#ลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐาน
#แนวคิดด้านการลงทุน

โอกาสของหุ้นไทย ใน 12 เดือนข้างหน้า

โดย อธิป กีรติพิชญ์
เผยแพร่:
1,011 views

เรากำลังจะเข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายปลายปี 2566 ดัชนีตลาดหุ้นไทยยังอยู่ที่ระดับต่ำกว่า1550 จุด หากมองไปข้างหน้าด้วยกรอบระยะเวลา 12 เดือน จากจุดนี้ ... หุ้นไทยยังมีโอกาสการลงทุนที่ดีหรือไม่ ? 

 

จากการพิจารณาภาพรวมหลายด้าน ผมมีความเห็นว่า SET ได้ผ่านช่วงเวลาที่กดดันที่สุดตั้งแต่โควิดปี 63 กระทั่งถึงปี 66 มาแล้ว ว่ากันตามตรง ดัชนีตลาดหุ้นไทยรวมทั้งเศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าศักยภาพมานานหลายปี ทุกวันนี้ดัชนียังไม่กลับไปสู่ระดับก่อนโควิดเลยด้วยซ้ำ (ก.พ. 2563 SET index ประมาณ 1600 จุด) อย่างไรก็ตามเมื่อเข้าสู่ปลายปี 2566 ปัจจัยลบหลายสิ่งหลายอย่างกำลังคลายตัว และน่าจะมีโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจ เนื่องจากปัจจัยหลายประการดังนี้

 

1. ปัจจัยดอกเบี้ยนโยบาย 

เราทราบกันดีว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกไม่ชอบการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ(FED)เลย การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทำให้การคำนวณ Valuation ด้วยวิธีคิดลดกระแสเงินสดได้มูลค่าที่ลดลง ดังจะเห็นได้จากหุ้นที่มีรายได้เป็นกระแสรายรับ (Recurring Revenue) อย่างหุ้นโรงไฟฟ้า หุ้นสื่อสาร กองรีท(รับค่าเช่า) กองโครงสร้างพื้นฐาน ราคาหุ้นปรับตัวลงอย่างรุนแรงมาต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ปี โดย FED ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นจำนวน 11 ครั้ง ในรอบ 2 ปี ซึ่งมากเกินกว่าที่ทุกฝ่ายคาดการณ์ จากระดับ 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 5.5% แต่ข่าวดีก็คือ เรากำลังอยู่ในช่วง “ปลายวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น” ซึ่งหลังจากนี้เมื่ออัตราเงินเฟ้อลดลงสู่ระดับเป้าหมาย และเศรษฐกิจชลอตัว FED จะทำการ “คงอัตราดอกเบี้ย” และเมื่อถึงจุดหนึ่งที่เศรษฐกิจต้องการกระตุ้น ก็จะกลับสู่วงจรการ “ลดอัตราดอกเบี้ย” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ นี่จะเป็นข่าวดีที่สุดในโลกการลงทุน แม้ไม่รู้ว่ามาเมื่อไหร่ แต่เรามั่นใจได้ว่า โอกาสขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกหลายๆครั้ง ได้จบลงไปแล้ว สิ่งนี้จะสะท้อนผลบวกกลับมาที่ตลาดหุ้นไทยเช่นกัน ไม่ช้าก็เร็ว 

 

2. ปัจจัยเศรษฐกิจไทย 

แม้ว่า เศรษฐกิจประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา หรือสหภาพยุโรป อาจจะมีความเสี่ยงประสบปัญหาเศรษฐกิจชลอตัวหรือถดถอย(Recession) ด้านประเทศจีน นอกจากเจอปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศตั้งแต่หลังโควิดแล้ว ปัญหาหนี้ภาคอสังหาฯขนาดมหึมาของจีนและปัญหาสงครามการค้ากับสหรัฐอเมริกาที่ยืดยาว ก็น่าหนักใจไม่น้อย แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว เราไม่มีปัญหาการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระดับสูง(มาก)หรือปัญหาหนี้ภาคอสังหาฯระเบิด หรือแม้แต่ปัญหาสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ก็ยังกลายเป็นปัจจัยบวกที่จะส่งผลให้นักลงทุนจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน ทำ Global Industrial Relocation มาสู่ฐานการผลิตที่ประเทศไทยโดยเฉพาะอุตฯอิเลคทรอนิคส์และยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้การลงทุนในไทยน่าสนใจมากในสายตานักลงทุนโลก ในส่วนของรายได้ภาคการเกษตร(Farm Income)ของไทยก็มีโอกาสเติบโตจากภาวะเอลนิญโญที่ทำให้ประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรยักษ์ใหญ่มีผลผลิตน้อย ต้องงดส่งออก ยิ่งทำให้ภาคเกษตรไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น 

 

3. ปัจจัยการเมืองไทย 

ทศวรรษที่ผ่านมา เราเป็นประเทศที่มีความอ่อนไหวในด้านปัจจัยการเมืองเสมอ แต่ในช่วงไตรมาสสามปี 66 มีเหตุการณ์ทางการเมืองหลายประการดูคลี่คลายมากขึ้นอย่างเหลือเชื่อ อย่างที่กล่าวกันว่า หากคุณนอนหลับไป 4 เดือน ช่วง พ.ค.-ส.ค. พอตื่นขึ้นมาจะแทบไม่เชื่อสิ่งที่เกิดขึ้นเลย เราเพิ่งได้รัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งคาดการณ์ว่าน่าจะอยู่อย่างมีเสถียรภาพด้วยเสียงสนับสนุนที่เพียงพอ ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ปี 66-68 นี้ปัจจัยด้านการเมืองไทยนิ่ง ไม่มีผลกระทบใดต่อตลาดหุ้นไทย รัฐบาลใหม่สามารถเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่  

 

4. ปัจจัยด้านกิจการในตลาดหลักทรัพย์ 

หลายกลุ่มอุตสาหกรรม กำลังจะได้อานิสงส์ผลบวกจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังจะออกมา เช่น นโยบายดิจิตอลวอลเล็ต 10,000 บาท จะส่งผลดีต่อกลุ่มค้าปลีก กลุ่มค้าไอที และกลุ่มไอซีที นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวฟรีวีซ่า จะส่งผลบวกต่อกลุ่มโรงแรม กลุ่มการแพทย์ และกลุ่มบริการ นโยบายเจรจาทางการค้าการลงทุนจะส่งผลดีต่อกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมและกลุ่มผู้ผลิตส่งออก และนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรและพี่น้องฐานราก ก็จะส่งผลดีต่อกลุ่มการเงิน และกลุ่มค้าปลีก เป็นต้น นอกจากผลของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว ปี 2567 จะเป็นปีที่สิ้นสุดวงจรดอกเบี้ยขาขึ้นอย่างเป็นทางการ ก็จะส่งผลดีต่อกลุ่ม REIT และ Infrastructure Fund ของไทยด้วย ได้แรงส่งเสริมจากการฟื้นตัวหลังช่วงโควิดที่ผู้เช่ากลับมาอีกแรง 

 

5. ปัจจัยเชิงจิตวิทยาการลงทุน 

หากข้อ 1-4 เกิดขึ้น จะมีแนวโน้มสูงที่นักลงทุนต่างชาติจะพลิกกลับจากผู้ขายสุทธิ กลายเป็น “ผู้ซื้อสุทธิ” ในตลาดหุ้นไทย ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนราคาหุ้นให้วิ่งไปสู่มูลค่ากิจการและราคาเป้าหมาย เมื่อนักลงทุนรายย่อยเห็นดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นไป ก็จะมีแรงจูงใจในการนำเงินเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากขึ้น และเมื่อนักลงทุนรายย่อยจะซื้อกองทุนรวม ก็จะเลือกซื้อกองทุนรวมหุ้นไทยมากยิ่งขึ้นเพราะผลตอบแทนดูดี (4 ปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตของการเลือกกองทุนต่างประเทศสูงขึ้นมาก) ก็จะส่งผลให้นักลงทุนสถาบันในประเทศมีเม็ดเงินเข้ามาซื้อสุทธิหุ้นไทยได้มากขึ้น นักลงทุนทุกฝ่ายจะมีมุมมอง Bullish ในตลาดหุ้นไทยพร้อมกัน เกิดความกล้าในการลงทุน(Risk-On)เพื่อแสวงหากำไร 

 

โดยสรุป กรอบระยะเวลา 12 เดือน จากจุดนี้ ... ผมมีความเห็นว่า นี่เป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่เรามีปัจจัยการลงทุนเกื้อหนุนค่อนข้างชัดเจน ตลาดหุ้นไทยควรจะถึงเวลา มีโอกาสการลงทุนที่ดี ครับ 


เจ้าของหนังสือ Best Seller “ติวหุ้น รวยด้วยวีไอ” และยังเป็นวิทยากรคอร์ส “ลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐานแบบ Value/Growth Investor” ด้วยประสบการณ์ในตลาดทุนกว่า 17 ปี และประสบการณ์ในการเป็นติวเตอร์ บวกกับความเป็นคนอารมณ์ขัน  ทำให้คุณนิ้วโป้งสามารถถ่ายทอดเรื่องยาก อย่างการลงทุน ให้เข้าใจได้ง่าย และยังใช้ภาษา ลีลาที่มีเอกลักษณ์น่าสนใจอย่างยิ่ง จึงทำให้ได้รับเชิญไปบรรยายในงานต่างๆ มากมาย

Facebook

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง