ผู้ว่าธปท. ยืนยัน 27 ก.ย.นี้ หั่นเป้าจีดีพีแน่นอน จากเดิมคาด 3.6% หลังเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/66 ต่ำกว่าคาด ชี้ดอกเบี้ยต้องเข้าสู่ระดับสมดุล หลังพบดอกเบี้ยต่ำนานดันหนี้ครัวเรือนพุ่ง หวังส่งออก - การลงทุนเอกชนฟื้นมาเป็น 2 เครื่องยนต์ ช่วยท่องเที่ยวกระตุ้นจีดีพีอีกแรง
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ปี 66 ออกมาต่ำกว่าคาด ขยายตัวเพียง 1.8% ทำให้ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในวันที่ 27 ก.ย.นี้ จะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 66(จีดีพี) ใหม่ จากปัจจุบันคาดว่าจะขยายตัว 3.6% และต้องปรับลดลงทั้งจีดีพีและเงินเฟ้อ แต่ในภาพรวมเศรษฐกิจยังเติบโตได้ดีจากการท่องเที่ยวและการบริโภคเอกชน โดยคาดจะเห็นตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวปีนี้ 29 ล้านคน และบริโภคเอกชนเติบโตครึ่งแรกปี 66 สูงสุดในรอบ 20 ปี
ทั้งนี้ ต้องติดตามภาคการส่งออกจะฟื้นตัวได้ช้ากว่าคาดหรือไม่ และภาคการท่องเที่ยวสำคัญมากกับการจ้างงานของประเทศ ส่วนนโยบายการเงินปรับไปตามบริบทของเศรษฐกิจ โจทย์นโยบายการเงินได้เปลี่ยนจาก "สมูท เทค ออฟ" คือ การฟื้นตัวไปได้ต่อเนื่อง ตอนนี้ไปสู่ "แลนดิ้ง" ซึ่งหากดูประชุม กนง.ล่าสุดได้ส่งสัญญาณการปรับดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป และใกล้จบรอบการปรับดอกเบี้ยแล้ว โดยดอกเบี้ยต้องอยู่ในระดับเหมาะสมกับภาพระยะยาว สอดคล้องความสมดุลระยะยาว คือเงินเฟ้อเข้ากรอบยั่งยืน 1-3% ,เศรษฐกิจเติบโตเป็นไปตามศักยภาพระยะยาวอยู่ที่ 3-4% และต้องไม่เกินความไม่สมดุลทางด้านการเงิน
“ที่ผ่านมายอมรับว่าดอกเบี้ยต่ำมานาน และทำให้ความไม่สมดุลเกิดขึ้น เกิดหนี้ครัวเรือนเพิ่มเยอะ 90.6% ของจีดีพี มาจากดอกเบี้ยต่ำมานาน ควรอยู่ระดับเหมาะสม ไม่อยากให้เกิดการแสวงหาผลตอบแทนที่สูง ในช่วงที่เหลือของการปรับดอกเบี้ยไทย ”นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
ด้านความเสี่ยงสำคัญที่จะกระทบเศรษฐกิจข้างหน้านั้น ที่กังวลคือเรื่องการส่งออกจะฟื้นกลับมาอย่างหวังหรือไม่ เศรษฐกิจไทยพึ่งการส่งออก การค้าโลกมาก และอีกเรื่องคือลงทุนเอกชนเป็นเครื่องยนต์ไม่ติดมานาน ไทยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาค ที่ระดับการลงทุนเท่ากับระดับก่อนปี 40 แต่ประเทศอื่นเติบโตไปมาก เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้น โดยมองว่าการลงทุนสำคัญเป็นการสร้างประสิทธิภาพแรงงาน อยากให้จีดีพีโต การผลิตและการลงทุนมากขึ้น