ผู้ว่า ธปท. หวั่นนโยบาย "ดิจิทัลวอลเล็ต" 1 หมื่นบาท กระทบเสถียรภาพการเงิน แนะแจกเงินเฉพาะกลุ่มประหยัดงบกว่า เสนอนายกฯ เร่งโครงการที่จำเป็นหนุนเศรษฐกิจ จับตาเงินเฟ้อพุ่ง หลังราคาพลังงาน - อาหารขยับขึ้น
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้หารือกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ถึงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท โดยได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งได้แสงความเป็นห่วงเรื่องเสถียรภาพ แต่ต้องติดตามรูปแบบที่ออกมา เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจน และ ถ้าทำรูปแบบเฉพาะกลุ่ม จะประหยัดงบประมาณได้มากกว่า ซึ่งไม่ใช่ทุกคนต้องการ รวมทั้งเรื่องเสถียงภาพการทำนโยบายต่างๆ ต้องฉายภาพระยะปานกลางให้ชัด ทั้งรายจ่าย หนี้ ขาดดุลเป็นอย่างไร เช่น ช่วยสร้างความเชื่อมั่น วินัยการเงินการคลัง
นอกจากนี้ ยังให้ข้อมูลกับนายกฯ ไปว่า การฟื้นตัวเศรษฐกิจภาพรวมตอนนี้ตัวเลขโดยรวม แม้จะขยายตัวแค่ 1.8% ในไตรมาส 2/66 แต่การเติบโตที่ผ่านมาการบริโภคฟื้นตัวเติบโตได้ดี 2 ไตรมาสติดต่อกัน ซึ่งสิ่งที่ขาด คือ การลงทุนที่มีความจำเป็นต่อเศรษฐกิจไทย โดยภาพฟื้นตัวเศรษฐกิจ การกระตุ้นประเภทอื่นสำคัญกว่า
“นโยบายออกมา คือ ต้องไม่ทำลาย และ ไม่กระทบเสถียรภาพเยอะเกินไป ซึ่งเงินดิจิทัล 5.6 แสนล้านบาท ยังขาดความชัดเจน ถ้าออกมาเป็นดิจิทัลแอสเซ็ท ก็ได้พูดมาตลอดว่าไม่สนับสนุน เพราะจะเป็นตัวกลางชำระเงิน ไม่เอื้อเสถียรภาพ ถ้าเป็นอี-มันนี่ ก็เป็นรูปแบบที่มีอยู่ในระบบปัจจุบัน ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นต้องดูว่ากระตุ้นเศรษฐกิจ และ ผลกระทบการคลังอย่างไร”นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
อย่างไรก็ตาม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ได้พูดคุยกับนายกฯ แลกเปลี่ยนข้อมูลถึงข้อระมัดระวัง โดยไทยต้องให้ความสำคัญเรื่องเสถียรภาพ และ จับตามองในเรื่องนี้อยู่ ซึ่งเสถียรภาพหลายมิติที่กังวลเป็นพิเศษ คือ เสถียรภาพการคลังจะต้องมีเสถียรภาพ เช่น สหรัฐ ยังมีเครดิตเรตติ้งที่ลดลง และ ไม่เห็นความสำคัญเสถียรภาพการคลัง โดยธปท.จึงต้องดำเนินนโยบายเสถียรภาพอยู่
ส่วนมาตรการพักหนี้ขึ้นอยู่กับรูปแบบ มองว่า การพักหนี้ไม่ควรเป็นเครื่องมือหลัก และ ไม่ควรเป็นวงกว้าง ซึ่งได้แสดงความกังวลต่อรัฐบาลไปว่า การพักหนี้ในวงกว้างเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม แต่จะจำเป็นในช่วงจังหวะที่เหมาะสมชั่วคราว เช่น ช่วงโควิดถูกล็อกดาวน์ เนื่องจากได้รับผลกระทบ ซึ่งการพักหนี้ทุกคนไม่เหมาะ เพราะผลข้างเคียงมีมาก และ หนี้เกษตรกรบางกลุ่มยังมีศักยภาพสามารถปิดจบหนี้ได้ชำระแล้วมีแรงจูงใจที่จะทำต่อ แต่บางกลุ่มหนี้ของเกษตรกรเป็นหนี้ที่เรื้อรัง ปิดจบยาก อายุเยอะปิดไม่ได้ ถ้าพักก็ไม่ช่วย จึงจำเป็นต้องสร้างรายได้ และ มีมาตรการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ ส่วนหนี้เรื้อรัง ธปท.เป็นห่วง และ ได้เตือนไป แต่ทางรัฐบาลดูเหมือนจะรับฟัง แต่เรื่องนโยบายเป็นอย่างไร ก็อยู่ที่การตัดสินใจ"
สำหรับประเด็นข้อกังวลเรื่องการขาดดุลแฝด ทั้งดุลบัญชีเดินสะพัด และ ดุลบัญชีการคลัง หากมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลมองว่า ขาดดุลแฝดอาจเกิดได้ แต่ไม่ง่าย ไม่ได้กังวลมหาศาล และ มองว่า ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเริ่มกลับมา และ ปี 67 การท่องเที่ยวกลับมาทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดจะดีขึ้น แต่ถ้าเกิดขาดดุลแฝดจริงก็ไม่ได้ห่วง แต่เป็นห่วงภาระการคลังมากกว่า
ทั้งนี้ ในช่วงต้นไตรมาส 4/66 ธปท.จะออกแนวทางสอดคล้องกับไฟแนนเชี่ยลแลนด์สเค็ป เช่น การทำโครงสร้างพื้นฐานแลกเปลี่ยนข้อมูลให้มาตรฐานกลาง เช่น มีข้อมูลอยู่หลายแห่ง เช่น ธนาคาร การชำระค่าไฟ ค่าน้ำ มีข้อมูลอื่นที่นอกเหนือจากรายได้ เพื่อใช้ประกอบขอสินเชื่อ เพื่อช่วยลูกค้าที่ได้สินเชื่อสะดวกขึ้น
สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อมองว่า ยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นอยู่จากความเสี่ยงด้านพลังงานโลกที่เห็นสัญญาณกลับขึ้นมา และ เพิ่มขึ้นจากเอลนีโญ ที่ทำให้ราคาอาหารสูง น้ำหนักในตะกร้าสูง โดยต้องดูนโยบายการเงินสอดคล้องภาพระยะยาว และ ดูเงินเฟ้อในกรอบยั่งยืน 1-3% จะไม่สร้างพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนสูงช่วงดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งยอมรับว่า ดอกเบี้ยใกล้ถึงจุดที่เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจแล้ว
“ธปท.ต้องดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน เศรษฐกิจโตตามศักยภาพ เงินเฟ้อ ต้องทำตามกรอบ การมีเสถียรภาพด้านการเงินเป็นสิ่งที่ดี และ จำเป็นต่อเศรษฐกิจ ย้ำว่า ดอกเบี้ยที่พูดถึงไทยไม่เหมือนต่างประเทศ ไทยต้องทำให้ดอกเบี้ยแลนดิ้งสอดคล้องกับภาพระยะยาว หมายถึงตอนนี้ถอนคันเร่งออก แต่ไม่ถึงกับเหยียบเบรค”นายเศรษฐพุฒิ กล่าว