#แนวคิดด้านการลงทุน

ทำไม ปีเตอร์ ลินซ์ ถึงบอกว่าจุดเริ่มต้นการลงทุนที่ดีที่สุด คือตอนที่เราอายุยังน้อย

โดย stock2morrow
เผยแพร่:
817 views

เชื่อว่านักลงทุนชาวไทยที่ศึกษาการลงทุนมาสักพัก คงไม่มีใครไม่รู้จัก ปีเตอร์ ลินซ์ ผู้จัดการกองทุน Fidelity Investment’s Magellan ระดับตำนาน ซึ่งเขาสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงถึง 29.2% ต่อปี นับตั้งแต่เขาบริหารยาวนานถึง 13 ปี

ปัจจุบัน เขาเกษียณตัวเองและอยู่กับครอบครัวอย่างเงียบๆ พร้อมกับการทำงานการกุศล เดินสายให้ความรู้เด็กรุ่นใหม่เรื่องของการออมเงิน และการเริ่มต้นลงทุนในหุ้น

ครั้งหนึ่ง เขาเคยบรรยายให้กับเด็กนักเรียนฟังว่า ...

"พ่อแม่รุ่นใหม่ มักจะบอกว่า การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ เรียนดีๆเกรดสูงๆ จบออกมาจะได้มีงาน มีการทำที่มั่นคงและเงินเดือนสูงๆ สิ่งที่พ่อแม่ไม่ได้บอกเรา คือ ในระยะยาวแล้วการทำเงินได้มากเท่าไร ไม่ใช่ตัวกำหนดว่าเราจะมั่งคั่งหรือร่ำรวยในอนาคต แต่มันอยู่ที่ว่า เราจะสามารถใช้เงินเหล่านั้นทำงานให้เราได้อย่างไรจากการออมและการลงทุน”

เขายังเน้นย้ำอีกด้วยว่า เวลาที่ดีที่สุดในการลงทุน คือ ต้ังแต่เราอายุยังน้อย ...

ยิ่งเรามีเวลาในการลงทุนมากเท่าไร ปล่อยให้เงินของเราเติบโตได้มากแค่ไหน เราก็จะยิ่งมีเงินมากขึ้นเท่านั้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเราเริ่มต้นลงทุนเร็วแม้ใช้เงินที่น้อยนิด เมื่อเวลาผ่านไปเงินก้อนเล็กๆที่ค่อยๆผ่านการออมและการลงทุน จะมีค่ามากกว่าเงินก้อนใหญ่ที่ลงทุนช้า
 


เขาได้บรรยายถึงคน 4 กลุ่ม ด้วยกัน คือ

เด็กอายุ 10 ขวบ (แทนด้วยนาย A) เขาอาจจะเรี่มต้นลงทุนด้วยเงิน 200 บาท และเงินเก็บออมที่มาจากพ่อแม่ปีละ 1 หมื่นบาท

ด้วยการที่นาย A เป็นเด็กอายุ 10 ขวบ เขาแทบจะไม่มีค่าใช้จ่ายอะไรเลย อาศัยอยู่กับพ่อแม่ ความรับผิดชอบไม่ต้องสูงเพราะพ่อแม่ออกให้แทบจะทุกอย่าง

แต่ข้อเสียของเขา คือ เขาไม่มีรายได้ แต่สิ่งที่เขามี คือ อายุการลงทุนที่ยาวนาน

วัยรุ่นอายุ 20 ปี (แทนด้วยนาย B เขาเริ่มทำงานพิเศษบ้าง มีเงินเก็บออมบ้าง แต่เนื่องจากว่าเขาอายุยังน้อยอยู่ ทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายที่ต้องรับผิดชอบบางส่วน และขอพ่อแม่บางส่วน

ข้อดีของวัยรุ่น คือ เขามีพละกำลังในการทำงาน เป็นวัยที่กระตือรือร้น และไม่ค่อยมีค่าใช้จ่ายที่ต้องรับผิดชอบมากนัก อีกทั้งอาจจะได้เงินจากพ่อแม่บ้าง 

ข้อเสียของเขา คือ เขาหารายได้ได้น้อย แต่รายจ่ายอาจจะมากจากการเข้าสังคม 

ถ้าไม่รู้จักประหยัด คนกลุ่มนี้แทบจะไม่มีเงินเก็บออมเลย

แต่สมมุติว่าเขาสามารถเก็บออมได้ปีละ 1 หมื่นบาท (หรือพ่อแม่จะให้ก็ตาม)

ผู้ใหญ่วัยทำงาน อายุ 30 ปี (แทนด้วยนาย C) เขาจบการศึกษา เริ่มมีงานมีการทำเป็นของตัวเอง เป็นวัยกำลังสร้างตัว มีบ้าน มีรถ มีครอบครัว มีลูกเล็กๆ หน้าที่การงานเริ่มเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ เงินเดือนเริ่มสูงมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่ข้อเสียของคนกลุ่มนี้ คือ ความรับผิดชอบที่มีมาก ไหนจะค่าบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่ากิน-ค่าใช้ หรือถ้ามีลูก เราอาจจะต้องเสียเงินจำนวนมากไปกับการเลี้ยงลูก ดูแลครอบครัวของเรา

ดังนั้น ถ้าคนวัยทำงานวางแผนการเงินไม่ดี พวกเขาแทบจะหามาไม่พอใช้จ่าย และจบลงด้วยการกู้เงินมาใช้จ่าย

อย่างไรก็ตาม ถ้าเราวางแผนดีๆ เราอาจจะมีเงินเก็บอยูบ้าง และเวลาในการลงทุนมากระดับหนึ่ง สมมุติว่าเขาสามารถเก็บออมเงินได้ปีละ 1.5 หมื่นบาท

ผู้ใหญ่ที่กำลังเข้าสู่วัยเกษียณ อายุ 50 ปี (แทนด้วยนาย D) เขาทำงานมานานแล้ว และพร้อมจะเกษียณตัวเองในอีกไม่นาน 

แน่นอนว่าข้อดีของคนกลุ่มนี้ คือ มีเงินเก็บมากระดับหนึ่ง ลูกๆเริ่มโตทำให้ค่าใช้จ่ายไม่มากเหมือนเมื่อก่อน เขาสามารถเจียดเงินก้อนมาลงทุนได้

เราจะเรียกเงินของเขาว่าเป็นเงินก้อนใหญ่ แต่ข้อเสียคือ เป็นการเริ่มต้นลงทุนที่ช้าไปแล้ว

สมมุติว่าเขาสามารถเก็บออมเงินได้ปีละ 2.5 หมื่นบาท

เรามาดูกันว่า ถ้าการออมเงินในหุ้นให้ปันผล 3% ต่อปีแล้วเรานำกลับไปลงทุนใหม่โดยไม่สนใจผลตอบแทนที่เกิดจากความผันผวนตลาด

คนกลุ่มไหนจะมีเงินมากกว่า เมื่อพวกเขาอายุครบ 60 ปี 

นาย A มีอายุในการให้เงินเติบโตมากถึง 50 ปี และเงินเพียง 200 บาท พร้อมเงินออมปีละ 1 หมื่นบาท เขาจะมีเงิน 1.12 ล้านบาท เมื่อเขามีอายุ 60 ปี 

นาย B มีอายุในการให้เงินเติบโตมากถึง 40 ปี และเงินเริ่มต้น 2,000 บาท พร้อมเงินออมปีละ 1 หมื่นบาท เขาจะมีเงิน 7.6 แสนบาท เมื่อเขามีอายุ 60 ปี

สอดคล้องกับนาย C มีอายุในการให้เติบโต 30 ปี และเงินเริ่มต้น 20,000 บาท พร้อมเงินออมปีละ 1.5 หมื่นบาท เขาจะมีเงิน 7.62 แสนบาท เมื่อเขามีอายุครบ 60 ปี

คราวนี้เรามาดูนาย D ที่มีอายุการลงทุนสั้นมากๆเพียงแค่ 10 ปีเท่านั้น แต่เงินของเขามีมากถึง 2 แสนบาท พร้อมเงินออมปีละ 2.5 หมื่นบาท เราเรียกว่า “เงินก้อนใหญ่"

แต่เงินก้อนนี้มีโอกาสได้เติบโตเพียง 10 ปี เขาจะมีเงินเพียงแค่ 5.55 แสนบาท เมื่อเขามีอายุครบ 60 ปี 

เราพอจะเริ่มเห็นภาพแล้วว่า เงินก้อนเล็กที่ลงทุนเร็ว จะมีค่ามากกว่าเงินก้อนใหญ่ที่ลงทุนช้า แต่การเริ่มต้นออมเงินหรือลงทุนตั้งแต่อายังน้อยเป็นเรื่องที่ง่าย เมื่้อเทียบกับกระบวนการเรื่องของการลงทุนทั้งหมด

ประเด็น คือ คนที่เริ่มต้นลงทุนจะทำอย่างไรให้ไปถึงเป้าหมายทางการเงิน โดยเฉพาะการลงทุนในหุ้นด้วยแล้ว

ปีเตอร์ ลินซ์ แนะนำว่า ...

1. เริ่มต้นจากสิ่งที่เรารู้จัก 

เพราะเราต้องไม่ลืมว่า การซื้อหุ้น คือการซื้อส่วนหนึ่งของบริษัท

ถ้าบริษัทดี หุ้นก็จะดีในระยะยาว

ถ้าบริษัทไม่ดี หุ้นก็จะแย่ตามไปด้วย

ดังนั้น เริ่มต้นจากการมองสิ่งรอบๆตัว แล้วดูว่ามีสินค้าหรือบริการอะไรที่อยู่รอบๆตัวเราน่าสนใจและได้รับความนิยม

เราก็หยิบตัวหุ้นไปศึกษาและทำการบ้านต่อ ว่ามีจุดไหนน่าสนใจเพิ่มเติมอีกหรือไม่

ลินซ์ ยังยกตัวอย่างอีกด้วยว่า เด็กลงทุนได้ดีกว่าผู้ใหญ่ สาเหตุเป็นเพราะว่า เด็กคิดไม่ซับซ้อนเท่าผู้ใหญ่

ผู้ใหญ่มักจะมองว่าการลงทุนเป็นเรื่องยาก จึงมักจะใช้ "สิ่งยากๆ" ในการวิเคราะห์ เช่น กราฟหุ้น งบการเงินย้อนหลังหลายปี หรือแม้แต่ความต้องการซื้อต้องการขายของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี

แต่สำหรับเด็ก เขาคิดแค่ว่า เขาชอบอะไร เขาก็ซื้อสิ่งนั้น เช่น 
- เขาชอบรองเท้าไนกี้ ก็ซื้อหุ้นไนกี้ 
- เขาชอบกินแมคโดนัลด์ เขาก็ซื้อหุ้นแมคโดนัลด์ 

ซึ่งหุ้นเหล่านั้น เป็นหุ้นที่ดีในระยะยาวอยู่แล้ว 

2. ลงมือทำอย่างสม่ำเสมอ

ปีเตอร์ ลินซ์ บอกว่า ความยากของการไปถึงเป้าหมายทางการเงิน โดยเฉพาะการลงทุนในหุ้นด้วยแล้ว คือ “ความสม่ำเสมอ" เรามักจะฮึกเหิม เมื่อเห็นหุ้นขึ้น แต่ท้อถอย เมื่อเห็นหุ้นลง

เขาแนะนำว่า ตลาดหุ้นมีขึ้น และมีลง คล้ายกับสภาพภูมิอากาศที่ฝนตก และแดดออก

ถ้าเราคิดจะลงทุนในหุ้น เราไม่มีวันที่จะหลีกเลี่ยงในวันที่ตลาดหุ้นถูกถล่มขายอย่างหนัก และถีบตัวพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ในระยะยาวแล้ว ตลาดหุ้นจะเป็นขาขึ้น ยิ่งบริษัทมีศักยภาพมากขึ้น เติบโตมากขึ้น มูลค่าของกิจการก็จะมากขึ้นตามไปด้วย ส่งผลมายังราคาหุ้น

ดังนั้น ลินซ์จึงแนะนำว่า ให้สนใจแต่ตัวบริษัท อย่าสนใจดัชนีหุ้น เราอาจจะคิดว่ามันอันตราย ถ้าเราถือหุ้นในวันที่หุ้นลง แต่มันจะอันตรายยิ่งกว่า ถ้าเราไม่มีหุ้น ในวันที่หุ้นขึ้นอย่างรุนแรง

สุดท้าย ปีเตอร์ ลินซ์ ยังแนะนำอีกด้วยว่า จุดเริ่มต้นการลงทุนที่ดีที่สุด คือตอนที่เราอายุยังน้อย

แน่นอนว่า เราอาจจะไม่ได้มีความรู้ หรือมีเงินมากพอเท่าพ่อแม่ของเรา แต่สิ่งที่ล้ำค่ามากยิ่งกว่า คือ "เวลา" ยิ่งเรามีเวลาในการลงทุนมากเท่าไร เราก็มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จมากเท่านั้น  แต่เวลามากอย่างเดียว อาจจะไม่เพียงพอ 

จำเป็นจะต้องอาศัยความรู้ทางการลงทุน (เริ่มต้นจากสิ่งที่เรารู้จัก) และทำมันอย่างสม่ำเสมอด้วย

 


ศูนย์รวมความรู้เรื่องหุ้น ศูนย์รวมนักลงทุนรายย่อย ที่อยากรู้วิธีการลงทุนในหุ้นอย่างถูกต้องและได้กำไรอย่างยั่งยืน ติดตามเราได้ที่

www.stock2morrow.com 

FB: stock2morrow 

LINE@stock2morrow

FacebookInstagramYoutubeLine

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง