet อื่น ๆ อย่างเช่น Strike
การใช้งานระบบดังกล่าว เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ว่ากันว่ามีประชาชนราวๆ 2.5 ล้านคนใช้บริการนี้ในการส่งเงินข้ามประเทศ รับส่งโอนเงินภายในประเทศรวมเป็นมูลค่ากว่า 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 23% ของ GDP ประเทศเอลซัลวาดอร์
และยังคาดกันอีกว่า Western Union น่าจะสูญเสียรายได้กว่า 400 ล้านเหรียญต่อปีเลยทีเดียว
ในช่วงปีแรกหลังจากมีการใช้กฎหมายบิตคอยน์ มีประชาชนหันมาใช้ช่องทาง Lightning Network ในการส่งเงินกลับประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในหน่วยบิตคอยน์หรือดอลล่าร์สหรัฐ ผ่าน wallet ของรัฐบาลที่ชื่อว่า Chivo ส่งผลให้ประหยัดค่าธรรมเนียมการโอนเงินกลับไปได้กว่า 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ...
อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เชื่อใจรัฐบาล ทำให้ผู้ใช้งานจำนวนมากเลือกที่จะใช้บริการ wallet อื่น ๆ อย่าง Strike หรือ Bitcoinbeach มากกว่าที่จะใช้ Chivo ทำให้ไม่สามารถรู้ตัวเลขที่แท้จริงได้
ทั้งนี้ wallet ต่าง ๆ สามารถทำงานร่วมกันได้บนเครือข่าย Lightning ของบิตคอยน์ นับเป็นครั้งแรกที่ประชาชนมีทางเลือก
นอกจากจะได้ประโยชน์เรื่องของการรับ-ส่งเงินแล้ว ประเทศยังได้ประโยชน์อีกอย่างคือ เรื่องของการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว โดย GDP ในปี 2021 สูงถึงสองหลักเป็นครั้งแรกในรอบห้าสิบปี นำโดยธุรกิจ "การท่องเที่ยว" ที่เติบโตขึ้นหลายร้อยเปอร์เซนต์ในเวลาสั้นๆ มีการประชาสัมพันธ์เรื่องของ Bitcoin City การนำบิตคอยน์มาใช้แบบจริงๆจังๆมากขึ้น
หรือการก่อตั้ง Bitcoin Beach ในพื้นที่เขตเมือง El Zonte ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญติดทะเล ...
เอลซัลวาดอร์ได้กลายมาเป็นเมืองที่ชาวบิตคอยน์ต้องเดินทางไปให้ได้สักครั้ง มีการใช้จ่ายและดึงเงินจากต่างชาติมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
ผู้คนเริ่มลืมตาอ้าปากได้ ไม่ว่าจะใช้บิตคอยน์หรือดอลลาร์ก็ตามเพราะกฎหมายไม่ได้บังคับ
แต่ทั้งคู่สามารถใช้ประโยชน์จากระบบ Lightning ได้ ทำให้ประชาชนเข้าถึงระบบการเงินได้มากขึ้นเป็นประวัติการ
ปัจจุบันในประเทศเอลซัลวาดอร์ มีสกุลเงินอยู่ 2 สกุลหลัก คือ ดอลล่าร์สหรัฐ (ใช้กันมากที่สุด) และ บิตคอยน์ (เป็นอันดับที่สอง) ...
ในวันนี้เอลซัลวาดอร์อยู่ในสถานะที่ดีที่สุดที่เคยเป็นมาตลอด 50 ปี ประเทศกำลังจะถูกทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ
จากประเทศพังทลาย ค่าเงินล่มสลาย ประชาชนเริ่มกลับมามีความหวังอีกครั้งจากเรื่องของความปลอดภัยภายในประเทศ
การปราบปรามอาชญากรรมทำให้สังคมดีขึ้นในทุกมิติ
รวมถึงการเข้าถึงระบบการเงินได้ง่ายขึ้น เพียงแค่เรามีสมาร์ทโฟนสักเครื่องพวกเขาก็สามารถรับส่งเงินกับใครก็ได้ทั่วโลก
รับค่าจ้างจากต่างประเทศโดยไม่ต้องจ่าย "ค่าผ่านทาง" ที่โดนเอารัดเอาเปรียบ
จากสาเหตุที่เล่ามา ก็พอจะเข้าใจและ "เห็นภาพ"
ว่าทำไม นายิบ บูเคเล ถึงพยายามผลักดันให้ Bitcoin เป็นสกุลเงินของประเทศ