#แนวคิดด้านการลงทุน

ปรับกลยุทธ์ลงทุน ให้มีลุ้นในสภาวะตลาดหุ้นแบบใหม่

โดย อธิป กีรติพิชญ์
เผยแพร่:
746 views

ผมมีความเห็นว่า 3-4 ปีมานี้ โลกเรากำลังอยู่ในภาวะเศรษฐกิจในสถานการณ์พิเศษทุกปี

  • ปี 2563 เกิดโรคระบาดโควิด ปิดเมือง เศรษฐกิจพัง ... นี่ไม่ใช่เรื่องปกติ 
  • ปี 2564 เกิดการลดดอกเบี้ยต่ำติดดิน และอัดฉีดพิมพ์เงิน Unlimited QE สู้วิกฤต Lockdown ... นี่ไม่ใช่เรื่องปกติ
  • ปี 2565 ยุค Reopening Economy เกิดเงินเฟ้อเร่งตัวรุนแรง FED ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ย 7 ครั้ง ทั้งยังเกิดสถานการณ์สงคราม รัสเซีย-ยูเครน... นี่ไม่ใช่เรื่องปกติ
  • ปี 2566 เงินเฟ้อแม้จะทุเลา แต่ FED ยังปรับขึ้นดอกเบี้ยต่ออีก 4 ครั้ง จนเกิดภาวะ Bond Yield พุ่งสูงไปทั่วโลก ราคาน้ำมันพุ่งสูง ยังมีความไม่สงบในอิสราเอลและปาเลสไตน์ซ้ำเข้าไปอีก และกรณีประเทศไทย เราอยู่ในสูญญากาศการเมืองไม่มีรัฐบาลที่ดูแลเศรษฐกิจอย่างจริงจังนานเกือบ 3 ไตรมาส ... นี่ก็ไม่ใช่เรื่องปกติ
     

ทั้งหมดนี้ ก่อให้เกิดความไม่แน่นอนต่อการลงทุนในตลาดหุ้นอย่างมาก หมดยุคการลงทุนง่ายที่ปัจจัยมหภาคต่างๆค่อนข้างนิ่ง นักลงทุนสามารถดูแต่ปัจจัยพื้นฐานของกิจการเพียงอย่างเดียวแบบในอดีตนั้น เริ่มคาดหวังได้ยากขึ้น ที่สำคัญเราอาจจะต้องอยู่กับโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงแบบนี้ไปเรื่อยๆ หรือตลอดชีวิตการลงทุนของเราก็เป็นได้ การที่เรามีหลักการลงทุนที่ยึดติดอย่างแน่นหนาไม่มีการต่อรอง ไม่มีการปรับตัว ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงเลยตลอดชีวิต อาจจะไม่ใช่วิธีการที่ดีนัก และอาจไม่ตอบโจทย์สถานการณ์การลงทุนที่มีความซับซ้อนอย่างปัจจุบัน 

 

ถ้าเงื่อนไขเป็นแบบนี้ คำถามสำคัญคือ  “เราจะต้องปรับตัวปรับกลยุทธ์การลงทุนให้เข้ากับสภาวะการณ์นี้อย่างไร?”

 

ผมคิดว่าเรามีความจำเป็นต้องปรับหลักการความคิดและหลักการลงทุนของเราบางอย่าง เพื่อทำให้การลงทุนปรับตัวเข้ากับสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมือนเดิม เพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนในเงื่อนไขแบบนี้ให้ได้ 

 

การที่ผู้กำหนดนโยบาย (ธนาคารกลางและกระทรวงการคลัง) ทั่วโลกคอยแทรกแซงตลาดเงินตลาดทุน โดยมีเป้าประสงค์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้าง GDP Growth อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดดอกเบี้ยอย่างรุนแรง หรือการอัดฉีดสภาพคล่องล้นระบบ ทั้งช่วงหลังปี 2551 (Subprime Crisis) และปี 2563 (Covid Crisis) ดอกเบี้ยต่ำ สภาพคล่องล้นเป็นเวลานาน จะทำให้หุ้นมีช่วงที่ราคาแพงเกินไปเป็นส่วนใหญ่ 

 

แต่เมื่อผู้กำหนดนโยบายเริ่มทำนโยบายกลับข้าง โดยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ตลาดตกใจและราคาหุ้นก็จะตกต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงได้เป็นช่วงๆ โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยในช่วงเวลานี้ ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีอะไรที่จะตกลงไปตลอด เมื่อเศรษฐกิจฝืดและตลาดหุ้นตกลงมามากๆ ธนาคารกลางก็จะใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน QE พร้อมทั้งปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในที่สุด แล้วหุ้นก็จะกลับมามีราคาแพงอีกครั้ง

 

ดังนั้น ในช่วงเวลาส่วนใหญ่ ราคาหุ้นโดยทั่วไปจะมีราคาที่ค่อนข้างเต็มมูลค่าอยู่เสมอ หรืออยู่ระหว่าง Fair price ถึง Overvalued และเมื่อเกิดเหตุการณ์ช็อค ตลาดตลาดหุ้นก็จะตกลงมาอย่างรวดเร็วแต่จะอยู่ในสภาวะนั้นได้ไม่นาน แล้วตลาดก็จะฟื้นตัวขึ้นกลับมาแพงอีกครั้ง 

 

นี่คือสถานะที่ผมสังเกตได้ว่าเป็นวัฏจักรวนเวียนอยู่ในกรอบ ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์โควิดเป็นต้นมา อันที่จริงเราอาจจะมองภาพตลาดหุ้นไทยย้อนไปถึง 10 ปีเลยก็ได้ ที่ตลาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวในกรอบ 1,400 จุดถึง 1,800 จุด ขึ้นก็ไปไม่ไกล ร้ายก็ลงไม่ลึก มาเป็นเวลา 10 ปี ผมมีความเห็นว่า กลยุทธ์ที่เหมาะสมกับตลาดหุ้นไทยในลักษณะนี้คือ 
 

  1. ไม่ควรจะถือหุ้นเต็มพอร์ต 100% ตลอดเวลา ... เพราะด้วยสภาพตลาดที่ดีก็ไปไม่ไกล ร้ายก็ลงไม่ลึก แบบตลาดหุ้นไทย หากเกิดเหตุการณ์ปีที่ Market Crash ลงมา การไม่มีเงินสดติดมือไว้เลยจะทำให้เสียโอกาสในการถัวเฉลี่ยต้นทุน หรือซื้อหุ้นเก็บในราคาถูก ซึ่งมีช่วงเวลา On Sales อยู่เพียงไม่นานเท่านั้น ทั้งนี้ การถือหุ้น 100% อยู่ตลอดเวลาจะเหมาะกับตลาดหุ้นในประเทศที่มีนวัตกรรม หรือมีสภาวะเศรษฐกิจภาพใหญ่เป็นขาขึ้นไปเรื่อยๆ สร้างจุดสูงสุดใหม่ได้เสมอ 
     
  2. บางช่วงเวลาเราอาจจะมีการเก็งกำไรในกรอบ  trading range-bound markets โดยเข้าซื้อเมื่อหุ้นมีราคาต่ำกว่ามูลค่าในช่วงสั้นๆนั้น แล้วขายออกเมื่อราคาหุ้นฟื้นตัวกลับเข้ามาอยู่ในระดับราคายุติธรรม หรือมีราคาแพงเกินมูลค่าที่แท้จริงในอีก 6-12 เดือนข้างหน้า โดยมองโลกตามความเป็นจริง ไม่คาดหวังถึงการเติบโตระยะยาวๆสำหรับหุ้นที่ไม่มีโอกาสจะเติบโตได้แบบนั้น แบบนี้ก็จัดเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการลงทุนตลาดหุ้นไทย ซึ่งกลยุทธ์นี้มีความชัดเจนกับหุ้น Big Cap and Laggard ซึ่งอาจจะลงทุนง่ายกว่าการตามหาหุ้นตัวเล็กที่มีโอกาสเติบโตสูงๆ(ซึ่งโอกาสเจอมีน้อย)ด้วย

เจ้าของหนังสือ Best Seller “ติวหุ้น รวยด้วยวีไอ” และยังเป็นวิทยากรคอร์ส “ลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐานแบบ Value/Growth Investor” ด้วยประสบการณ์ในตลาดทุนกว่า 17 ปี และประสบการณ์ในการเป็นติวเตอร์ บวกกับความเป็นคนอารมณ์ขัน  ทำให้คุณนิ้วโป้งสามารถถ่ายทอดเรื่องยาก อย่างการลงทุน ให้เข้าใจได้ง่าย และยังใช้ภาษา ลีลาที่มีเอกลักษณ์น่าสนใจอย่างยิ่ง จึงทำให้ได้รับเชิญไปบรรยายในงานต่างๆ มากมาย

Facebook

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง