#แนวคิดด้านการลงทุน

มูลค่าหุ้น เปลี่ยนไปตามสมมติฐานด้วย

โดย อธิป กีรติพิชญ์
เผยแพร่:
685 views

หนึ่งในหลักการสำคัญของการลงทุนแบบปัจจัยพื้นฐาน คือ การหามูลค่าที่แท้จริงของกิจการ (Intrinsic Value) เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับราคาหุ้นในปัจจุบัน กฏของเกมคือ ก่อนจะลงทุนในหุ้นตัวใด ต้องประเมินมูลค่าที่แท้จริงออกมา แล้วตัดสินใจซื้อหุ้น ก็ต่อเมื่อราคาบนกระดานต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง จึงนับเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า

 

อย่างไรก็ตาม เรื่องของการประเมินมูลค่าหุ้นเพื่อหามูลค่าที่แท้จริง ถ้าเอานักลงทุนมาร้อยคนประเมินมูลค่าหุ้นตัวเดียวกัน โดยไม่ลอกกัน รับรองว่าจะได้ตัวเลขที่ต่างกันหนึ่งร้อยค่า เพราะมุมมองต่อสินทรัพย์ มุมมอง ต่อธุรกิจ มุมมองต่ออัตราการเติบโต และความเข้าใจในเนื้อแท้ของธุรกิจของแต่ละคนย่อมมีไม่เท่ากัน ทำให้การใส่สมมติฐานตัวเลขต่างๆมีความแตกต่างกันได้ ต่อให้เป็นนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ผู้มีใบอนุญาต เข้าฟังประชุมนักวิเคราะห์กับผู้บริหาร ก็ยังได้ค่าที่แตกต่างกันอยู่ดี ลองไปเปิดดูบทวิเคราะห์หุ้นใน SAA Consensus ที่แสดงไว้ใน www.settrade.com ของหุ้นแต่ละตัวดูก็จะเห็นชัดเจน  

 

ดังนั้น งานหลักของนักลงทุน คือ การศึกษากิจการผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพและเชิงปริมาณจนเข้าใจถ่องแท้ เพื่อที่พอจะสามารถคำนวณหามูลค่าที่แท้จริงของกิจการออกมาได้ จากนั้นก็เพียงรอจนถึงจุดที่เส้นราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง จึงเข้าซื้อหุ้น

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับปี 2566 นี้ นักลงทุนหลายๆท่านคงจะพบว่า ตลาดหุ้นไทย SET Index ให้ผลตอบแทนที่ย่ำแย่ -17% นับจากต้นปี (นับถึงวันที่ 8 ธ.ค. 2566) มุมมองของตลาดหุ้นไทย ตอนต้นปี 66 กับปลายปี 66 ต่างกันราวฟ้ากับเหว นักวิเคราะห์มีการปรับประมาณการกำไรของ SET EPS ลง (EPS downgrade) ซึ่งหุ้นใหญ่หลายๆตัวก็ถูกปรับลดคาดการณ์กำไรลงเช่นกัน แน่นอนว่าการประเมินราคาเป้าหมายของนักวิเคราะห์ก็จะถูกปรับลดลงด้วยเช่นกัน จำไว้ว่า สมมติฐานต่อการเติบโตในอนาคตที่แย่ลง จะส่งผลต่อมูลค่าหุ้นที่คำนวณได้เสมอ เช่น 

 

  • นักลงทุนสายปัจจัยพื้นฐานคนหนึ่ง ทำการบ้านมาอย่างหนัก เพื่อหา Good Stock (หุ้นดี) สมมติว่าเจอละ ชื่อหุ้น X  
  • เราจะพบความจริงที่น่าประหลาดใจว่า คนที่ลงทุนในหุ้น X แม้ว่าจะอยู่ในช่วงตลาดหุ้นเดียวกัน ระยะเวลาการลงทุนต่างกันไม่เกิน 6-9 เดือน แต่ผลตอบแทนของการลงทุนสามารถแตกต่างกันระหว่างสวรรค์ชั้น 7 กับขุมนรกชั้น 6 ได้ ด้วยความที่หุ้น X ใครๆก็รู้ว่าพื้นฐานดี ราคาหุ้นอาจจะยืนแข็ง ยันความแย่ของตลาดได้นาน 
  • ช่วงต้นปี ... นาย A วัดมูลค่าหุ้นได้ที่ 13 บาท จึงตัดสินใจเข้าซื้อ หุ้น X สมมติที่ราคา 10 บาท เทรดที่ระดับ P/E ที่หุ้นตัวนี้เคยเทรดอยู่ แบบนี้ถือว่านาย A ทำตามหลักการ โดยเข้าซื้อหุ้นที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง(ที่คำนวณได้ในช่วงต้นปี 66) 
  • เวลาผ่านไป 10 เดือน ผลคือ ตลาดหุ้นที่ลง -17% ในรอบปี หุ้นใหญ่ทยอยราคาปรับตัวลดลง แตกพ่ายไปทีละตัว แล้ววันนึง...ก็ถึงคราวของหุ้น X ราคาหุ้นทยอยปรับลดลงมา -30% 
  • ช่วงปลายปี... นาย B วัดมูลค่าหุ้น X ได้ที่ 10 บาท จึงตัดสินใจเข้าซื้อ หุ้น X สมมติที่ราคา 7 บาท ค่า P/E ที่เทรดอยู่ปรับลดลงมามาก แบบนี้ก็ถือว่านาย B ทำตามหลักการ โดยเข้าซื้อหุ้นที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง(ที่คำนวณได้ในช่วงปลายปี 66) 

 

หุ้น X ตัวเดียวกัน ซื้อปีเดียวกัน ต่างกันที่ต้นปีกะท้ายปี ต้นทุนต่างกัน 30% ... ถ้าราคา 10 บาท คือ fair value แปลว่านาย A มีหุ้น X ที่ราคาแบบไม่มี MOS (margin of safety) แต่นาย B ซื้อที่ราคาแถม MOS มาให้ 30%  

 

ซื้อ Good Stock เหมือนกัน แต่ราคาทึ่นาย B ซื้อได้ มัน Better Price กว่า 

ดังนั้นโอกาสที่นาย B จะได้กำไร มีมากกว่านาย A แน่นอน 

 

ทั้งที่นาย A อาจจะคิดคำนวณมาอย่างดีและถี่ถ้วนแล้ว แค่จังหวะ ภาวะตลาด ฟันโฟลว์ ความนิยม ผลประกอบการแย่ชั่วคราว สงคราม นโยบายภาครัฐ ฯลฯ ระหว่างทางที่ถือหุ้น X เจอสารพัดปัจจัยแทรกซ้อน กลายเป็นติดหุ้น X ที่ -30% 

 

บางครั้ง โลกการลงทุนก็แบบนี้ หน้าที่ของนักลงทุนคือ การติดตามข้อมูล งบการเงิน outlook ของบริษัท เพื่อนำมาตรวจสอบสมมติฐานต่างๆที่เราเคยใส่เอาไว้ตอนต้นปี ว่ายังดีอยู่ไหม เพื่อการตัดสินใจ ซื้อ ถือ ถัว คัท ปรับพอร์ต อย่างมีประสิทธิภาพ 


เจ้าของหนังสือ Best Seller “ติวหุ้น รวยด้วยวีไอ” และยังเป็นวิทยากรคอร์ส “ลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐานแบบ Value/Growth Investor” ด้วยประสบการณ์ในตลาดทุนกว่า 17 ปี และประสบการณ์ในการเป็นติวเตอร์ บวกกับความเป็นคนอารมณ์ขัน  ทำให้คุณนิ้วโป้งสามารถถ่ายทอดเรื่องยาก อย่างการลงทุน ให้เข้าใจได้ง่าย และยังใช้ภาษา ลีลาที่มีเอกลักษณ์น่าสนใจอย่างยิ่ง จึงทำให้ได้รับเชิญไปบรรยายในงานต่างๆ มากมาย

Facebook

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง