หลายๆครั้งนักลงทุนมือใหม่ มักจะได้รับคำแนะนำว่า ซื้อหุ้นแบบ DCA สิ รับรองว่าผลตอบแทนดีแน่นอน ...
การซื้อหุ้นแบบ DCA หรือ Dollar-Cost Averaging คือ การลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆอย่างสม่ำเสมอ
อย่างในกรณีนี้ เรามักจะหมายถึงหุ้น
คือซื้อหุ้นอย่างสม่ำเสมอ ด้วยจำนวนเงินที่เท่าๆกัน มักจะกำหนดเป็นรายเดือน ทุกเดือน หรือแม้แต่อาจจะเป็นรายไตรมาส
สาเหตุที่การลงทุนหุ้นแบบ DCA ได้รับความนิยม คือ คนที่จับจังหวะในหุ้นไม่เก่งก็ตัดปัญหาโดยการซื้อแบบเฉลี่ยๆไปเลย นักลงทุนก็จะได้รับหุ้นที่ราคาแบบ "ถัวเฉลี่ย"
เช่น ถ้าเราซื้อหุ้น XYZ ที่ราคา 10 บาท ด้วยเงิน 1000 บาท จะได้หุ้นทั้งหมด 100 หุ้น
และอีก 1 เดือนข้างหน้า ราคาหุ้น XYZ ลดลงเหลือ 8 บาท
นักลงทุนก็สามารถใช้เงินเท่าเดิม คือ 1000 บาท จะได้หุ้นจำนวน 125 หุ้น คือได้หุ้นมากกว่าเดิม ในราคาที่ถูกลง
ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในเรื่องความผิดพลาดในการจับจังหวะตลาดที่ผิดพลาด เราก็จะได้ต้นทุนแบบเฉลี่ยๆกันไป
ยิ่้งไปกว่านั้น การซื้อหุ้นแบบ DCA ยังเหมาะกับผู้ที่มีเงินลงทุนไม่มาก เริ่มต้นด้วยเงินน้อยก็สามารถออมในหุ้นได้ โดยการทยอยสะสมหุ้นไปเรื่อยๆ
นักลงทุนระดับตำนานอย่างปีเตอร์ ลินซ์ ยังกล่าวไว้ว่า
เงินก้อนเล็กๆที่เริ่มต้นลงทุนเร็ว จะได้เปรียบกว่าเงินก้อนใหญ่ที่เริ่มต้นลงทุนช้า ...
จากสิ่งที่กล่าวมา ดูเหมือนว่าการลงทุนแบบ DCA จะดีและสมบูรณ์แบบไปซะหมด
ซึ่งนั้นอาจจะเป็นความเข้าใจที่ผิด
เพราะว่าการลงทุนหุ้นแบบ DCA ก็มีข้อเสียด้วยเหมือนกัน
เรามาดูกันว่า มีเรื่องไหนบ้างที่เป็นข้อเสียของการลงทุนแบบ DCA
1. การซื้อหุ้นแบบ DCA จะเสียเปรียบเมื่อตลาดเป็นขาขึ้น
กรณีที่หุ้น XYZ ที่ราคา 10 บาท เงิน 1000 บาท จะได้หุ้นทั้งหมด 100 หุ้น
และถ้าอีก 1 เดือนข้างหน้า ราคาหุ้น XYZ ขึ้นไป 12 บาท เราจะใช้เงิน 1000 บาท ได้หุ้นทั้งหมด 83 หุ้น
คือหุ้นได้หุ้นจำนวนน้อยลง และราคาที่เฉลี่ยที่เราได้ก็จะสูงขึ้นอีกด้วย
และถ้าหุ้น XYZ ขึ้นไปเรื่อยๆ เราก็ยิ่งได้หุ้นน้อยลง ต้นทุนของเราก็สูงขึ้นตามไปด้วย
2. ต้องหาเงินมาลงทุนทุกเดือน
การลงทุนแบบ DCA หัวใจสำคัญ คือ "ความสม่ำเสมอ"
หมายถึง เราต้องมีเงินเข้ามาลงทุนทุกๆเดือน เราถึงจะใช้กลยุทธ์การลงทุนแบบ DCA ได้
ซึ่งถ้าคิดในมุมตรงกันข้าม คือ คนที่ไม่ได้มีรายได้ประจำ หรือมีกระแสเงินสดเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จะทำให้การลงทุนแบบ DCA ขาดความต่อเนื่อง เป้าหมายที่วางไว้ก็จะพลาดได้ด้วยเหมือนกัน
3. เงินอาจจมอยู่กับหุ้นที่แย่
ในกรณีที่เราเลือกหุ้นไม่เก่ง หรือไม่ได้มีความรู้มากนักในการหาหุ้น ติดตามงบการเงิน หรือแม้กระทั่งการดูกราฟราคาหุ้นอาจจะเสียเปรียบในระยะยาว
คือ เงินลงทุนของเรา ต้องจมอยู่กับหุ้นที่แย่อยู่ต่อไป
ตัวอย่างเช่น กรณีหุ้นถ่านหินที่เคยแข็งแกร่งมากในตลาดหุ้นไทย
ถ้าเราเลือก DCA ในหุ้นถ่านหิน ราคาหุ้นลงมาโดยตลอด เราก็จะขาดทุนหนัก และขาดทุนอยู่ตลอดเวลาได้เช่นกัน
และหุ้นถ่านหินบางตัว ก็มีเหตุการณ์ล้มหายตายจากไปตลาดหุ้น ถูกตลาดหลักทรัพย์ขึ้นเครื่องหมายห้ามซื้อขายเพราะการไม่ส่งงบการเงิน ธุรกิจไม่มีความชัดเจน
ผู้ลงทุนก็แทบจะสูญเงินลงทุนไปทั้งหมด
ดังนั้น ก่อนจะใช้กลยุทธ์ DCA เราต้องมั่นใจว่าหุ้นที่เราเลือก เป็นหุ้นพื้นฐานดีในระยะยาว ยังอยู่ต่อไปได้
และที่สำคัญ คือ ผู้ลงทุนจะต้องติดตามผลประกอบการอย่างต่อเนื่อง
หรือวิธีที่ง่ายที่สุด คือ DCA ลงในดัชนีตลาดหุ้น ก็ถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ในระยะยาวครับ ...