#แนวคิดด้านการลงทุน

วิธีหลีกเลี่ยงการพอร์ตแตก...แบบเบสิก

โดย อธิป กีรติพิชญ์
เผยแพร่:
8,959 views

ครึ่งปีแรกของปี 2566 นี้ เป็นช่วงเวลาที่ผมพบเจอมิตรสหายสายลงทุน “พอร์ตแตก” เป็นจำนวนไม่น้อย

 

คำว่าพอร์ตแตกตามนิยามส่วนตัวของผมเอง คือ มูลค่าพอร์ตติดลบ 70% ขึ้นไป กระทั่งยากที่จะกอบกู้พอร์ตกลับมาให้มีขนาดเท่าเดิมได้ สาเหตุมักเกิดจากการ “ขาดทุนหนัก” จากการลงทุนในช่วงเวลานั้นๆ ซึ่งภาษาที่รายย่อยเราๆใช้กัน คือ “เจ๊ง” นั่นแหละครับ 

 

เท่าที่ประมวลดูแล้ว สาเหตุของการพอร์ตแตกในช่วงที่ผ่านมา ก็มาจากไม่กี่สาเหตุ ซึ่งเราน่าจะถอดบทเรียน และหาวิธีหลีกเลี่ยงการเจ๊งเหล่านี้ได้ 

 

1. ห้ามซื้อ “หุ้นเน่า หุ้นปั่น” ที่ราคากำลังเปลี่ยนแปลงอย่างร้อนแรงเด็ดขาด 

นักลงทุนจำนวนไม่น้อย ที่แปลงร่างเป็นนักเก็งกำไร แล้วลืมกฏเหล็กการลงทุนส่วนตัวทุกข้อที่เคยมี เพียงเพราะเห็นหุ้นเน่า เช่น หุ้นที่ไม่ส่งงบการเงิน หุ้นที่มีประเด็นลบและน่ากังขาในความโปร่งใส หุ้นที่ปัจจัยพื้นฐานแย่ ทั้งขาดทุนต่อเนื่อง ส่วนของผู้ถือหุ้นใกล้ติดลบ และดูไม่มีอนาคตในการ Turnaround ได้ แต่ราคาหุ้นกำลังเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นอย่างร้อนแรงด้วยสตอรี่บางอย่าง เข้าข่ายกลายเป็นหุ้นปั่น 

 

หุ้นปั่นหุ้นร้อนที่ราคาลงมาแล้ว 3 ฟลอร์ ทำให้นักเก็งกำไรเกิดอยากจะแหย่เงินเข้าไปเล่นเด้ง แล้วก็ออกกินกำไร แต่สุดท้ายเงินลงทุนก้อนแรกก็ติดอยู่ในนั้น เพราะลงฟลอร์ที่ 4 คนที่ติดอยู่ในสถานการณ์แบบนี้จะเกิดแรงผลักอย่างมหาศาลให้เอาเงินเข้าไปซื้อถัวหุ้นเน่าอีกเป็น 2 เท่า เพราะราคาปรับตัวลงมา -30% (ถูกกว่าไม้แรก) แต่กลับกลายเป็นเอาเงินสดเข้าไปติดหุ้นเน่าเพิ่มขึ้นๆ สุดท้ายหุ้นเน่าอาจจะลงได้ 6 ฟลอร์ติดต่อกัน หรือ หุ้นบางตัวอาจจะถูกสั่งห้ามซื้อขาย เงินลงทุนเดิมก็ขายออกไม่ได้ เพราะมีแต่ Bid ไม่มี Offer หรือ หากจะขายออก ต้องรับผลขาดทุนในระดับ “พอร์ตแตก” นั่นเอง 

 

ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดคือ อย่าเล่น “หุ้นเน่า หุ้นปั่น” ทุกกรณี รวมไปถึง พยายามหลีกเลี่ยงหุ้นที่มีเรื่องราวน่าสนใจ ที่ทำให้หุ้นปรับตัวขึ้น สูงขึ้นมากมายในเวลาอันสั้น ด้วยธีมการลงทุนที่ดูฉายฉวยและเปราะบาง ลองมองย้อนเวลากลับไปไม่เกิน 3 ปี เรายังจำธีมการลงทุน กัญชงกัญชา หรือ ธีมเหมืองขุดบิทคอยน์ ที่หุ้นหลายตัวต่างก็พยายามเกาะเกี่ยวกับเรื่องร้อนแรงนี้ ราคาหุ้นพุ่งขึ้น กระทั่งเคยเป็นหุ้นที่ปรับตัวขึ้นสูงที่สุดในรอบปีมาแล้ว ทุกวันนี้หุ้นเหล่านั้นราคาปรับลดลงมาสาหัสขนาดไหน 

 

เราควรสร้างนิสัย ไม่สนใจหุ้นที่มีการเก็งกำไรสูง ไม่สนใจหุ้นปั่น ไม่สนใจหุ้นสตอรี่ฉาบฉวย ซึ่งจะช่วยปกป้องเราไม่ให้ขาดทุนหนักจากการลงทุนในระยะยาวได้ เราต้องเลือกลงทุนในหุ้นที่มีผลประกอบการจะปรับตัวดียิ่งขึ้นเป็นหลัก แทนที่จะเน้นข่าวเน้นธีมร้อนระยะสั้น ซึ่งไม่สามารถทำให้พื้นฐานบริษัทเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นในระยะยาว 

 

2. อย่าลงทุนแบบเดิมพัน ด้วยการ Leverage สูง ตลอดเวลา 

นักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นสามัญ จะทราบดีว่า ราคาหุ้นก็มีความผันผวน และมีความเสี่ยงในระดับหนึ่งแล้ว แต่ก็มีนักลงทุนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่นิยมในการเล่นแบบเดิมพันสูงกว่า มี Gearing เพิ่มมากขึ้น เช่น DW (Derivative Warrant) TFEX และ Block Trade เป็นต้น 

 

จริงอยู่ว่า การลงทุนแบบเดิมพัน ใช้ Leverage สูงๆ รวมทั้งการใช้ Margin ในการเล่นหุ้น หากถูกทางก็จะได้รับผลตอบแทนมหาศาลเป็นกอบเป็นกำ แต่หากผิดทางจะให้ผลที่เลวร้ายกว่าหุ้นสามัญเยอะมาก เพราะนอกจากจะทำให้เงินลงทุนหดตัวลงอย่างรวดเร็วแล้ว หากวินัยในการ Stop Loss ไม่ทันท่วงที อาจจะทำให้สูญเสียเงินต้นทั้งหมด หรือต้องวางหลักประกันเพิ่มเติม (Margin Call) หากไม่วางเพิ่มก็จะถูกบังคับขาย(Forced Sell) ได้ 

 

นักลงทุนที่เล่นแบบเดิมพันด้วยการ Leverage สูงๆ อยู่ตลอดเวลา เปรียบเสมือนการขับรถที่ความเร็วมากกว่า 200 กม./ชม. อยู่ตลอดเส้นทาง ซึ่งอันตรายมาก เราไม่สามารถขับรถด้วยความเร็วสูงขนาดนั้นตลอดเวลาได้ วันนึงเราจะพลาดอย่างรุนแรง และวันนั้นคือวันพอร์ตแตกนั่นเอง 

 

3. อย่าลงทุนแบบตามแห่ อะไรที่ดูดีมากเกินไปในช่วงนั้น มักจะแพง

หากเราลองสังเกตดูการโปรโมทกองทุนต่างประเทศน่าซื้อ ตลาดหุ้นที่น่าเข้าไปลงทุน หรือแม้แต่หุ้นที่น่าลงทุนในช่วงนี้ จะพบว่า มันคือตลาดหุ้น หรือ หุ้น ที่เพิ่งปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรงในครึ่งปีแรกแทบทั้งสิ้น เพราะมันดูสมเหตุสมผลว่าจะเป็นของดี หากไม่ดีจริงแล้วราคาจะปรับตัวขึ้นมามากกว่า +20% ถึง +30% ในหกเดือนได้ยังไง 

 

แต่ลองมองย้อนเวลากลับไปดู การลงทุนในตลาดหุ้น หรือหุ้นที่ราคาเพิ่งปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรง มักจะให้ผลลัพธ์ที่ไม่ดีในระยะยาว เพราะนอกจากเราจะเข้าซื้อที่ต้นทุนเสียเปรียบ(แพง)แล้ว เรามักจะถูกชักจูงด้วย “การปรับขึ้นของราคา” มากกว่าความเข้าใจในตัวกิจการจริงๆ ว่าทำไมถึงน่าลงทุน 

 

จงลงทุนเฉพาะในสิ่งที่เรารู้และเข้าใจ ไม่ลงทุนเพราะราคาวิ่งดี หรือลงทุนตามแห่ไปกับคนอื่น โดยที่เรายังไม่เข้าใจในตัวกิจการจริงๆว่าจะเป็นอย่างไรในปีหน้า หรือ 2-3 ปีข้างหน้า พยายามลงทุนในกิจการที่เราเข้าใจ พอจะประเมินอนาคตได้ ไม่ลงทุนในกิจการที่นอกเหนือขอบข่ายความรู้ของเรา และในขณะเดียวกัน ก็ต้องพยายามศึกษาหาความรู้ในอุตสาหกรรมใหม่ๆเพื่อเพิ่มขอบข่ายความรู้ของเราให้กว้างพอที่จะจับโอกาสในอุตสาหกรรมอื่นๆด้วย 


เจ้าของหนังสือ Best Seller “ติวหุ้น รวยด้วยวีไอ” และยังเป็นวิทยากรคอร์ส “ลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐานแบบ Value/Growth Investor” ด้วยประสบการณ์ในตลาดทุนกว่า 17 ปี และประสบการณ์ในการเป็นติวเตอร์ บวกกับความเป็นคนอารมณ์ขัน  ทำให้คุณนิ้วโป้งสามารถถ่ายทอดเรื่องยาก อย่างการลงทุน ให้เข้าใจได้ง่าย และยังใช้ภาษา ลีลาที่มีเอกลักษณ์น่าสนใจอย่างยิ่ง จึงทำให้ได้รับเชิญไปบรรยายในงานต่างๆ มากมาย

Facebook

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง