นักลงทุนในตลาดหุ้นไทยจำนวนมากในช่วงนี้ถ้าถูกถามว่า “เป็นอย่างไรบ้าง” ผมอยากจะตอบเป็นภาษาอังกฤษด้วยคำ ๆ เดียวคือ กำลัง “Struggle” ซึ่งดิกชันนารีของไทยแปลออกมาว่า “ต่อสู้ ดิ้นรน ฝ่าฟัน แข่งขัน ตะเกียกตะกาย” และความหมายในภาษาอังกฤษที่อธิบายคำ ๆ นี้ก็มักจะพูดถึงการต่อสู้ทางการเมือง การทหาร การปฏิวัติ ที่สิ้นหวัง ขมขื่น ยากลำบากและยาวนาน โดยไม่รู้ว่าจะเอาตัวรอดได้ไหม เป็นต้น
ซึ่งผมเองคิดว่าคนที่ลงทุนในหุ้นไทยอยู่ในช่วงนี้ก็คงมีอาการคล้าย ๆ กัน คือกำลัง Struggle
เริ่มจากนักลงทุนส่วนบุคคลรายใหญ่ ๆ ซึ่งมักจะได้ฉายาว่าเป็น “เซียนหุ้น” ทั้งเก่าและใหม่ที่หุ้นตกรอบนี้ ซึ่งโดยภาพรวมนั้นก็ไม่ถึงกับเป็นภาวะตลาดหุ้นวิกฤติที่หุ้นมักจะตกลงมาแรงในระดับ 30-50% แต่กลุ่มหุ้นที่เคยมีการ “เก็งกำไรร้อนแรง” ทั้งหุ้นดีแนว ซุปเปอร์สต็อกหรือหุ้นเติบโต แนวหุ้นปั่นหรือหุ้นที่ถูกคอร์เนอร์ หรือหุ้นที่เป็นทุกอย่างที่กล่าว ต่างก็ตกลงมาอย่างหนัก ในระดับ “หายนะ” 30-50% เช่นกัน ซึ่งทำให้ขาใหญ่หรือเซียนหุ้นที่มักจะถือหรือเล่นหุ้นเหล่านั้น เจ็บตัวอย่างที่แทบไม่เคยประสบมาก่อนในรอบสิบปีหรือมากกว่านั้น
พอร์ตหุ้นที่เคยใหญ่โต ช่วงหนึ่งบางคนเคยสูงหลายพันล้านบาทจนคนเริ่มจะเรียกว่า “เซียนหุ้นหมื่นล้าน” ตอนนี้ก็อาจจะตกลงมาเหลือ “ระดับพันล้าน” และบางทีเจ้าตัวก็อาจจะกำลัง Struggle ว่ามันจะลงไปอีกแค่ไหน คนที่มีพอร์ตพันล้านบาทเองก็อาจจะรู้สึกร้อน ๆ หนาวว่าเดี๋ยวนี้เหลือหลักร้อยแล้ว ไม่รู้ว่ามันจะตกลงไปอีกแค่ไหน
ที่สำคัญก็คือ หุ้นที่ถืออยู่ก็อาจจะขายไม่ได้ เพราะปริมาณการซื้อขายลดลงไปมาก บางทีก็อาจจะเพราะเกิดอาการ “คอร์เนอร์แตก” นักลงทุนรายย่อยหยุดเล่นและหายไปมาก ขายไปก็ไม่มีคนรับและยิ่งทำให้หุ้นตกหนักลงไปอีก เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ หุ้นที่ถืออยู่อาจจะติด “มาร์จิน” ซึ่งอันตรายมากถ้าหุ้นจะตกลงไปอีกและถูกบังคับขาย นั่นก็จะเป็นหายนะที่แท้จริงที่อาจจะทำให้กลายเป็น “เซียนหุ้นเยสเตอร์เดย์” ได้
นักลงทุนรายเล็ก ๆ เองนั้น ก่อนหน้านี้ถึงแม้หุ้นโดยรวมอาจจะตกมากอยู่แล้ว แต่พวกเขาจำนวนมากก็ยังมีความหวังและความสนุกจากการเล่นหุ้นรายวันได้ เพราะหุ้นเก็งกำไรจำนวนไม่น้อยก็ยังแสดง “อภินิหาร” รายวัน อย่างน้อยวันละ 4-5 ตัว การเล่นยังมีกำไรและขาดทุน ยังมีคำพูดประเภท “เล่นหุ้น XXXX วันนี้วันเดียวได้มา 200,000 บาท ควรเลิกทำงานหันมาเล่นหุ้นเป็นอาชีพดีไหม?” แต่ในช่วงหลัง ๆ นี้ ดูเหมือนว่าจะมีแต่คำก่นด่าคนที่มีหน้าที่ดูแลตลาดหุ้นว่าไม่ทำอะไรในยามที่หุ้นตกลงทุกวัน
แม้แต่หุ้น IPO ที่เคยเป็น “ของตาย” ที่จะต้องขึ้นและมักจะขึ้นแรงระดับบางทีเป็น ร้อย ๆเปอร์เซ็นต์ในวันแรกที่เข้าตลาด ในตอนหลังก็ขาดทุน บ่อยครั้งหลายสิบเปอร์เซ็นต์ ซึ่งผมเองก็ไม่เคยเจอมาก่อนตั้งแต่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นหลายสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ตลาด IPO ที่เคยร้อนแรงมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา “วาย” ไปแล้ว ดังนั้น ในช่วงนี้ นักลงทุนรายย่อยก็คงกำลัง Struggle กันเป็นแถว
นักลงทุนที่ไปลงทุนต่างประเทศเองที่ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรมากนักในด้านผลตอบแทน เพราะตลาดหุ้นต่างประเทศที่คนไทยนิยมไปลงทุนนั้น มีทั้งที่ดีและแย่ปะปนกันไป โดยตลาดหุ้นที่ไปลงทุนกันมากคืออเมริกานั้น ค่อนข้างจะดีมาก ขณะที่ตลาด ฮ่องกงที่คนไปลงทุนน้อยนั้นค่อนข้างแย่ แต่คนที่ไปก็ยังมีความหวังในอนาคตเพราะบริษัทมีกำไรพอใช้และราคาหุ้นถูกมาก ในขณะที่หุ้นเวียตนามนั้น ถึงแม้ว่าช่วงเร็ว ๆ นี้หุ้นจะตกมาก แต่ถ้านับจากต้นปีก็ยังบวกถึงประมาณ 10% และคนที่ลงทุนในเวียตนามก็ยังมีความหวังเต็มเปี่ยมและไม่หนีไปไหน
อย่างไรก็ตาม การประกาศเก็บภาษีการลงทุนหุ้นต่างประเทศอย่างหนักโดยแทบไม่ให้มีเวลาปรับตัว ก็ทำให้นักลงทุนต่างก็ต้อง Struggle ว่าจะต้อง “ดิ้น” อย่างไรที่จะไม่ให้เสียภาษีย้อนหลัง และอนาคตจะทำอย่างไรกับการลงทุนในต่างประเทศที่พวกเขาคิดว่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว เพราะหลังจากที่ทางการยอมยกเว้นให้กำไรจากการลงทุนที่ทำก่อนปี 2567 ไม่ต้องเสียภาษีถ้านำเงินเข้าไทยในปี 2567 ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2566 นักลงทุนในหุ้นต่างประเทศก็ต้องรีบ “เคลียร์หุ้น” ภายในเวลาเพียงเดือนครึ่งที่เหลืออยู่ นอกจากนั้น ดูเหมือนว่าในระยะเวลาต่อไป อาจจะอีกซัก 1-2 ปี ก็อาจจะมีการแก้กฎหมายให้การลงทุนในต่างประเทศต้องเสียภาษีกำไรจากการลงทุนไม่ว่าจะนำเงินกลับเข้าไทยหรือไม่ นี่ก็ทำให้เกิดความ “ว้าวุ่น” กันไปทั่ว
ในด้านของผู้คุมกฎและดูแลตลาดหุ้น เฉพาะอย่างยิ่งก็คือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและกลต. นั้น ตลาดหุ้นที่ตกลงมาแรงรอบนี้ได้ทำให้เกิดกระแสร้องเรียนและกล่าวโทษว่าเป็นเพราะตลาดอนุญาตให้มีการทำ Naked short sale คือให้พวกนักลงทุนรายใหญ่เฉพาะอย่างยิ่งจากต่างประเทศ ขายหุ้นที่ไม่ได้มีอยู่ในมือเพื่อทำให้ราคาหุ้นตกลงมาแรงและกลับเข้าไปซื้อหุ้นในราคาถูก ทำกำไรแบบ “จับเสือมือเปล่า” ได้อย่างง่ายดายโดยที่รายย่อยขาดทุนอย่างย่อยยับ
เช่นเดียวกัน นักลงทุนรายใหญ่โดยเฉพาะจากต่างประเทศ อาศัยการซื้อขายหุ้นโดยใช้หุ่นยนต์เทรดหุ้นจำนวนมากด้วยความเร็วสูงและจ่ายค่าคอมมิชชั่นต่ำมาก เป็นการเอาเปรียบนักลงทุนไทย ซึ่งทำให้นักลงทุนไทยรวมถึงนักลงทุนรายใหญ่เสียเปรียบและขาดทุนจนแทบจะต้องเลิกเล่น ข้อกล่าวหาทั้งหมดนั้น ทำให้ผู้คุมกฎต้องออกมาแถลงแก้และหาทางปรับปรุงจุดอ่อนถ้ามี และด้วยพลังของการสื่อสารในยุคสมัยนี้ก็อาจจะทำให้เจ้าหน้าที่รู้สึกถูกกดดันอย่างแรง พูดง่าย ๆ ก็คือ Struggle ที่จะ “เอาตัวรอด” จากกระแสการโจมตีในช่วงนี้
ในมุมของนักลงทุนระยะยาวมาก ๆ อย่างตัวผมเอง ก็รู้สึกว่าช่วงนี้เป็นช่วงของความยากลำบาก เป็นเรื่องที่รู้สึกว่ากำลัง Struggle ไม่ใช่เพราะเหตุการณ์หุ้นตกแรงในปีนี้ซึ่งโดยปกติเราจะไม่รู้สึกอะไรมาก เพราะเรื่องหุ้นตกแรงบางปีนั้น เป็นเรื่องธรรมดา แต่พอใกล้ถึงสิ้นปีนี้ เรื่องแรกที่ต้องดิ้นรนก็คือ พอร์ตมีโอกาสขาดทุนสูง จะรอดไหม? เพราะปรัชญาหลักของผมก็คือ ลงทุนต้องพยายามไม่ให้ขาดทุน
Struggle อีกเรื่องหนึ่งก็คือ อนาคตระยะยาวของการลงทุนของเราจะไปต่ออย่างไร หลายปีมานี้การลงทุนในตลาดหุ้นก็แทบไม่ได้ผลตอบแทนเลย ความคิดก็คือ จะลงทุนในตลาดหุ้นไทยเป็นหลักต่อไปเรื่อย ๆ โดยหวังว่าผลตอบแทนของตลาดจะดีขึ้น หรือเลือกหุ้นที่จะให้ผลตอบแทนดี ๆ เหนือตลาดมาก ๆ ในระยะยาวจะยังทำได้แค่ไหน? ในขณะที่การลงทุนในต่างประเทศก็อาจจะมีอุปสรรคมากขึ้นเรื่อย ๆ จากกฎเกณฑ์เรื่องภาษีจนอาจจะไม่คุ้มที่จะไป
ดูเหมือนว่าสิ่งที่เคยทำมาตลอดเกือบ 30 ปี สำหรับผม อาจจะต้องถึงเวลาเปลี่ยนไป การลงทุนช่วง 7 ปีแรกที่ผมยังทำงานเป็นพนักงานประจำกินเงินเดือนนั้น ผมทำคนเดียวและใช้เวลาน้อยมากแค่หลังงานเลิก ต่อมาเมื่อมีอิสรภาพทางการเงินกลายเป็นนักลงทุนอาชีพที่อายุเกิน 50 ปีแล้ว ผมก็ยังทำงานลงทุนคนเดียวพร้อม ๆ กับการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการลงทุน โดยแทบไม่เคยต้อง Struggle และทุกอย่างก็เป็นไปด้วยดีและมีความสุข ผลตอบแทนที่ได้ก็ดีมากและสม่ำเสมอ ส่วนสำคัญก็เพราะตลาดหุ้นเอื้ออำนวยและกฎเกณฑ์ของประเทศโดยเฉพาะทางด้านภาษีนั้น ดีและคาดการณ์ได้ เช่นเดียวกับกิจการบริษัทจดทะเบียนที่แข็งแกร่งและเติบโต
ทั้งหมดนั้นอาจจะกำลังเปลี่ยนแปลงไป และอาจจะทำให้การทำแบบเดิมและประสบความสำเร็จแบบเดิมเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป และก็จะต้อง Struggle ไปเรื่อย ๆ แต่ผมก็ยังไม่รู้ว่าแนวทางใหม่นั้นจะเป็นอย่างไร อนาคตนั้นไม่มีใครรู้ แต่ความเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นนิรันดร์ หน้าที่ของเราก็คือ พยายามไหลไปกับการเปลี่ยนแปลงและเอาตัวให้รอดให้ได้