เมื่อไม่นานมานี้มีประเด็นข่าวที่น่าสนใจ เรื่องของการปรับเกณฑ์ยกระดับตลาดหุ้นใหม่
โดยจะยกระดับการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งการรับหุ้น IPO
การเตือนนักลงทุนโดยการเพิ่มเครื่องหมาย รวมถึงเกณฑ์ฟรีโฟลท และการทำ Backdoor Listing จะไม่ง่ายเหมือนเมื่อก่อน
โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ 25 มี.ค.67 ที่จะถึงนี้
นางสาวปวีณา ศรีโพธิ์ทอง รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานกำกับตลาด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยในงาน “PressBriefing : เจาะลึกการยกระดับมาตรการกํากับดูแลบริษัทจดทะเบียน” ว่า ตลท. ได้มีการปรับปรุงเกณฑ์เพื่อยกระดับการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ทั้งกระบวนการ ตั้งแต่การเข้าจดทะเบียน การดำรงสถานะเป็นบริษัทจดทะเบียน ตลอดจนการเพิกถอน เพื่อเพิ่มคุณภาพบริษัทจดทะเบียน พร้อมทั้งเพิ่มการเปิดเผยข้อมูลและการเตือนผู้ลงทุนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเสถียรภาพให้ตลาดทุนไทย
โดยการปรับปรุงคุณสมบัติของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนทั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) โดยเพิ่มมูลค่ากำไรและส่วนของผู้ถือหุ้น เพื่อเพิ่มความแข็งแรงทั้งด้านฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียน ซึ่งจะมีผลใช้บังคับวันที่ 1 ม.ค.68 เพื่อให้บริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนและผู้ที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตามเกณฑ์ใหม่ได้
พูดง่ายๆ คือ หุ้นใหม่ที่จะเข้ามาซื้อขาย จะต้องมีคุณภาพที่มากขึ้น ไม่เน้นปริมาณ มากๆเหมือนที่ผ่านมา ...
ประเด็นสำคัญที่สุด คือ การเปิดเผยข้อมูลและการเตือนภัยให้แก่นักลงทุนด้วย
เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเสถียรภาพให้ตลาดทุนไทยได้ ซึ่งครั้งนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ปรับปรุงเกณฑ์หลักๆ 4 เรื่อง คือ
1. การเข้าจดทะเบียน IPO ที่ยากขึ้น และมีความเข้มข้นมากขึ้น
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรับเกณฑ์คุณสมบัติของบริษัทที่ต้องการจะจดทะเบียนเข้าตลาด SET และ mai โดย
- บริษัทจะต้องมีกำไรย้อนหลัง 2-3 ปีเพิ่มขึ้น สำหรับ SET จากเดิมต้องมีกำไร 30 ล้านบาท เกณฑ์ปรับใหม่จะต้องมี 75 ล้านบาท สำหรับ mai จากเดิมต้องมีกำไร 10 ล้านบาท เกณฑ์ปรับใหม่จะต้องมี 25 ล้านบาท
- บริษัทจะต้องมีส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity) เพิ่มขึ้น สำหรับ SET จากเดิมต้องมีส่วนของผู้ถือหุ้น 300 ล้านบาท เกณฑ์ปรับใหม่จะต้องมี 800 ล้านบาท สำหรับ mai จากเดิมต้องมีส่วนของผู้ถือหุ้น 50 ล้านบาท เกณฑ์ปรับใหม่จะต้องมี 100 ล้านบาท
- ปรับสัดส่วนของการถือหุ้นสำหรับนักลงทุนรายย่อย (Free Float) และหุ้นที่เสนอขาย IPO เพิ่มขึ้น โดยสำหรับ SETและ mai จากเดิมต้องมีสัดส่วนอยู่ที่ 15% ปรับเกณฑ์ปรับใหม่จะต้องมีสัดส่วนอยู่ที่ 20%
- ปรับมูลค่าหุ้นที่ชำระแล้ว (Paid Up) ลดลง สำหรับ SET จากเดิมที่ต้องมี Paid Up อยู่ที่ 300 ล้านบาท เกณฑ์ปรับใหม่ลดลงอยู่ที่ 100 ล้านบาท สำหรับ mai ต้องมี Paid Up อยู่ที่ 50 ล้านบาทเท่าเดิม
... การที่ Paid up ของ SET ถูกปรับลงไม่ได้สะท้อนเรื่องของผลประกอบการ แต่ปรับลงเพื่อรองรับบริษัทที่ไม่ได้ต้องการใช้เงินทุนมากนัก ตัวอย่างเช่น บริษัทกลุ่มเทคโนโลยีที่ไม่ได้ต้องการทุนมาก แต่สามารถสร้างกำไรได้มากนั่นเอง
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม คลิก
2. การเพิ่มเครื่องหมายกลุ่ม "C"
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยกระดับเตือนนักลงทุน กรณีที่มีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) มีปัญหาฐานะการเงิน ผลดำเนินงาน หรือสภาพคล่อง
จากเดิม บจ.ที่ถูกขึ้นเครื่องหมาย C จะใช้เพื่อเตือนนักลงทุนในกรณี บจ. มีเหตุการณ์ที่กระทบต่อฐานะการเงินและการดำเนินธุรกิจเท่านั้น
แต่รอบนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ขยายเครื่องหมาย C ย่อยออกเป็นอีก 4 ประเภทเพื่อให้นักลงทุนได้ทราบสาเหตุการขึ้นเครื่องหมายที่ชัดเจนขึ้น ประกอบไปด้วย
- เครื่องหมาย CB แสดงถึง บจ.มีส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity) น้อยกว่า 50% ขาดทุนต่อเนื่อง 3 ปีหรือหน่วยงานสั่งแก้ไขฐานะทางการเงิน
- เครื่องหมาย CS แสดงถึง ผู้ตรวจสอบบัญชีไม่แสดงความคิดเห็น
- เครื่องหมาย CC แสดงถึง บจ.ไม่ปฎิบัติตามกฏเกณฑ์
- เครื่องหมาย CF แสดงถึง บจ. ที่มีสัดส่วนของการถือหุ้นสำหรับนักลงทุนรายย่อย (Free Float) ไม่ถึง 15% หรือน้อยกว่า 150 คน และไม่จัด Opportunity Day ตามที่กำหนด
โดย เครื่องหมายตระกูล C จะถูกขึ้นเตือนไว้ให้ บจ.แก้ไข หาก บจ.ฝ่าฝืนหรือละเลยไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์ฯ จะถูกขึ้นเครื่องหมาย SP หรือห้ามซื้อขายเป็นลำดับต่อไป
และเครื่องหมายเหล่านี้จะบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค. 67
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม คลิก
3. เกณฑ์เรื่องของการเพิ่มจำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float)
ตลาดหลักทรัพย์ฯ เพิ่มเหตุเพิกถอนในกรณีที่ บจ.ไม่มีธุรกิจต่อเนื่อง 2-3 ปีและ บจ.ที่ไม่สามารถแก้ไข Free Float ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อให้นักลงทุนสามารถมั่นใจได้ว่าบริษัทจดทะเบียนมีคุณภาพเหมาะสม
4. การทำ Backdoor Listing
เพิ่มความเข้มข้นในการพิจารณาคุณสมบัติบริษัทที่เข้าจดทะเบียนโดยอ้อม (Backdoor Listing) และกรณีย้ายกลับมาซื้อขายหลังแก้ไขเหตุอาจถูกเพิกถอน (Resume Trading) ให้เทียบเท่ากับการเข้าจดทะเบียนใหม่ (New Listing) เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนมีคุณภาพใกล้เคียงกัน
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม คลิก
โดยการปรับปรุงในข้อ 2–4 จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค.67 เป็นต้นไป ทั้งนี้เกณฑ์ดังกล่าวได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องและผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. แล้ว
สำหรับการยกระดับการเตือนผู้ลงทุน ซึ่งจะเริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่ 25 มี.ค.67 โดยจะมีการเพิ่มเครื่องหมายใหม่ จากเครื่องหมาย C (Caution) เดิมในปัจจุบัน โดยแบ่งออกเป็นเครื่องหมาย CB สำหรับบจ.ที่มีปัญหาเรื่องฐานะการเงิน, เครื่องหมาย CS สำหรับบจ.ที่มีปัญหาด้านงบการเงิน, เครื่องหมาย CC สำหรับบจ.ที่ไม่ปฎิบัติตามเกณฑ์, เครื่องหมาย CF สำหรับบจ.ที่มี Free Float ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ และเครื่องหมาย NP สำหรับบจ.ที่อยู่ระหว่างกระบวนการ Backdoor Listing หรือ ไม่จัด Opp Day ภายใน 1 ปี หลังเข้าจดทะเบียน
ขณะที่เบื้องต้นประเมินว่าหากมีเพิ่มเครื่องหมายใหม่อาจจะมีบจ.ที่เข้าข่ายถูกขึ้นเครื่องหมายเพิ่มเป็น 50 บริษัท จากปัจจุบันที่มีบริษัทถูกขึ้นเครื่องหมาย C อยู่จำนวน 19 บริษัท
อย่างไรก็ตามอาจไม่ได้เห็น บจ.ถูกขึ้นเครื่องหมายครั้งเดียวในจำนวนมากๆ หลังจากมาตรใหม่มีผลบังคับใช้ เนื่องจากยังพอมีระยะเวลาในการที่ บจ. จะแก้ไข รวมถึงจะมีการทยอยขึ้นเครื่องหมายตามข้อมูลที่อัพเดต