ผู้ที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นจะต้องเคยตัดสินใจผิดพลาดกันมาบ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งความผิดพลาดที่จะผ่านมาจะเป็นครูที่ดี ที่จะคอยเตือนสติในการตัดสินใจในครั้งถัดไป
คนเราแต่ละคนมีนิสัยไม่เหมือนกัน การเคลื่อนไหวของราคาหุ้น ที่แกว่งตัวขึ้นหรือลง ก็อยู่ที่แรงซื้อแรงขายของนักลงทุนทั้งนั้นครับ
การตัดสินใจของนักลงทุนก็อยู่ที่ปัจจัยตัวแปรชี้นำที่ได้รับมา และพิจารณาประเมินแล้ว เห็นว่าดีก็ซื้อ เห็นว่าแย่ก็ขาย รวมถึงกลยุทธ์การลงทุนที่ถูกวางขึ้น เพื่อหวังผลต่อการลงทุนที่ดีของนักลงทุนเอง พฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนจึงมีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นอย่างมาก หุ้นแต่ละตัวจึงมีนิสัยไม่เหมือนกันด้วย
นิสัยของกลุ่มคนที่ซื้อหุ้นไหนเป็นแบบไหน นิสัยของหุ้นตัวนั้นก็จะเป็นแบบนั้น
การจับนิสัยหุ้นแต่ละตัวในตลาดหุ้น จึงเป็นอีกเทคนิคหนึ่งที่ จะช่วยเสริมให้ประสบความสำเร็จในการเล่นหุ้นได้มากยิ่งขึ้นอีก
ปกติการวิเคราะห์ทางเทคนิคล้วนแต่พยายามหาวิธีการเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ชี้ให้เห็นถึงนิสัยของหุ้นแต่ละตัวให้ได้ และชี้ให้เห็นถึงจังหวะเข้า-ออกไว้ แต่ละวิธีก็มีสูตรมีเหตุมีผลเฉพาะตัว
…..การเคลื่อนไหวของราคาหุ้นและปริมาณการซื้อขายหุ้นในอดีต ในแต่ละช่วงเวลาเป็นผลพวงที่ได้มาจากการตัดสินใจซื้อและการตัดสินใจขายหุ้นของคนหลาย ๆ คนในช่วงเวลานั้น ๆ
แต่ถ้าคุณสามารถจับนิสัยของหุ้นได้ใกล้เคียง ก็จะเพิ่มโอกาสได้หลายอย่าง เช่นว่า
ถ้าจับนิสัยหุ้นได้ว่าเป็นหุ้นขี้เกียจ แม้การวิเคราะห์ทางเทคนิคจะส่งสัญญาณให้ซื้อได้แล้ว บางทีการรออีกระยะหนึ่งอาจทำให้ซื้อหุ้นได้ราคาถูกกว่า หรือซื้อหุ้นได้ในราคาเท่าเดิมโดยที่ยังสามารถเอาเงินไปซื้อหุ้นตัวอื่นเก็บกำไรไปรอบหนึ่งก่อน แล้วค่อยกลับมาซื้อหุ้นนี้เก็บไว้ก็ยังไหว
หรือถ้าจับนิสัยหุ้นได้ว่าเป็นหุ้นหวือหวา บางทีพอซื้อหุ้นนื้มา แล้วราคาเริ่มกระโดดขึ้นเมื่อไหร่ต้องรีบขายออกไปเลย ไม่ต้องรอให้การวิเคราะห์ทางเทคนิคส่งสัญญาณให้ขายหรอกครับ เพราะอาจกลับเข้ามาซื้อหุ้นนื้ตอนที่ราคามันตกลงมาอีกครั้ง แล้วค่อยขายไปใหม่เป็นรอบที่สอง เรียกว่าเก็บกำไรหลาย ๆ รอบทีเดียว
หรือถ้าจับนิสัยหุ้นได้ว่าเป็นหุ้นมั่นคง บางทีซื้อมาแล้วต้องอดทนถือไว้นาน ๆ จึงจะได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า ถ้ารีบขายออกไปตามสัญญาณที่การวิเคราะห์ทางเทคนิคบอกไว้ บางทีอาจไม่ได้กำรี้กำไรเลยด้วยซ้ำไปก็มี
หากเราอยากจะจับนิสัยหุ้นให้ได้แม่น ต้องมีการสังเกต หูตากว้างไกล และมีประสบการณ์ รวมทั้งต้องสันทัดเทคนิคการวิเคราะห์หุ้นอย่างลึกซึ้งอีกด้วย เพราะผลการวิเคราะห์ทางเทคนิคออกมาเหมือนกัน ต่างคนต่างเห็นไม่เหมือนกันเสมอ
อีกทั้งนักลงทุนในตลาดหุ้นยังถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ มีทั้งนักลงทุน สถาบันกองทุน นักลงทุนต่างชาติ โบรกเกอร์ และนักลงทุนรายย่อยทั่วไป ซึ่งนักลงทุนแต่ละกลุ่มก็มีพฤติกรรมการลงทุนที่แตกต่างกันไป วนเวียนทำมาหากำไรจากตลาดหุ้น
โดยที่ใครมีความรู้ ความสามารถ เข้าถึงข้อมูล วิเคราะห์ได้ ประเมินรู้ได้ ย่อมมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการลงทุนมากกว่า นักลงทุนรายใด กลุ่มใด ที่มีความรู้และโอกาสที่ด้อยกว่า
ซึ่งเราก็ประสบความสำเร็จในการลงทุนได้ เพียงรู้จักสร้างนิสัยการลงทุนที่ดีและมีวินัยในการลงทุน โอกาสทำกำไรจากการลงทุนก็ไม่ใช่เรื่องยาก
ดังนั้น ก่อนที่จะเริ่มลงทุน เราก็ต้องศึกษาหาความรู้ให้ดี ทั้งความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหุ้น กองทุนรวม อนุพันธ์ ฯลฯ รวมไปถึงวิธีการซื้อขายผลิตภัณฑ์เหล่านั้น เพื่อให้สามารถตัดสินใจเลือกลงทุนในสิ่งที่เหมาะสมกับตนเองมากที่สุดและสามารถซื้อขายได้อย่างถูกวิธี
เมื่อเราตัดสินใจได้แล้วว่าจะลงทุนในตราสารประเภทนี้ และพร้อม ให้เราเริ่มศึกษาเรียนรู้โครงสร้างของตลาดหุ้นและลักษณะหุ้นเสียก่อน โดยหลักการง่ายสุดอาจเริ่มจากการศึกษาพฤติกรรมของราคาหุ้น โดยอิงกับเหตุการณ์ต่าง ๆที่สำคัญในอดีต ที่มีผลกระทบต่อการขึ้นลงของราคาในตลาดค่อนข้างเยอะ เช่น ช่วงระยะเวลาการเกิด Covid-19 รอบที่หนึ่ง หรือช่วงเหตุการณ์ Global financial crisis เป็นต้น การศึกษาพฤติกรรมของราคาหุ้นย้อนหลังในช่วง 10-20 ปี ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจพฤติกรรมของตลาดหุ้นได้ดีขึ้น
ทำความเข้าใจปัจจัยต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบต่อความผันผวนของราคาหุ้น ซึ่งปกติเราสามารถแบ่งออกเป็น 2 ปัจจัยหลัก
ปัจจัยที่ 1 ที่มีผลกระทบเฉพาะในราคาหุ้น หรือ เรียกว่า ความเสี่ยงเฉพาะตัว
ปัจจัยที่ 2 เป็นปัจจัยที่หุ้น ทั้งหมด หลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือที่เรียกว่า “ความเสี่ยงที่เป็นระบบ” อาทิเช่น ความเสี่ยงที่เป็นปัจจัยทางด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจ ของไทย หรือ เหตุการณ์จากประเทศภายนอกประเทศ เช่น สงครามการค้า ภาวะเศรษฐกิจโลก
นอกจากนี้ สำหรับนักลงทุนมือใหม่นั้น อาจต้องทำความเข้าใจพฤติกรรมของผู้เล่นในตลาดหุ้นที่สำคัญ ๆ โดยจะแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
1. กลุ่มนักลงทุนทั่วไป
2. กลุ่มสถาบันในประเทศ
3. กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์
4. กลุ่มนักลงทุนต่างชาติ
โดยอาจต้องดูพฤติกรรมผู้เล่นแต่ละกลุ่มว่ามีจังหวะการซื้อ-ขายในแต่ละช่วงอย่างไร และพฤติกรรมของผู้เล่นแต่ละกลุ่ม ส่งผลอย่างไรต่อการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น
สรุป “เราต้องรู้พื้นฐาน รู้โครงสร้างผู้เล่น ต้องรู้ว่าตลาดทำหน้าที่อะไร ความผันผวนของตลาดมาจากที่ไหนบ้าง และถามตัวเองว่า เราจะเข้ามาเป็นนักลงทุนระยะสั้น ซื้อขาย เก็งกำไร หรือจะเป็นนักลงทุนระยะยาว รอรับเงินปันผล เมื่อเรารู้แล้วว่าเราต้องการเป็นนักลงทุนแบบไหน ให้เราเลือกหุ้น
โดยเริ่มจากกว่าวิเคราะห์หุ้น รู้เรื่องของงบการเงิน เพราะเราจะได้ดูพวกลักษณะโครงสร้างพื้นฐานของบริษัท วิเคราะห์ทางเทคนิค ดูเทรนด์ แนวโน้มการซื้อขายของผู้เล่นในตลาด จะได้รู้จังหวะในการที่จะเข้าไปซื้อขายหุ้นตัวดังกล่าว
จุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับนักลงทุนมือใหม่ หากไม่รู้ว่าจะเลือกหุ้นอะไรดี เราอาจจะเริ่มพิจารณาโดยเลือกลงทุนในกลุ่มหุ้นที่ถูกนำมาจัดทำดัชนี เช่น SET50 SET100 เพราะหุ้นเหล่านี้ถูกคัดสรรมาแล้วว่าเป็นกลุ่มหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าตามราคาตลาด (Market Capitalization) และสภาพคล่องในการซื้อขายสูงสุด 50 อันดับแรก และ 100 อันดับแรก ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดในเบื้องต้น ว่าหุ้นเหล่านี้เป็นหุ้นพื้นฐานดี มีสภาพคล่องสูง