การทำธุรกิจให้อยู่รอดและเติบโตเป็นเรื่องที่ท้าทายไม่น้อย โดยเฉพาะสำหรับตลาดที่มีการฟาดฟันกันแบบเฉือนเลือดเฉือนเนื้อหรือ Red Ocean ซึ่งสินค้าอุปโภคบริโภค (Fast-Moving Consumer Goods: FMCG) ก็เป็นหนึ่งในสินค้าที่อยู่ในตลาดดังกล่าว โดยปัจจุบันตลาด FMCG ในประเทศไทยนั้นมีการแข่งขันในระดับสูงทั้งด้านคุณภาพและราคา จากผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ
โดยเร็ว ๆ นี้ ก็กำลังจะมีบริษัท FMCG สัญชาติไทยรายใหญ่ที่ครองส่วนแบ่งทางการตลาดอันดับ 1 ในหลายกลุ่มผลิตภัณฑ์ เข้า IPO ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นั่นคือ บริษัท นีโอ คอร์ปอเรท จำกัด (มหาชน) หรือ NEO ผู้ทำการตลาด ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคชั้นนำของไทย
สำหรับนักลงทุนที่สนใจหรือติดตามการเข้าเทรดของ NEO อยู่ มาดูกันว่ามีข้อมูลอะไรบ้างที่น่ารู้เกี่ยวกับหุ้นน้องใหม่ตัวนี้
1. ครองส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับต้น ๆ
NEO ก่อตั้งขึ้นในปี 2532 ปัจจุบันทำการตลาดภายใต้แบรนด์สินค้ารวม 8 แบรนด์ ได้แก่ Eversense, TROS, Fineline, D-nee, Vivite, BeNice, Smart และ Tomi โดยสามารถครองส่วนแบ่งทางการตลาด Top 3 ในหลายผลิตภัณฑ์ เช่น TROS ผลิตภัณฑ์โคโลญสำหรับผู้ชายแบรนด์แรกในประเทศไทย ซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับที่ 1 ต่อเนื่องยาวนานกว่า 20 ปี, D-nee ผลิตภัณฑ์ซักผ้าเด็กที่เป็นผู้นำตลาดมา 5 ปีซ้อน โดยครองส่วนแบ่งทางการตลาดมากถึง 70.6% ในปี 2565
นอกจากนี้ ในหลายผลิตภัณฑ์ของ NEO ยังมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ของส่วนแบ่งทางการตลาดสูงกว่าการเติบโตของตลาดโดยรวม เช่น Fineline และ Smart ผลิตภัณฑ์ซักผ้าชนิดน้ำของบริษัทซึ่งมี CAGR ปีละ 29.8% ในช่วงปี 2561–2565 ซึ่งสูงกว่าตลาดผลิตภัณฑ์ซักผ้าชนิดน้ำที่มี CAGR อยู่ที่ปีละ 7.0% ต่อปี โดย NEO มีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 2 ในปี 2565 และยัง มี CAGR สูงกว่าของผู้ประกอบการที่มีส่วนแบ่งทางการตลาด 5 อันดับแรกอีกด้วย
2. มีธุรกิจ 3 กลุ่ม ภายใต้ 8 แบรนด์หลัก
- กลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ในครัวเรือน (Household Products): กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผ้าภายใต้แบรนด์ไฟน์ไลน์ (Fineline) และแบรนด์สมาร์ท (Smart) และกลุ่มผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดภายใต้แบรนด์โทมิ (Tomi)
- กลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล (Personal Care Products): กลุ่มผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและบำรุงผิว กลุ่มผลิตภัณฑ์ให้ความหอมและระงับกลิ่นกาย และกลุ่มผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผม ภายใต้แบรนด์บีไนซ์ (BeNice), แบรนด์ทรอส (TROS), แบรนด์เอเวอร์เซ้นส์ (Eversense) และแบรนด์วีไวต์ (Vivite)
- กลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้สำหรับเด็ก (Baby and Kids Products): กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผ้า กลุ่มผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและบำรุงผิว กลุ่มผลิตภัณฑ์ล้างภาชนะ และกลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้สำหรับเด็กอื่น ๆ ภายใต้แบรนด์ดีนี่ (D-nee)
3. ขยายธุรกิจด้วยกลยุทธ์หลัก 3 ด้าน
- กลยุทธ์ด้านการตลาด โดยให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ควบคู่กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ โดยเฉพาะการขยายผลิตภัณฑ์ไปยังกลุ่มพรีเมียมแมส (Premium Mass) และพรีเมียม (Premium) นอกจากนี้ NEO ยังกำหนดกลยุทธ์ในการเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดให้ใกล้กับผู้นำตลาดมากขึ้นสำหรับบางกลุ่มผลิตภัณฑ์ ทั้งการเพิ่มช่องทางจำหน่ายและเพิ่มความหลากหลายของบรรจุภัณฑ์เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างครอบคลุมและเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น
- กลยุทธ์ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพห่วงโซ่อุปทาน โดยพัฒนาการผลิตทุกขั้นตอนเพื่อควบคุมต้นทุน ค่าใช้จ่าย และการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่ง NEO ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เช่น การควบคุมการผลิตผ่านคอมพิวเตอร์เพื่อให้กระบวนการเป็นไปอย่างต่อเนื่องและลดความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงระบบคลังสินค้าอัตโนมัติ (Automatic Storage and Retrieval System: ASRS) ซึ่งเป็นระบบจัดเก็บสินค้าสำเร็จรูปโดยเครื่องจักรอัตโนมัติ
- กลยุทธ์การพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ซึ่ง NEO มีเป้าหมายในการสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนโดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมที่เป็นสารสกัดจากธรรมชาติ 100% หรือสูตรผลิตภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ รวมถึงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ปริมาณพลาสติกที่ลดลง เป็นต้น
4. ได้รับการยอมรับในต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของ NEO ไม่เพียงเป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภคในประเทศไทย แต่ยังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในต่างประเทศอีกด้วย โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม โดยบริษัทเริ่มทำการตลาดในต่างประเทศมาตั้งแต่ปี 2550 และมีรายได้จากการขายไปยังต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 15% ของรายได้จากการขายทั้งหมดของบริษัท (ข้อมูลปี 2563 – งวด 9 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 2566)
โดยปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโตของสินค้า FMCG ในตลาด CLMV คือ ทิศทางการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร การขยายตัวของชุมชนเมือง และการเพิ่มขึ้นของรายได้สุทธิหลังหักภาษีของประชากร ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคมีความต้องการในการเลือกซื้อสินค้า FMCG ที่มีคุณภาพและมีความหลากหลายมากขึ้น
5. ผลการดำเนินงานเติบโตต่อเนื่อง
ในส่วนของผลการดำเนินงานล่าสุดในงวด 9 เดือน ปี 2566 NEO มีรายได้จากการขาย 7,028.86 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.58% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้จากการขาย 5,977.93 ล้านบาท สอดคล้องกับกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นเป็น 689.28 ล้านบาท หรือเติบโต 124.84% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 306.56 ล้านบาท
โดยการเพิ่มขึ้นของรายได้นั้น เนื่องมาจากปริมาณการขายสินค้าโดยรวมที่เติบโตขึ้นทั้งจากผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายอยู่ในปัจจุบันและการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการสื่อสารทางการตลาดและการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจร
สำหรับการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ จำนวนเสนอขายหุ้นรวมไม่เกิน 87,500,000 หุ้น คิดเป็นไม่เกิน 29.17% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้ โดยแบ่งเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน เสนอขายโดย NEO จำนวนไม่เกิน 78,000,000 หุ้น คิดเป็นไม่เกิน 26.00% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้ และหุ้นสามัญเดิมเสนอขายโดย บริษัท เอฟเอ็นเอส โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) จำนวนไม่เกิน 9,500,000 หุ้น คิดเป็นไม่เกิน 3.17% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้
ทั้งนี้ เงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ บริษัทจะนำไปใช้ในการลงทุนในโครงการขยายกำลังการผลิตสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ในครัวเรือน ซึ่งรวมถึงการขยายคลังวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์และระบบบริหารจัดการคลัง และ/หรือ ชำระคืนเงินกู้ที่มีกับสถาบันการเงิน และ/หรือ ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ
โดยนักลงทุนสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมของ NEO ได้ที่
https://market.sec.or.th/public/ipos/IPOSEQ01.aspx?TransID=565242