#แนวคิดด้านการลงทุน

ปรับความคิดพิชิตการลงทุน

โดย ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เผยแพร่:
643 views

ตั้งแต่เริ่มเป็น VI เมื่อเกือบ 30 ปี ก่อน ความคิดในการมองโลกของผมหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปมาก แน่นอนว่าไม่ได้เปลี่ยนไปเลยทันทีทุกอย่าง แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้า ๆ ในแบบของ “Evolution” หรือเป็น “วิวัฒนาการ” ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงไปแบบแทบจะไม่รู้ตัวในช่วงแรก ๆ จนถึงจุดหนึ่งก็จะพบว่าตนเองนั้นเปลี่ยนแปลงไปมาก และต่อไปนี้ก็คือ ความคิด 3 เรื่องในการมองโลกที่ไม่เหมือนเดิมเมื่อเริ่มหันมาเป็น “VI พันธุ์แท้”


เรื่องแรกก็คือสิ่งที่ผมพูดมาบ่อย ๆ ว่าช่วย “เปลี่ยนชีวิต” ของผมมากที่สุด นั่นก็คือ การเปลี่ยนจาก “นักสู้” เป็น “นักเลือก” โดยที่ “นักสู้” ก็คือคนที่ทุ่มเทความพยายามให้กับสิ่งที่ตนเองทำอย่าง “สุดกำลัง” เช่น ถ้าอยากจะประสบความสำเร็จโดยเฉพาะจากการทำงานหาเงินและชื่อเสียง ตั้งแต่เรียนจบปริญญาตรีหรือก่อนหน้านั้นคือระดับมัธยมศึกษา ผมก็มุ่งหน้าเรียนในสาขาวิชาที่จะ “ทำเงินมากที่สุด” ในช่วงเวลานั้น


เมื่อเรียนจบก็เริ่มทำงานที่ให้รายได้ต่อเดือนสูงสุดเท่าที่จะหาได้ เมื่อเริ่มทำงานก็จะทำอย่างขยันขันแข็งและรับผิดชอบต่องานสูงมาก ทั้งหมดนั้นก็ทำให้ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ก็เป็นได้แค่ “วิศวกร” ที่เป็น “ส่วนเล็ก ๆ ส่วนหนึ่ง” ของโรงงานรุ่นเก่าแบบที่มีปล่องควันและปล่อยมลพิษออกมาค่อนข้างมาก


การ “ต่อสู้” ต่อมาก็คือการปรับความรู้ให้สูงขึ้นและทำงานที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น รวมถึงสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีขึ้น คือกลายเป็น “นักการเงิน” ที่ให้บริการทำดีลให้กับลูกค้าที่มักจะเป็นธุรกิจรายใหญ่ที่สามารถเลือกใช้ผู้ให้บริการมากมาย การเป็น “นักสู้” ในธุรกิจนี้ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ช่วยให้ประสบความสำเร็จได้มากนักทั้ง ๆ ที่ต้องทำงาน “แทบตาย”


เหตุผลก็เพราะปัจจัยที่จะทำให้ลูกค้าเลือกนั้น ไม่ใช่เรื่องของสิ่งที่เราเสนอเท่านั้น แต่เป็นองค์ประกอบต่าง ๆ เช่น ชื่อเสียงและประสบการณ์ของบริษัท ความสามารถของทีมงานที่ต้องเป็นระดับ “อินเตอร์” และเครือข่ายลูกค้าของบริษัท เป็นต้น ดังนั้น การเป็น “นักสู้” ของเราก็มีประโยชน์น้อยที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ


เมื่อประสบกับวิกฤติตลาดหุ้นในปี 2540 ที่ทำให้ต้องตกงานและต้อง “เลือก” ว่าจะทำอย่างไรกับชีวิต ผมก็เลือกที่จะเป็น “นักลงทุนในตลาดหุ้น” และก็พบว่า ตนเอง “ทำได้ดีมาก” เหตุผลก็เพราะว่า “เรียนมามาก” และมีทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับเรื่องของเงินตั้งแต่เด็ก เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ เห็นคุณค่าของเงิน เป็นคนประหยัดอดออม ชอบ “ค้าขายและทำธุรกิจ” ตั้งแต่อายุ 10 ขวบ เป็นคนที่ชอบทางด้านของการคิดแบบมีเหตุผล ในขณะที่ไม่เก่งทางด้านสังคมและภาษาและก็ไม่สนใจทำตามคนส่วนใหญ่ ทั้งหมดนั้น เป็น “จุดแข็ง” สำหรับการลงทุนในตลาดหุ้น


ตั้งแต่นั้นมา ผมก็เปลี่ยนแปลงจาก “นักสู้” เป็น “นักเลือก” ผมคิดว่าถ้าจะประสบความสำเร็จแบบที่ง่ายลงไปมากก็คือ เลือกเรื่องที่จะทำก่อน โดยวิเคราะห์ว่าเรามีจุดแข็งเพียงพอหรือไม่ หลังจากนั้นแล้วค่อย “สู้” ซึ่งประสบการณ์ของผมก็คือ เมื่อเราสู้ในสิ่งที่เรามีจุดแข็ง มีความได้เปรียบที่ยั่งยืน เราจะสู้อย่างสนุกและไม่เหนื่อยหรือท้อแท้ ซึ่งนั่นก็จะนำมาซึ่งความสำเร็จอย่างคาดไม่ถึง


เรื่องที่สองของการปรับเปลี่ยนความคิดก็คือ “ชีวิตคือการต่อสู้” หรือ “การแข่งขัน” และคำว่า “ชีวิต” นี้ รวมไปถึงสัตว์หรือพืช รวมไปถึงชีวิตหลายชีวิตที่มารวมกันเป็นประเทศ เป็นองค์กรเช่น รัฐบาล วัดวาอาราม และที่สำคัญที่สุดในยุคของโลกสมัยใหม่ก็คือ บริษัท และไม่ว่าจะเป็นใครหรือหน่วยงานใด พวกเขาต่างก็กำลัง “แข่งขัน” กับ “คู่แข่ง” เพื่อที่จะ “ชนะ”
แต่ในยามที่เขาไม่สามารถเอาชนะได้อย่างชัดเจน เขาก็มักจะ “ร่วมมือ” คือเข้ามาสนับสนุนกันเป็น “กลุ่ม” โดยมีความเชื่อว่าการร่วมมือจะช่วยให้กลุ่มสามารถต่อสู้หรือแข่งขันเพื่อเอาชนะ “กลุ่มอื่น” ที่เป็น “คู่แข่ง” ได้


การวิเคราะห์พฤติกรรมต่าง ๆ ของคนหรือองค์กรทางสังคม การเมือง หรือบริษัท นั้น ทุกครั้งผมก็จะมองก่อนว่า เขากำลังต่อสู้หรือแข่งขันกับใคร แต่ละฝ่ายมีจุดแข็งจุดอ่อนตรงไหน และจุดแข็งหรือจุดอ่อนเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ยั่งยืนมากน้อยแค่ไหน และสุดท้ายใครจะเป็นฝ่ายชนะในระยะยาว และก็เช่นเดียวกัน ผมก็มักจะมองว่า ในระยะสั้นนั้น บ่อยครั้งก็จะมีการ “ร่วมมือกัน” เพื่อที่จะต่อสู้กับอีกคนหนึ่งหรืออีกกลุ่มหนึ่งก่อน


รูปแบบพฤติกรรมการร่วมมือและการแข่งขันนั้น เห็นได้ชัดในทางการเมือง ตัวอย่างเช่น ในอดีตนั้น จีนร่วมมือกับโซเวียตรัสเซียเพื่อต้านหรือแข่งขันกับสหรัฐอเมริกา ต่อมาเมื่อโซเวียตเริ่ม “แพ้” จีนกลับมาร่วมมือกับอเมริกาตั้งแต่ยุคเติ้งเสี่ยวผิง จนถึงปัจจุบันที่จีนพัฒนามาจนถึงจุดที่ใกล้เคียงกับอเมริกาก็กลายเป็นว่าคู่ต่อสู้ของจีนก็คืออเมริกา และรัสเซียก็กลับมาร่วมมือกับจีน เพราะรัสเซียนั้นไม่สามารถเอาชนะอเมริกาได้แล้ว


การจัดตั้งรัฐบาลของไทยในช่วงนี้เองนั้น ถ้าจะมองไปก็สามารถใช้รูปแบบหรือโมเดลของการแข่งขันและการร่วมมือดังกล่าวได้ และถ้าวิเคราะห์ให้ดีผมก็พอจะมองออกว่าผลสุดท้ายจะออกมาเป็นอย่างไรตั้งแต่วันเลือกตั้งเสร็จ อย่างไรก็ตาม ผมก็ไม่อยากที่จะพูดถึงในบทความนี้ ซึ่งเน้นเฉพาะวิธีคิดที่อาจจะนำมาใช้ในเรื่องของการลงทุนได้


ข้อสรุปของผมก็คือ ถ้าเราจะวิเคราะห์สิ่งมีชีวิตหรือคนหรือกลุ่มคน เช่น บริษัท เราจำเป็นต้องหาว่าใครคือคู่แข่งหรือคู่ต่อสู้ อย่าเชื่อคำพูดที่ว่า “เราไม่มีคู่แข่ง” หรือเรา “ไม่แข่งกับใคร” หรือแม้แต่ “เราแข่งกับตัวเอง” เพราะความเป็นจริงอาจจะเป็นว่าเราแข่งกับคนหรือบริษัททั้งโลกที่อาจจะอยู่นอกประเทศไทย--และเราไม่รู้


เช่นเดียวกับเรื่องการกระทำหรือนโยบายของประเทศไทยที่นักการเมืองบางคนอาจจะคิดว่าเราจะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ที่จะพัฒนาประเทศหรือดึงชาวต่างประเทศที่มีเทคโนโลยีเข้ามาลงทุน แต่ไม่เคยคิดว่าคู่แข่งของไทยคือใครและเขาได้เปรียบหรือเสียเปรียบเรามากน้อยแค่ไหน แล้วเราจะแพ้หรือชนะในการทำอย่างนั้น คำตอบของผมก็คือ เราแพ้แน่ และคนที่จะชนะก็อาจจะเป็นเวียตนามหรืออินโดนีเซีย เป็นต้น อาจจะเพราะพวกเขาคิดว่าใครคือคู่แข่งและจะเอาชนะได้อย่างไร


แนวความคิดเรื่องที่ 3 ที่ผมคิดว่าสำคัญโดยเฉพาะในเรื่องของการเลือกหุ้นหรือธุรกิจหรืออะไรก็ตามเพื่อลงทุน นั่นก็คือ คำกล่าวที่ว่า “ของฟรีไม่มีในโลก” แต่จริง ๆ แล้วที่ถูกต้องกว่าน่าจะเป็น “ของฟรีไม่ค่อยมีในโลก” ความหมายของคำนี้ในทางการเงินแล้วก็คือ ของทุกอย่างจะได้มาต้องมี “ต้นทุน” ที่จะต้องจ่ายเสมอ ของบางอย่างที่เราคิดว่าได้มาโดยไม่ต้องจ่ายอะไรเลยนั้น จริง ๆ ก็มีต้นทุนที่ซ่อนไว้โดยเราอาจจะไม่รู้ตัว ตัวอย่างเช่น เราได้ดูทีวี “ฟรี” แต่ที่จริงเรามักจะต้องดูโฆษณาซึ่งต้องเสียเวลาและจริง ๆ ก็คิดเป็น “ต้นทุน” ได้


ถ้าจะพูดถึงเรื่องการลงทุน เช่น ในตลาดหุ้น คำว่าผลตอบแทนที่เราได้นั้น ต้องมีต้นทุนอยู่แล้วคือค่าของเงินหรือคือดอกเบี้ยที่เราจะต้องเสียอยู่แล้ว และยังมีต้นทุนอีกตัวหนึ่งก็คือ เรื่องของ “ความเสี่ยง” ที่เราจะต้องรับ ซึ่งปกตินั้น ผลตอบแทนที่ได้ก็จะ “สมน้ำสมเนื้อ” อาจจะประมาณ 6-7% ต่อปีในช่วงนี้ แต่หลายคนก็อาจจะบอกว่าตนเองนั้นสามารถทำได้ 20% ต่อปีโดยการเทรดหุ้นที่ยอดเยี่ยม ซึ่งส่วนต่างระหว่าง 20% กับ 7% คือ 13% ก็จะเป็น “ของฟรี”


แต่นักวิชาการที่ศึกษาข้อมูลย้อนหลังจริง ๆ อาจจะพบว่า ที่ได้ 20% นั้น เป็นเรื่องฟลุ๊กและเกิดขึ้นบางปี แต่ถ้ามองระยะยาว ที่ว่าได้ 20% นั้น ไม่จริง บ่อยครั้งโดยเฉลี่ยนแล้วได้น้อยกว่า 7% ต่อปี ด้วยซ้ำ ถ้าดูจากข้อมูลของประเทศไทยเอง ก็มีช่วงที่ดีกว่าปกติและแย่กว่าปกติมาก แต่คนที่อยู่ในช่วงดี อาจจะเป็น 10 ปีเลย ก็จะพูดว่าเขาได้เงินจากตลาดปีละหลายสิบเปอร์เซ็นต์และแน่นอน เป็นเพราะ “ฝีมือ” ไม่มีคำว่าฟลุ๊ก


แต่เรื่องนี้ผมคิดว่าเราคงต้อง “ฟังหูไว้หู” รอดูไปอีก 10 ปีหรือมากกว่านั้น แล้วก็จะรู้ว่าความจริงคืออะไร อย่ามองการลงทุนในหุ้นว่าเป็นเรื่องที่สามารถสร้างความมั่งคั่งได้มหาศาลและความเสี่ยงน้อย ประสบการณ์ในตลาดหุ้นสหรัฐที่ยาวนานเป็น 100 ปีนั้น คนที่ทำได้มีแค่หยิบมือเดียวและก็พูดซ้ำทุกวันคือวอเร็น บัฟเฟตต์ กับเซียนนักเก็งกำไรบันลือโลก เช่น เจสซี่ ลิเวอร์มอร์
ที่เคยรวยและดังคล้าย ๆ บัฟเฟตต์ แต่เจ๊งและฆ่าตัวตายไปนานมากแล้ว


ข้อสรุปก็คือ ลงทุนในตลาดหุ้นจงอย่าหวังผลตอบแทนสูงเกินกว่าปกติมาก เพราะของฟรีไม่ (ค่อย) มีในโลก สิ่งที่ต้องคำนึงถึงมากกว่าก็คือ “อย่าขาดทุน” อย่างที่บัฟเฟตต์เตือนอยู่เสมอ


นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า Value Investor (VI) 

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง