#แนวคิดด้านการลงทุน

ECB ... เรื่องไกลตัว ที่ใกล้ตัว

โดย Finance Geek
เผยแพร่:
208 views

ผลการประชุมครั้งล่าสุดของธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank หรือ “ECB”) ได้ออกมาแล้วนะคะ โดยมีการปรับเพิ่มการกระตุ้นในส่วนของนโยบายทางการเงินดังต่อไปนี้ค่ะ


1. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงหลักทั้งสามตัว


a) ลดอัตราดอกเบี้ย Refinancing จาก 0.05% เป็น 0%


b) ลดอัตราดอกเบี้ย Marginal lending facility จาก 0.30% เป็น 0.25%


c) ลดอัตราดอกเบี้ย Deposit Facility จาก -0.3% เป็น -0.4%


ความหมายคือ 


ธนาคารพาณิชย์มีต้นทุนในการกู้ยืมจากธนาคารกลางที่ถูกลง และในขณะเดียวกัน ต้องเสียดอกเบี้ยให้ธนาคารกลางในจำนวนที่มากขึ้นเมื่อนำเงินส่วนเกินจากเงินสำรองตามที่กฎหมายกำหนด (Reserve Requirement) ไปฝากที่ธนาคารกลาง เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ติดลบ ยกตัวอย่างเช่น หากธนาคารพาณิชย์ต้องการฝากเงินส่วนเกินไว้ที่ธนาคารกลาง 100 บาท ธนาคารพาณิชย์ต้องเสียดอกเบี้ยให้ธนาคารกลางในการรับฝากเงินนั้น 0.4 บาท
 

เป้าหมายคือ


ต้องการกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์นำเงินมาปล่อยกู้ในระบบมากขึ้น เนื่องจากมีต้นทุนเงินที่ถูกลงในการกู้ยืมจากธนาคารกลาง และการเก็บเงินไว้ที่ธนาคารกลางเฉยๆ แทนที่จะได้ดอกเบี้ยกลับเป็นต้องเสียดอกเบี้ย

 

 


2. เพิ่มวงเงินการซื้อสินทรัพย์ในตลาด

เพิ่มวงเงินการซื้อสินทรัพย์ในตลาด (Asset Purchase Program หรือ Quantitative Easing) จาก 60 พันล้านยูโรต่อเดือน เป็น 80 พันล้านยูโรต่อเดือน


ความหมายคือ


มีความต้องการซื้อ (Demand) ตราสารหนี้ในตลาดมากขึ้น 20 พันล้านยูโรต่อเดือน


เป้าหมายคือ


กระตุ้นให้มีการกู้ยืมเงินมากขึ้น เนื่องจากต้นทุนการกู้ยืมในตลาดถูกลง เนื่องจากมีความต้องการซื้อตราสารหนี้ในตลาดมากขึ้น ทำให้ราคาตราสารหนี้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น และในขณะเดียวกันผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับ (yield) (หรือต้นทุนในการกู้ยืมของผู้ออกตราสารหนี้) ลดลง เนื่องจากผู้ลงทุนยอมจ่ายแพงขึ้นในการซื้อตราสารหนี้นั้นๆ

 

 

3. ขยายประเภทสินทรัพย์ที่ ECB จะเข้ามาซื้อในตลาด


ขยายประเภทสินทรัพย์ที่ ECB จะเข้ามาซื้อในตลาด จากเดิมที่มีแค่ พันธบัตรรัฐบาล และ Mortgage backed securities (“MBS”) โดยธนาคารกลางจะเข้ามาซื้อ ตราสารหนี้ในสกุลเงินยูโร ที่ออกโดยภาคเอกชนที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-financial) และมีความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับการลงทุนขึ้นไป (Investment Grade)


ความหมายคือ


มีผู้ซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชนหน้าใหม่ในตลาดนั่นก็คือ ECB


เป้าหมายคือ


กระตุ้นให้ภาคเอกชนกู้ยืมเงินมากขึ้น เนื่องจากแนวโน้มของต้นทุนในการกู้ยืมที่ถูกลง รวมถึงการเพิ่มขอบเขตสินทรัพย์ที่ ECB จะเข้ามาซื้อในตลาด ซึ่งจะลดปัญหาจำนวนพันธบัตรรัฐบาล และ MBS ที่อาจจะไม่เพียงพอในระยะยาว หาก ECB ยังคงเข้ามาซื้อในจำนวนเงินที่มากขนาดนี้ในแต่ละเดือน

 

 

4. กระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์ไปปล่อยกู้ต่อในระบบ
 

ออกแผนการ Target Long-term Refinancing Operations รอบใหม่ (“TLTRO II”) กระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์รับเงินกู้ยืมจากธนาคารกลางไปปล่อยกู้ต่อในระบบ


ความหมายคือ


ธนาคารกลางจะเสนอเงินกู้ซึ่งมีอายุสี่ปี ให้ธนาคารพาณิชย์ เป็นเวลาทุกๆสามเดือน ไปจนถึงเดือนมีนาคมปีหน้า โดยธนาคารพาณิชย์จะได้รับผลตอบแทนจากการรับเงินกู้ก้อนนั้น เมื่อนำไปปล่อยกู้ต่อด้วย


เป้าหมายคือ


เพิ่มแรงจูงใจให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยเงินกู้มากขึ้น เนื่องจากได้รับเงินกู้จาก ECB รวมถึงผลตอบแทนพิเศษจากการรับเงินก้อนนั้น เมื่อนำไปปล่อยกู้ต่อ

 


จะเห็นได้ว่าเป้าหมายของแต่ละนโยบายก็จะคล้ายๆกันนะคะ คือกระตุ้นการกู้ยืม ซึ่งจะช่วยพัฒนาการลงทุน และการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจ และการเพิ่มเงินในระบบมากขึ้น เป็นการเพิ่มสภาพคล่อง และช่วยกระตุ้นเงินเฟ้อ เนื่องจากการมีเงินในระบบมากขึ้น จะส่งผลให้ราคาสินทรัพย์เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะผลให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นตามไปค่ะ


นโยบายการกระตุ้นใหม่ที่ออกมาในวันนี้ ส่วนตัวคิดว่าค่อนข้างที่จะ aggressive มากกว่าที่ตลาดคาดหวังค่ะ ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นอาจเนื่องมาจาก ตัวเลขการเติบโตและเงินเฟ้อล่าสุดที่น่าผิดหวังในยุโรป รวมถึงการที่ Mario Draghi (President ของ ECB) อาจได้เรียนรู้จากผลกระทบที่ได้รับ จากการออกนโยบายกระตุ้นที่น้อยกว่าตลาดคาดหวังในการประชุมครั้งก่อนหน้านี้ ในเดือนธันวาคม ปีที่ผ่านมา


ผลที่เกิดขึ้นทันทีหลังจากการประกาศนโยบายการกระตุ้นใหม่นี้ ก็คือ ค่าเงินยูโรอ่อนลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวสูงขึ้น แต่หลังจาก Draghi ได้ออกมาแถลงการณ์ และกล่าวประโยคเด็ดว่า จากมุมมองในวันนี้ และการพิจารณาผลตอบรับในนโยบายกระตุ้นการเติบโตและเงินเฟ้อ เราคาดว่าไม่มีความจำเป็นที่จะลดอัตราดอกเบี้ยต่อไปอีก (“From today’s perspective and taking into account the support of our measures to growth and inflation, we don’t anticipate that it will be necessary to reduce rates further.”)


ผลที่เกิดขึ้นตามมาทันทีคือ ค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยแข็งค่าขึ้นไปมากกว่ามูลค่าตอนตลาดเปิด ก่อนที่ ECB จะประกาศนโยบายการกระตุ้นใหม่เสียอีก


ตลาดหุ้นยุโรปปิดวันติดลบไปเล็กน้อย ในขณะที่ตลาดหุ้นอเมริกามีความผันผวนมากในวันนี้ โดยเฉพาะ Dow Jones ที่ขยับไปเกือบ 300 จุด ก่อนที่จะปิดไปที่ลบเล็กน้อย ในขณะที่ S&P ปิดไปที่บวกเล็กน้อย

 

สรุป


ทั้งนี้ทั้งนั้นแล้ว เราต้องดูไปอีกสักพักค่ะ ว่านโยบายการกระตุ้นใหม่ของ ECB นี้ จะช่วยกอบกู้ยุโรปได้ขนาดไหน นอกจากนี้แล้ว เราต้องมารอดูกันต่อในสัปดาห์หน้าค่ะ ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) และ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) จะมีการประชุมครั้งถัดไป เราจะได้รู้ว่าธนาคารกลางทั้งสองจะมีการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายการเงินอย่างไรบ้าง และจะมีผลกระทบอย่างไรบ้างกับตลาดการเงินโลก

 


เจ้าของเพจ Finance Geek นำเสนอบทความแนววิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจโลก กระแส Fund Flow ที่ส่งผลกระทบถึงตลาดหุ้นไทยและนักลงทุนไทย รวมถึงเปรียบเทียบการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆเช่น หุ้น ทอง น้ำมัน และ Commodity อื่นๆ ในภาษาที่เป็นเข้าใจง่ายทั้งสำหรับเพื่อนๆที่เล่นหุ้น ทั้งมือใหม่และมือเก๋า

Finance Geek ปัจจุบันทำงานให้กับสถาบันการเงินชื่อดังแห่งหนึ่ง ที่เมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยปัจจุบันยังเป็น CFA (Chartered Financial Analyst)  และ CAIA (Chartered Alternative Investment Analyst) อีกด้วย

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง