หากพูดถึงการบริหารจัดการเงินส่วนบุคคล (Personal Finance) เพื่อความมั่งคั่งและมั่นคงระยะยาวแล้ว การจัดพอร์ตการลงทุน คือ หนึ่งในสิ่งที่ต้องทำเป็นเรื่องแรกๆ เพราะสินทรัพย์เพื่อการลงทุนนั้นมีหลากหลาย ความเสี่ยงและผลตอบแทนไม่เท่ากัน การกระจายความเสี่ยงไปหลายสินทรัพย์นั้นเป็นเรื่องสำคัญ ความเข้าใจเป้าหมายผลตอบแทน และความเสี่ยงที่ตนเองยอมรับได้ก็เป็นเรื่องสำคัญ
ต่อไปนี้คือ ประเด็นสำคัญที่อยากจะเล่าให้ฟัง ว่าหากมีนักลงทุนคนหนึ่งเดินมาถามผมว่า
“อยากจัดพอร์ตการลงทุนให้ดี ขอ 3 ข้อ ต้องรู้อะไรบ้าง ?” ผมจะตอบเขาว่าอย่างไร
1. รู้จักตัวเองว่ารับความเสี่ยงได้แค่ไหน ...เพราะชีวิตแต่ละคน รับความเสี่ยงได้ไม่เท่ากัน
ชายหนุ่มอายุ 25 ปีเท่ากัน จบมาจากโรงเรียน มหาลัย คณะ เดียวกัน และเริ่มทำงานที่เดียวกัน ด้วยเงินเดือนสตาร์ทเท่ากัน เขาทั้งสองคนยังรับความสี่ยงได้ไม่เท่ากันเลยครับ เพราะยังมีเรื่องอื่นๆอีกมากมายที่ส่งผลกระทบได้ แต่ละคนอาจจะมีไม่เท่ากัน เช่น หนึ้สินส่วนตัว ภาระดูแลครอบครัว ทัศนคติเรื่องการเงินและการลงทุน(บางคนยอมรับการขาดทุนได้ บางคนยอมไม่ได้เลย) ฯลฯ ซึ่งเราสามารถหาไอเดียเบื้องต้นจากการทำแบบทดสอบระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ลองทำตามลิงค์นี้ดูครับ https://www.set.or.th/project/caltools/risk.html ซึ่งจะเป็นชุดคำถาม 10 ข้อ เพื่อหาระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมกับตัวเรา เมื่อทำเสร็จแล้วจะมีแนวทางการจัดสรรเงินลงทุนเบื้องต้น เป็นลักษณะพอร์ตการลงทุน ที่แบ่งคร่าวๆเป็น เงินสด ตราสารหนี้ หุ้น อย่างละกี่%ให้เห็นเป็นแนวทาง
อย่าลืมว่าในโลกของการลงทุน ใครๆก็อยากได้ผลตอบแทนสูงๆ ความเสี่ยงต่ำๆ ด้วยกันทั้งนั้น แต่ในความเป็นจริง ความเสี่ยงกับผลตอบแทนเป็นของคู่กัน อยากให้เงินต้นปลอดภัย ห้ามลดห้ามพร่อง ก็ต้องยอมรับผลตอบแทนน้อยลง แต่ถ้าอยากได้ผลตอบแทนสูง ก็ต้องยอมรับความเสี่ยงที่สูงขึ้น ดังที่กล่าวกันว่า High Risk High Return นั่นเอง
2. รู้จักสินทรัพย์ลงทุนแต่ละชนิด
สินทรัพย์ลงทุนมีอยู่มากมายหลายชนิด ตั้งแต่ความเสี่ยงต่ำ ถึงความเสี่ยงสูง ในโลกการเงินจึงมีคำว่า Asset Class ซึ่งก็คือ การจัดกลุ่มสินทรัพย์ลงทุน ที่มีลักษณะคล้ายกันมาอยู่ในกลุ่มเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นสภาพคล่อง ความเสี่ยง และผลตอบแทน ซึ่งนักลงทุนน่าจะคุ้นชินกับสินทรัพย์ลงทุน 5 กลุ่มนี้
- เงินสด (Cash) เช่น เงินสดที่เก็บไว้ เงินฝากธนาคารประเภทต่าง ๆ และ เงินลงทุนระยะสั้นที่มีสภาพคล่องสูง พร้อมจะเปลี่ยนแปลงเป็นเงินสดได้ตลอดเวลา
- ตราสารหนี้ (Fixed Income) เช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้เอกชน กองทุนตราสารหนี้ เป็นต้น
- อสังหาริมทรัพย์ (Real Estate) เช่น ที่ดิน บ้าน โกดัง อพาร์ทเม้นท์ คอนโดมิเนียม เป็นต้น
- หุ้น (Stocks) เช่น หุ้นสามัญ DR DRx ETFอ้างอิงหุ้น กองทุนหุ้น เป็นต้น
- สินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) เช่น ทองคำ น้ำมัน ยางพารา ถ่านหิน สินค้าเกษตร เป็นต้น
รู้จักสินทรัพย์แต่ละชนิดว่า เราสามารถคาดหวังผลตอบแทนได้เท่าไหร่ และต้องรับความเสี่ยงของราคาที่ลดลงจากการถือครองสินทรัพย์แต่ละชนิดให้ได้ด้วย
3. รู้จักแบ่งพอร์ตแยกเป้าหมาย
คนเรามีหลายเป้าหมายทางการเงิน บางเป้าหมายเป็นเป้าระยะสั้นภายใน 3 ปี เช่น เก็บเงินเพื่อซื้อรถยนต์ใหม่ บางเป้าหมายเป็นเป้าระยะกลาง 5-7 ปี เช่น เก็บเงินเตรียมเป็นทุนการศึกษาป.ตรี ป.โท ให้แก่ลูก และบางเป้าหมายเป็นเป้าระยะยาว 20 ปี เช่น เก็บเงินเพื่อเตรียมเกษียณสุข เป็นต้น
ดังนั้น เราสามารถมีหลายพอร์ตการลงทุน เพื่อตอบสนองเป้าหมายที่ต่างกันเหล่านั้น เพราะการจัดพอร์ตที่ดี อาจไม่ใช่การวางแผนแบบเพื่อเพิ่มพูนขนาดพอร์ตให้โตเร็วที่สุด เพราะนั่นอาจจะพาตัวเราให้ take risk มากจนเกินไป แต่เป็นการจัดการที่มีความสมดุลทั้งในแง่ของการจัดการความเสี่ยงและการทำกำไรจากพอร์ตนั้นๆ ตามเป้าหมายของแต่ละพอร์ตการลงทุน ที่โลกการเงินเรียกว่า Goals-Based Investing หรือ การแยกพอร์ตตามเป้าหมายการลงทุน
- เป้าหมายระยะสั้น (เก็บเงินระยะสั้น ยอมรับผลตอบแทนต่ำ เน้นความปลอดภัยเงินต้น)
ให้ความสำคัญกับสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำเป็นส่วนใหญ่ เช่น ตราสารหนี้เอกชน หรือเน้นการออมเงินแบบฝากประจำดอกเบี้ยสูงกับธนาคาร - เป้าหมายระยะกลาง (ออมเงินและลงทุน 5-7 ปี ผลตอบแทนปานกลาง)
ผสมการลงทุนเพิ่มเติมจากสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ ด้วยการเติม หุ้นแข็งแกร่ง กองรีท กองทุนรวมหุ้นและกองทุนผสมต่างๆ ลงไปบางส่วนเพื่อเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนระยะกลาง - เป้าหมายระยะยาว (ออมเงินและลงทุน 20 ปี เพื่อการเกษียณ ผลตอบแทนสูง)
การออมเพื่อการเกษียณ เริ่มจากการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีในกอง SSF และ RMF เติมหุ้น กองรีท กองทุนรวม ที่มีแนวโน้มให้ผลตอบแทนสูง และมีการปรับสมดุลพอร์ต Rebalance อย่างสม่ำเสมอ