มูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น (Book Value per Share) เป็นอัตราส่วนทางการเงินที่นิยมนำมาวิเคราะห์ก่อนตัดสินใจลงทุน
เพื่อดูว่าหุ้นตัวนั้น “ถูกหรือแพง” ด้วยการเปรียบเทียบกับราคาหุ้น ณ ขณะนั้น
นักลงทุนมักจะคุ้นเคยกับสัญลักษณ์ว่า P/BV Ratio ซึ่งสามารถดูได้ในเว็บ set.or.th
เรามักจะจำว่า ถ้าหุ้น P/BV ยิ่งต่ำยิ่งดี
ถ้าน้อยกว่า 1 แสดงว่าหุ้นถูก ซื้อได้
แต่ถ้ามากกว่า 1 แสดงว่าหุ้นแพง ต้องรอดูอีกที หรือหลีกเลี่ยงไปเลย
ตามตำราบอกว่า ถ้าอยู่ราวๆ 1 หรือ 2 เท่า ถือว่าเป็นเรื่องที่รับได้
แต่ถ้ามากกว่า 2 อาจจะบ่งบอกว่ามันแพงเกินไป ...
ปรากฏว่าพอเวลาใช้จริง หุ้นต่ำ P/BV ยังไงมันก็ยังต่ำอยู่อย่างนั้น
ในขณะเดียวกันหุ้นที่ P/BV สูงๆ กลับวิ่งได้ดีกว่า
ทำไมถึงเป็นแบบนั้น ?
คำตอบน่าจะประกอบไปด้วยเหตุผล 2 ประการด้วยกันคือ
1. มูลค่าทางบัญชี มาจากทรัพย์สินที่จับต้องได้และประเมินออกมาเป็นตัวเลข
แต่ในความเป็นจริง ทรัพย์สินบางอย่างไม่สามารถตีความเป็นตัวเลขและใส่ลงไปในงบการเงินได้ เช่น ตราสินค้า แบรนด์ ความเก่งของทีมบริหาร หรือนวัตกรรมของบริษัท
แน่นอนว่าถ้าบริษัทไหนมีจุดเด่นเป็นสินทรัพย์ประเภทนี้เยอะ มูลค่าทางบัญชีก็จะต่ำ ทำให้ P/BV ดูสูง
ผลประกอบการของบริษัทออกมาดี ทำให้ราคาหุ้นวิ่งเพราะมูลค่าของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากสินทรัพย์ที่ประเมินค่าไม่ได้
2. หุ้น P/BV ต่ำๆ อาจจะบ่งบอกว่าธรรมชาติของอุตสาหกรรมของบริษัทนั้นไม่เติบโต
ในบางกรณี P/BV Ratio ต่ำ ๆ อาจจะต่ำโดยธรรมชาติของอุตสาหกรรมที่มักจะไม่ได้ซื้อขายกันที่ P/BV Ratio สูง ๆ ก็ได้
หรือหุ้นตัวนั้นอาจไม่ดีจริงจนถึงขั้นที่นักลงทุนให้ค่าน้อยมาก ทำให้ P/BV Ratio ต่ำมาก
แต่การที่นักลงทุนจะรู้ว่า P/BV Ratio ที่ควรจะเป็นมีค่าเท่าไหร่นั้น ก็ต้องดูอัตราส่วนทางการเงินอื่น ๆ รวมถึงวิเคราะห์ข้อมูลด้านอื่นร่วมด้วย
สิ่้งที่นักลงทุนต้องรู้ คือ P/BV Ratio เหมาะแก่การนำมาวิเคราะห์ความถูกแพงเบื้องต้นเท่านั้น
ไม่ได้บ่งบอกว่า ต้องซื้อหรือขาย ดีหรือไม่ดี
เพราะ P/BV Ratio ใช้มูลค่าทางบัญชีเป็นหลัก
ซึ่งในความเป็นจริง เวลาหุ้นขึ้นหรือลงไม่ได้ขึ้นลงตามมูลค่าตามบัญชี แต่ขึ้นลงด้วยกำไร ถ้าบริษัททำธุรกิจเก่ง มีกำไรเพิ่มขึ้น หุ้นก็ต้องขึ้นแน่นอน แม้ว่ามูลค่าหุ้นตามบัญชีจะลดลงก็ตาม
พูดง่ายๆ คือ การวิเคราะห์ P/BV Ratio เพื่อประเมินมูลค่าหุ้น
ย่อมไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจลงทุนครับ