เมื่อไม่นานมานี้ Bloomberg รายงานว่า ตลาดหุ้นไทยกำลังเข้าสู่สภาวะ "ตลาดหมี" หรือ Bear Market
ทำให้นักลงทุนบางกลุ่มสงสัยว่า ตลาดหุ้นไทยน่าจะเป็นหมี "นานแล้ว" ไม่ใช่พึ่งมาเป็นตลาดหมี
ถ้าเรากลับไปดูนิยามของคำว่าตลาดหมีจริงๆ ก็จะเข้าใจว่าทำไมต่างชาติถึงมองเราแบบนั้น ?
จากนิยาม What Is a Bear Market? : Invest during a bear market ของบทความจากเว็บไซด์ The Motley Fool
ได้กล่าวไว้ถึงความแตกต่างระหว่าง "การปรับฐาน" และ "ตลาดหมี" ไว้ว่า
การปรับฐานคือการที่ตลาดหุ้นลงประมาณ 10% จากจุดสูงสุด
ถ้าลงมากกว่า 20% เราจะเรียกสภาวะตลาดนั้นว่าตลาดหมีหรือ "Bear Market" นั่นเอง

ในปี 1900 จนถึงปี 2013 ตลาดหุ้นนิวยอร์คมีการปรับฐานลงมากถึง 10 % แต่ไม่ถึง 20% มีมากถึง 123 ครั้ง และมี 32 ครั้งที่เราเรียกว่าสภาวะตลาดหมี คือหุ้นลงมากกว่า 20%
ข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือ หลังจากสภาวะตลาดหมี มักจะตามมาด้วยตลาดกระทิง หรือ Bull Market แทบจะทุกครั้ง และทำจุดสูงสุดใหม่เสมอ
เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ที่จุดสิ้นสุดของสภาวะตลาดหมี การถือหุ้นของนักลงทุนรายย่อยมีสัดส่วนน้อยลงมากไม่ว่าจะเป็นหุ้นสามัญ หรือกองทุนรวม
ดังนั้น นักลงทุนรายย่อยจะไม่ได้รับผลประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่าไรนักจากสภาวะตลาดกระทิงที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้น
Bloomberg แสดงความคิดเห็นว่า ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์จนถึงตอนนี้ หุ้นไทยร่วงไปแล้วเกือบ -20%
สวนทางกับตลาดหุ้นทั่วโลกที่ปรับตัวขึ้นได้ประมาณ +16.1% YTD
สาเหตุหลักมาจากหลายประการด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น
1. ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่หายไป
2. ปริมาณการซื้อขายที่เบาบางลงเรื่อยๆ
3. สัดส่วนการ Short Sell และ การซื้อขายผ่าน Program Trade เข้ามามีบทบาทอย่างมีนัยสำคัญ
4. นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะตั้งแต่เข้าเดือนธันวาคมมานี้ ปริมาณซื้อขายหุ้นไทยเบาบางมาก เหลือเพียง 3.76 หมื่นล้านบาทต่อวัน ซึ่งคิดเป็น Turnover 54% ต่อปี
ต่ำสุดเมื่อเทียบกับทุกเดือนที่มีปริมาณซื้อขายเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 5.17 หมื่นล้านบาทต่อวัน
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ปริมาณซื้อขายต่ำสุดในรอบ 100 วัน อยู่ที่ 3.5 หมื่นล้านบาท ลดลงมากถึง 24.7% จากค่าเฉลี่ยมูลค่าซื้อขาย
และถือว่าน้อยที่สุดในเอเชียอีกด้วย
นอกจากนี้ การ Short Sell ก็มีบทบาทสำคัญ โดยเมื่อวันอังคาร มีมูลค่า Short Sell ราวๆ 4.2 พันล้านบาท คิดเป็น 12% ของมูลค่าการซื้อขายรวม
โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่ม SET100 ที่กำลังได้รับผลกระทบเชิงลบจากการปรับขึ้นค่าแรง หุ้นที่มีหนี้สินสูง กำลังตกเป็นเป้าหมายของการถูกเทขายอย่างหนัก
กล่าวโดยสรุป คือ ถ้าวัดจากนิยามของคำว่า "ตลาดหมี" จริงๆ เราก็จะไม่แปลกใจว่าทำไมสื่อต่างชาติถึงมองว่าหุ้นไทยกำลังเข้าสู่สภาวะตลาดหมีเพราะหุ้นไทยตอนนี้ให้ผลตอบแทน -17% กำลังเข้าสู่นิยามแล้วว่า -20% คือสภาวะตลาดหมี
อ่านมาถึงตรงนี้ เราอาจจะสงสัยว่า พอจะมีข้อสังเกตบ้างไหม ว่าเรากำลังอยู่ในตลาดหมี ?
คำตอบ คือ มี ซึ่งเราสามารถสังเกตได้จาก 3 ประเด็นด้วยกัน คือ
1. วอลุ่มเทรดหดหายไปเรื่อยๆ
2. หุ้นขนาดใหญ่ใน SET100 และ SET50 ไม่ขยับมากนักค่อนไปทางลง
ในขณะที่หุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กมีการเก็งกำไรเพิ่มขึ้นมา เป็นบางจังหวะ
3. กราฟแท่งเทียน อยู่ใต้เส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน (MA 200 วัน)
ถ้ากราฟแท่งเทียนอยู่ใต้เส้นค่าเฉลี่ย เราจะเรียกสภาวะตลาดว่าตลาดหมี หุ้นมีแนวโน้มลงต่อเนื่อง ในบางครั้งหุ้นมีโอกาสชนเส้นค่าเฉลี่ยได้แต่อาจจะไม่สามารถยืนเหนือเส้น และทำจุดต่ำสุดใหม่ ถ้าหากว่ากราฟแท่งเทียนยืนเหนือเส้นได้ แสดงให้เห็นว่าตลาดหุ้นอาจจะเปลี่ยนแนวโน้มจากขาลง เข้าสู่จุดเริ่มต้นของขาขึ้นแล้ว

ตลาดหุ้นไทย อยู่ใต้เส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2567 ถือเป็นสัญญาณ Indicator แรกๆที่ชี้ให้เห็นว่า ปีนี้ไม่ใช่ปีที่ดีเท่าไรนักสำหรับตลาดหุ้นไทย