ต้องยอมรับว่าปี 2566 ไม่ใช่ปีที่ดีเท่าไรนักสำหรับตลาดหุ้นไทย รวมถึงหุ้น IPO ที่เข้ามาในตลาด
แต่สำหรับปี 2567 นับเป็นปีมังกรทอง ที่หุ้น IPO ขนาดใหญ่จำนวนมาก ศักยภาพสูงเดินตบเท้าเข้าตลาดหุ้นไทย ให้คนไทยได้เป็นส่วนหนึ่งของบริษัท
คำถาม คือ ด้วยหุ้น IPO ที่มีอยู่มากมาย หุ้นตัวไหนน่าสนใจที่สุด
ทางทีมงาน Stock2morrow ได้คัดเลือก 7 หุ้น IPO ที่น่าจับตามองด้วยศักยภาพธุรกิจที่มีการเติบโต มาให้นักลงทุนรู้จักกัน
มาดูกันว่า 7 หุ้น มีหุ้นอะไรที่น่าสนใจบ้าง ?
1. ADVICE ค้าปลีกส่งสินค้าไอทีรายใหญ่ของไทย
ในวงการไอที เชื่อว่าต้องรู้จัก ADVICE หรือ บริษัท แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท จำกัด (มหาชน)
ร้านขายสินค้าไอที "แอดไวซ์" ภายใต้โลโก้สีฟ้าที่เด่นสะดุดตาอย่างแน่นอน
บริษัททำธุรกิจจำหน่ายปลีก-ส่งสินค้าไอที เช่น คอมพิวเตอร์ประกอบ คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค คอมพิวเตอร์เดสก์ท็อป และอุปกรณ์เสริมต่างๆ รวมถึงสินค้ากลุ่มสมาร์ทโฟนและเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ผ่านช่องทางสาขาและช่องทางออนไลน์ และให้บริการหลังการขายที่เกี่ยวเนื่องแบบครบวงจร
การเข้าระดมทุน IPO จะมี หุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 170,000,000 หุ้น (คิดเป็นร้อยละ 27.42 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วหลัง IPO)
ด้วยราคาพาร์ 0.5 บาทต่อหุ้น โดยมีที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
เชื่อว่าการเข้าตลาดของ ADVICE ต้องได้รับการตอนรับอย่างดีจากนักลงทุนอย่างแน่นอน
เพราะเป็นร้านค้าที่นักลงทุนรู้จักกันเป็นอย่างดี ไม่แพ้รุ่นพี่อย่าง COM7 ประเด็นที่สำคัญ คือ ช่องว่างของการเติบโตยังมีอยู่อีกมาก ที่นักลงทุนต้องจับตาอย่างใกล้ชิดครับ
2. JPC ผู้นำในธุรกิจแฟชั่นไลฟ์สไตล์ ที่มีความหลากหลายและเติบโตอย่างสม่ำเสมอ
หุ้น JPC อาจจะไม่คุ้นเท่าไรนัก แต่ถ้าบอกว่า นี้คือ "ยัสปาล" (JASPAL) ผู้บริโภคต้องร้อง "อ่อ" กันอย่างแน่นอน
เพราะถือเป็นผู้นำแวดวงแฟชั่นมาอย่างยาวนาน ภายใต้แบรนด์สัญชาติไทย โดยกลุ่มตระกูล "สิงห์สัจจเทศ"
บริษัททำธุรกิจค้าปลีกเสื้อผ้า สินค้าแฟชั่น และสินค้าไลฟ์สไตล์อื่นๆ และผลิตและจัดจำหน่ายที่นอน เครื่องนอน ของตกแต่งบ้าน และเฟอร์นิเจอร์
แบรนด์ที่รู้จักกันเป็นอย่างดี เช่น JASPAL , CC Double O
รวมถึงธุรกิจเครื่องนอนคุณภาพสูง ได้แก่ Santas, Stevens และ Sealy
การเข้าระดมทุน IPO จะมีหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวนรวมไม่เกิน 156,000,000 หุ้น คิดเป็นร้อยละไม่เกิน 26.0 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วหลัง IPO
ที่ราคาพาร์ 0.5 บาทต่อหุ้น โดยมีที่ปรึกษาทางการเงิน คือ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
ถือเป็นอีกหนึ่งหุ้น IPO ที่น่าจับตามอง อย่างมากในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกสินค้าแฟชั่น ในปี 2567 นี้ครับ
3. CREDIT ผู้ให้บริการสินเชื่อนาโนและไมโครที่กำลังเติบโตเร็วมากในปัจจุบัน
นานๆจะเห็นหุ้นกลุ่มการเงินเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทย เป็นธรรมดาที่นักลงทุนจะจับตามองกัน
และหนึ่งในหุ้น IPO สุดร้อนแรงและโตเร็วมากที่สุดตัวหนึ่ง จะต้องเป็นหุ้น CREDIT หรือ ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) อย่างไม่ต้องสงสัย
บริษัททำธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่มุ่งเน้นการให้บริการสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการรายย่อยและลูกค้าบุคคล โดยผลิตภัณฑ์สินเชื่อหลักที่ให้บริการ ได้แก่ สินเชื่อธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี (Micro SME) สินเชื่อนาโนและไมโครเครดิตเพื่อคนค้าขาย (Nano and Micro Finance) และสินเชื่อบ้านที่ให้แก่ลูกค้าบุคคล
การเข้าระดมทุน IPO จะมีจำนวนไม่เกิน 347,029,122 หุ้น คิดเป็นไม่เกิน 28.2% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมด ซึ่งประกอบด้วย
1. หุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวนไม่เกิน 64,705,890 หุ้น
2. หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย OCA Investment Holdings I Pte. Ltd. จำนวนไม่เกิน 282,323,232 หุ้น
ที่ราคาพาร์ 5 บาทต่อหุ้น โดยมีที่ปรึกษาทางการเงิน คือ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)
ประเด็นสำคัญ คือ CREDIT ถือเป็น IPO ธนาคารในรอบ 10 ปี ของตลาดหุ้นไทยเลยทีเดียว
4. CPFGS ธุรกิจอาหารที่น่าจับตาของเครือ CP
ถ้าถามว่าหุ้นอะไรที่น่าจับตามากที่สุดทั้งหมด 7 ตัวนี้
คำตอบน่าจะเป็นหุ้น CPFGS หรือ บริษัท ซีพีเอฟ โกลบอล ฟู้ด โซลูชั่น จำกัด (มหาชน)
บริษัททำธุรกิจการค้าผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์อาหารในประเทศไทยและต่างประเทศ รวมถึงกิจการร้านอาหารและขนมสัตว์เลี้ยง
การเข้าระดมทุน IPO จะมีจำนวนไม่เกิน 500,010,000 หุ้น (คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 30% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการออกและเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรกนี้) ซึ่งประกอบด้วย
1. หุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายโดยบริษัทฯ ไม่เกิน 66,700,000 หุ้น
2. หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย CPF ไม่เกิน 316,655,000 หุ้น
และ 3. หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย CPM ไม่เกิน 116,655,000 หุ้น
ที่ราคาพาร์ 0.5 บาทต่อหุ้น
CPFGS มีที่ปรึกษาทางการเงิน คือ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน)
ถือเป็นอีก 1 หุ้น IPO ที่น่าจับตาอย่างมากของปีนี้
5. NEO สินค้า Consumer Products เบอร์ 1 ในตลาด FMCG ที่ปรับตัวและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา
สินค้า Consumer Products ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ยากมากที่จะอยู่ในตลาดได้
ยกเว้นแต่ว่าบริษัทมีความแข็งแกร่งในแบรนด์ และโปรดักส์ก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ NEO หรือ บริษัท นีโอ คอร์ปอเรท จำกัด (มหาชน)
บริษัทประกอบธุรกิจ ผลิต ทำการตลาด และจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภค (Consumer Products) ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ในครัวเรือน (Household Products) กลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล (Personal Care Products) และกลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้สำหรับเด็ก (Baby and Kids Products)
ตัวอย่างแบรนด์ ที่เราคุ้นหูกันเป็นอย่างดี เช่น Fineline, D-nee, BeNice, Eversense, TROS, Vivite, Smart และ Tomi
การเข้าระดมทุน IPO จะมีจำนวนไม่เกิน 78,000,000 หุ้น คิดเป็นไม่เกินร้อยละ 26 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วหลัง IPO
ที่ราคาพาร์ 1 บาทต่อหุ้น โดยมีที่ปรึกษาทางการเงิน คือ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด
ประเด็นที่น่าสนใจ คือ รายได้ของ NEO มีการกระจายตัวไปยังต่างประเทศมากถึง 16 ประเทศ
โดยมีตลาดหลัก ได้แก่ ในกลุ่ม CLMV (เวียดนาม กัมพูชา ลาว เมียนมา) ตะวันออกกลาง
NEO ถือเป็นหุ้น IPO ในปี 2567 ที่นักลงทุนต้องจับตากันเป็นอย่างยิ่งครับ
6. TURBO สตาร์ทอัพการเงินเล็กๆสู่ "มหาชน" ขนาดใหญ่
รู้หรือไม่ว่าในปัจจุบันยังมีคนอีกมากที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน ของธนาคารพาณิชย์ หรือสามารถเข้าถึงแต่ได้รับบริการไม่ครบถ้วน
"เงินเทอร์โบ" มีจุดเริ่มต้นจากการพยายามแก้ปัญหาให้กับกลุ่มคนเหล่านั้น โดยจุดเริ่มต้นมาจากการให้บริการธุรกิจสินเชื่อ และธุรกิจนายหน้าประกันภัย ต้ังแต่ปี 2560
จนกระทั่งการขยายสาขา 892 สาขา กระจายอยู่ในพื้นที่ 52 จังหวัดทั่วประเทศ
และมี กลุ่มธนาคารกสิกรไทยได้เข้ามาลงทุนเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ในช่วงปลายปี 2565
บริษัทประกอบธุรกิจให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลมีทะเบียนรถเป็นประกัน สินเชื่อโฉนดที่ดิน และสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ โดยใช้ชื่อทางการค้า “เงินเทอร์โบ” ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท. ตลอดจนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ได้แก่ นายหน้าประกันภัยและนายหน้าประกันชีวิต
การเข้าระดมทุน IPO จะมีจำนวนรวมไม่เกิน 537,000,000 หุ้น คิดเป็นไม่เกิน 20.10% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมด ซึ่งประกอบด้วย
1. หุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายโดยบริษัท จำนวนไม่เกิน 447,780,000 หุ้น
2.หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย บริษัท กสิกร วิชั่น จำกัด (KVISION ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทของ KBANK) จำนวนไม่เกิน 89,220,000 หุ้น
ที่ราคาพาร์ 0.5 บาทต่อหุ้น โดยมีที่ปรึกษาทางการเงิน คือ ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน)
ประเด็นที่น่าสนใจ คือ การเข้ามาถือหุ้นของ KBANK แสดงให้เห็นว่า "TURBO" มีความไม่ธรรมดาอยู่ในตัว
ถือเป็นหุ้นกลุ่มการเงินที่เติบโตเร็ว และนักลงทุนต้องจับตาให้ได้ในปี 2567 ครับ
7. MAGURO ร้านอาหารสไตล์ญี่ปุ่น เกาหลี ที่เจาะตลาด Premium - Mass
ปิดท้ายด้วยหุ้นขนาดเล็กใน MAI แต่ศักยภาพไม่ได้เล็กตามอย่าง MAGURO หรือ บริษัท มากุโระ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
กับธุรกิจอาหารร้านอาหารสไตล์ญี่ปุ่นและเกาหลี ตั้งแต่ร้านซูชิ ร้านปิ้งย่างเกาหลี ร้านชาบูสุกียากี้แบบตามสั่งในราคาที่คุ้มค่า
บริษัทประกอบธุรกิจร้านอาหารระดับ Premium - Mass ภายใต้แบรนด์ "MAGURO" "SSAMTHING TOGETHER" และ "HITORI SHABU" รวมถึงให้บริการจัดส่งอาหาร และรับจัดเลี้ยงนอกสถานที่
การเข้าระดมทุน IPO จะมีจำนวน 71,000,000 หุ้น ประกอบด้วย
1. หุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายโดยบริษัทฯ ไม่เกิน 52,000,000 หุ้น
2. หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย SIMAT ไม่เกิน 19,000,000 หุ้น
ที่ราคาพาร์ 0.5 บาทต่อหุ้น โดยมีที่ปรึกษาทางการเงิน คือ บริษัท ดิสคัฟเวอร์ แมเนจเม้นท์ จำกัด
โดยส่วนใหญ่ธุรกิจร้านอาหารในตลาดหุ้นไทยจะเป็นแบบลักษณะ "พรีเมี่ยม" มีไม่บ่อยนักที่จะเจาะตลาดลักษณะ "แมส"
แต่สำหรับ มากุโระ กรุ๊ป ถือว่ามีความน่าสนใจในร้านอาหารสไตล์ญี่ปุ่นและเกาหลี ที่มีตลาดหลายระดับ ไม่ว่าจะเป็นพรีเมี่ยม หรือเจาะตลาดแมส ภายใต้คอนเซ็ปต์ "Give More Culture"
ถึงแม้ว่าจะเป็นหุ้นขนาดเล็ก แต่เชื่อว่าศักยภาพของธุรกิจไม่ได้เล็กตามอย่างแน่นอนครับ
MAGURO จะเป็นหุ้น MAI ทื่นักลงทุนให้ความสนใจอย่างมากแน่นอน