#ลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐาน
#แนวคิดด้านการลงทุน

ปี 2566 โหดกว่า ปี 2663

โดย อธิป กีรติพิชญ์
เผยแพร่:
621 views

นักลงทุนรายย่อยจำนวนมาก รู้สึกว่า ปี 2566 นี้  ผลประกอบการพอร์ตหุ้นไทยของเราทำไมมันช่างย่ำแย่ ข่าวลบๆเต็มไปหมด 

  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ 10 ปี (US 10Y Bond Yield ) เร่งตัวพุ่งสูงเข้าสู่ 5% 
  • ข่าวสงครามอิสราเอลและกลุ่มฮามาส 
  • ความไม่แน่นอนเชิงนโยบายรัฐและการมีรัฐบาลไทยที่ล่าช้า 
  • และปิดท้ายด้วย ข่าวความสงสัยของนักลงทุนรายย่อยเรื่อง Naked Short Sell ในตลาดหุ้นไทย 

 

ซึ่งก็ต้องบอกว่า ถ้าผลงานของเราเป็นไปตามดัชนีตลาดหุ้นไทย ปีนี้นับถึงกลางเดือนพฤศจิกายน พอร์ตแย่ลงนั้น ไม่น่าแปลกใจเลยครับ เพราะตลาดหุ้นไทยปีนี้ Underperformed ตลาดโลกมากๆ  YTD นับจากต้นปี ถึงกลางเดือนพฤศจิกายน ดัชนี SET Index -16% ซึ่งย่ำแย่ที่สุดในโลก 

เราเริ่มได้ยินการเปรียบเทียบ "ความโหดของขาลง" ในตลาดหุ้นไทย เทียบ ปี 63 กับ ปี 66

ว่าปีไหนโหดร้าย สร้างความเจ็บปวดให้นักลงทุนได้มากกว่ากัน 

--------

ปี 2563 

คือปีโรคระบาดโควิด คนทั่วโลกไม่เคยเจอโรคระบาดใหญ่ในสเกลนี้มาก่อนในชีวิต การปิดประเทศ หยุดกิจกรรมการเดินทาง ค้าขาย และล็อคดาวน์เมือง ได้ทำลายระบบเศรษฐกิจอย่างหนัก ตลาดหุ้นรับข่าวร้ายนี้ในระดับรุนแรง มันเป็นการลงแบบช๊อค ข่าวมาเร็วอย่างน่ากลัว นักลงทุนเองก็ไม่เคยเจอมาก่อน 

ช่วงเวลาเดือนมีนาคม 2563 เต็มไปด้วยสิ่งที่เราไม่รู้ ... ไม่รู้วิธีแก้  ไม่รู้จุดจบ ข่าวร้ายคือ ตลาดหุ้นลงแรงและเร็ว ข่าวดีคือ ไม่ต่ำแช่ ไม่ยื้อไม่ขยี้ ช่วงลงแหลมกินเวลาไม่นาน ก็ตามมาด้วยแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา เช่น ลดดอกเบี้ยใกล้ 0% ออก Unlimited QE และแจกเงินเยียวยา ตลาดหุ้นไทยเองจึงผันผวนขึ้นและลงแหลมๆ 2 รอบในปีเดียว 

เปิดปีสูง ตกแรงแหลมๆสิ้นมี.ค. เด้งขึ้นในสามเดือน แล้วตกลงแหลมอีกครั้งช่วงสิ้นต.ค. แล้วทยอยขึ้น ถึงสิ้นปี 

คำนวณแล้ว ทั้งปี SET Index ติดลบนิดหน่อยแค่ -8% เท่านั้น (จุดต่ำสุดเคยลบเกือบ -30%)

เป็นปีที่วิกฤตก็จริง แต่กลับมีโอกาสให้สวนตลาดทำเงินได้หลายครั้งจากการฟื้นตัว 

--------

ปี 2566

คือปีบอนด์ยีลด์ขึ้นแบบบีบคั้น ตลาดหุ้นเป็นการลงแบบซึมๆลง ช้าๆค่อยๆลงเป็นเนินลงเขา ยืดเยื้อ แช่ต่ำ ลงขยี้บางจังหวะตามข่าวปัจจัยลบจากต่างประเทศ

SET Index เปิดปี 66 สูง แล้วซึมลงเป็นเนิน(ลง)เขาสามลูก

  • ลูกแรกจากผลประกอบการ Q4 ผิดคาดมาก ตลาดจึงโดน Earning Downgrade ลงไปเหมือนจะหยุดแล้วก็ซึมลงต่อ
  • ลงลูกที่สอง ช่วงเลือกตั้งและความไม่ชัดเจนหลังผลเลือกตั้งออกมา เป็น Political Uncertainty และสุดท้ายคิดว่าได้รัฐบาลใหม่ น่าจะปรับตัวขึ้นได้ แต่เปล่าเลย 
  • ลงลูกที่สาม เกิดบอนด์ยีลด์สหรัฐเร่งตัวสูงขึ้น ผนวกกับสงครามอิสราเอลและกลุ่มฮามาส หุ้นช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. จึงลงจนเป็นกระชากลงเนินเขาลูกที่สาม 

 

สรุป ได้ลงเนินเขามา 3 ลูก เหมือนจะหยุดก็ไม่หยุด ลงจนผลตอบแทนจะแย่ที่สุดในโลกเกือบ -16% ในสิบเดือน

เป็นปีที่ไม่มีวิกฤตใหญ่ชัดเจนก็จริง แต่ตลาดหุ้นกลับแทบไม่เปิดโอกาสให้สวนตลาดทำเงินได้ง่ายๆ ลงซึม เหมือนหยุดจะ bottom out แต่ก็ลงต่ออีก ซ้ำๆ 

 

นักลงทุนรายย่อยที่ผมได้พูดคุยสอบถาม ต่างก็เห็นตรงกันว่า ตลาดหุ้นไทยปีนี้ 66 โหดกว่า ปี 63 ครับ เพราะในปี 63 ลงเร็ว สาเหตุชัดเจน นักลงทุนบางคัทลอสครั้งเดียวแล้วรอปัจจัยบวกไปเลย (วัคซีนสำเร็จ) แต่ปี 66 เรากลับไม่รู้ว่าจะต้องเจอกับปัจจัยลบแบบต่อเนื่อง คัทลอสตอนลงลูกแรกเสร็จ แล้วทำท่าเหมือนจะกลับตัวขึ้น แล้ว SET Index ก็ปรับตัวลงไปอีก ให้ต้องคัทใหม่เรื่อยๆ เป็นการลงแบบต้มกบช้าๆ 10 เดือน โดยมาลงแบบเร่งตัวในช่วง ก.ย.-ต.ค. 

 

ซึ่งการปรับตัวลงแบบนี้ นักลงทุนหลายคนมองว่าน่ากลัวกว่าตอนโควิดมาก ดูเหมือนไม่มีอะไรแต่บีบคั้น หุ้นดีๆหลายตัวราคาต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐาน แต่ก็ยังสามารถลงต่อไปได้อีก แถมยังลงแรงๆในบางวัน ทำให้ไม่รู้ว่าจะกลับเข้าตลาดอีกครั้งได้เมื่อไหร่ 

 

ความเห็นส่วนตัว ผมคิดว่า ไม่ว่าปี 63 หรือ ปี 66 มันก็คือตลาดหุ้นปรับตัวลง ย่อตัวลงมาอย่างมีนัยยะ 

หน้าที่ของนักลงทุนคือ การมองหาโอกาส ใครบริหารเงินสดที่ยังเหลืออยู่ได้ดี และบริหารพอร์ตหุ้นที่ติดอยู่ได้ดี(สับเปลี่ยนตัวหุ้น ไปสู่ตัวที่มีโอกาสฟื้นตัวได้เร็วกว่า และต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงมากกว่า) จะสามารถทำได้กำไรมากๆในปีถัดไป

 ...เผลอๆอาจถึงกับสร้างเนื้อสร้างตัวจากตลาดหุ้นขาลงรอบนี้ได้เลย  


เจ้าของหนังสือ Best Seller “ติวหุ้น รวยด้วยวีไอ” และยังเป็นวิทยากรคอร์ส “ลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐานแบบ Value/Growth Investor” ด้วยประสบการณ์ในตลาดทุนกว่า 17 ปี และประสบการณ์ในการเป็นติวเตอร์ บวกกับความเป็นคนอารมณ์ขัน  ทำให้คุณนิ้วโป้งสามารถถ่ายทอดเรื่องยาก อย่างการลงทุน ให้เข้าใจได้ง่าย และยังใช้ภาษา ลีลาที่มีเอกลักษณ์น่าสนใจอย่างยิ่ง จึงทำให้ได้รับเชิญไปบรรยายในงานต่างๆ มากมาย

Facebook

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง