ในส่วนของ "บัญชี" จะประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ
1. งบดุล
2. งบกำไร-ขาดทุน
3. งบกระแสเงินสด
ดูเหมือนว่า "งบกระแสเงินสด" (Cashflow Statement)จะเป็นงบที่นักลงทุนมองว่าอ่านยากที่สุด
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าเราเข้าใจ "ทริค" ในการอ่าน ก็พอจะจับใจความสำคัญได้ว่า กระแสเงินสดของบริษัทเป็นอย่างไร
.
งบกระแสเงินสด คือ ส่วนที่แสดงถึงรายรับรายจ่ายของเงินสดหรือเทียบเท่าเงินสด ในช่วงเวลาหนึ่ง ขึ้นอยู่กับว่าเป็นงบประเภทไหน เช่น 1 ไตรมาส หรือ 1 ปี
คำถาม คือ เราดูแต่งบกำไร - ขาดทุน อย่างเดียวไม่ได้ หรือ ?
คำตอบ คือ ได้ครับ แต่อาจจะไม่ละเอียดเท่างบกระแสเงินสด
หมายความว่า บริษัทมีการบันทึกรายได้ และค่าใช้จ่าย ด้วยหลักการทางบัญชีจริงๆ
แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมี "เงินสด" เข้าออกจากบริษัทจริงๆในการทำธุรกิจ
.
ดังนั้น งบกระแสเงินสด จึงจำเป็นมากที่จะต้องอ่านควบคู่กับงบกำไร - ขาดทุน
เพราะหลายๆครั้งบริษัทสร้างกำไรได้มากๆ แต่ก็อาจจะประสบปัญหากับสภาพคล่องได้เหมือนกัน เพราะไม่มีกระแสเงินสดเข้าบริษัท
.
ตัวอย่างเช่น ร้านค้าปลีกแห่งหนึ่ง
ขายได้เดือนละ 1 แสนบาท และมีต้นทุนสินค้า 4 หมื่นบาท
เท่ากับว่า บริษัทจะมีกำไร 6 หมื่นบาท ซึ่ง 6 หมื่นบาทจะเป็นกระแสเงินสด "รับ" เข้ามาทันที
กับอีกกรณีหนึ่ง บริษัทขายวัสดุก่อสร้าง
ขายสินค้าได้ 1 แสนบาท และมีต้นทุนสินค้ารับมา 4 หมื่นบาท ซึ่งผู้ที่ซื้อสินค้าสัญญาว่า อีก 30 วันข้างหน้าค่อยมาจ่ายเงิน
ในทางงบกำไร - ขาดทุน จะบันทึกทันทีว่าบริษัท "กำไร 6 หมื่นบาท"
แต่ในงบกระแสเงินสด จะไม่ได้บันทึกเอาไว้ และจะบันทึกอีกทีในอีก 30 วันข้างหน้าว่ามีเงินสดเข้าบริษัท
จาก 2 ตัวอย่างข้างต้น จะเห็นว่าบริษัทหนึ่งมีเงินสดทันที
ในขณะที่อีกบริษัทมีเงินสดเข้ามาในอีก 1 เดือนข้างหน้า และไม่ได้มีเงินสดเข้าบริษัทในทันที ...
.
นี่คือความสำคัญของงบกระแสเงินสด
บางบริษัท มีกำไรมาก แต่เงินสดไม่ได้เข้าบริษัทก็อาจจะเกิดปัญหาสภาพคล่องไม่เพียงพอ
บางบริษัท ขาดทุน แต่มีเงินสดเข้าบริษัท ก็ยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
.
โดยปกติแล้ว งบกระแสเงินสด จะประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ
1. กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัท หรือ Cashflow from Operations
คือ เงินสดเข้าบริษัท "หรือ" ออกจากบริษัท จากการดำเนินงานของบริษัท เช่น เงินจากการขายสินค้าและการให้บริการ การจ่ายเงินเดือน ต้นทุน ค่าเช่าที่
.
โดยปกติแล้ว ค่าตรงนี้ควรเป็น "บวก" เพราะบ่งบอกว่า บริษัทยิ่งขยัน ก็ยิ่งกำไร
ในทางกลับกัน ถ้าตรงนี้เป็น "ลบ" แสดงว่ายิ่งขยัน ก็ยิ่งขาดทุน ควรหลีกเลี่ยง
และจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ถ้ากระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ใกล้เคียงกับ "กำไรสุทธิ" ของบริษัท
.
2. กระแสเงินสดจากการลงทุนของบริษัท หรือ Cashflow from Investing
คือ เงินสดเข้าบริษัท "หรือ" ออกจากบริษัท จากการลงทุนของบริษัท เช่น เงินฝากธนาคาร การลงทุนในบริษัทย่อย ปันผลรับ
.
โดยปกติแล้ว ค่าตรงนี้ควรเป็น "ลบ" เพราะการจะเติบโตในปีต่อๆไปได้ บริษัทจำเป็นจะต้องลงทุนเพิ่ม
ถ้าค่าตรงนี้เป็น "บวก" แสดงว่าบริษัทมีการขายทรัพย์สินที่จับต้องได้ออกไป ซึ่งถ้าบริษัทเป็นปกติคงจะไม่คิดขายสินทรัพย์ที่สร้างรายได้ให้กับบริษัท
ดังนั้น ถ้าค่าตรงนี้เป็นบวก เราอาจจะต้องไปดูว่าทำไมถึงเป็นบวก ...
.
3. กระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงิน หรือ Cashflow from Financing
คือ เงินสดเข้าบริษัท "หรือ" ออกจากบริษัท จากเรื่องของการจัดหาเงินด้วยต่างๆไม่ว่าจะเป็น การกู้แบงก์ ออกหุ้นกู้ การชำระเงินกู้
.
โดยปกติแล้ว ค่าตรงนี้ควรเป็น "ลบ" เพราะบ่งบอกว่าบริษัทจ่ายเงินปันผลออกมา หรือมีการคืนหนี้เงินกู้ ทำให้บริษัทมีเงินกู้ลดลง จ่ายดอกเบี้ยน้อยลงในระยะถัดไป (ค่าตรงนี้เลยเป็นลบ)
ถ้าค่าตรงนี้เป็นบวก แสดงว่าบริษัทมีการกู้เงินเพิ่ม เป็นหนี้เพิ่มมากขึ้น
และการเป็นหนี้ก็ไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป เพราะการกู้เงินก็อาจจะเป็นการสร้างการเติบโตได้เหมือนกัน
ดังนั้น นักลงทุนอาจจะตีความว่า เป็นบวกก็ได้ เป็นลบก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร
.
สรุปแล้ว การดูงบกระแสเงินสดเป็นเรื่องของศิลปะมากกว่าที่จะไปเจาะลึกในเรื่องของตัวเลข โดยส่วนใหญ่แล้วขอให้กระแสเงินสดจากการดำเนินงานเป็นบวก และกระแสเงินสดจากการลงทุนเป็นลบ ก็ถือว่ารับได้ครับ