สรุปสาระสำคัญ
- ปี 2565 บริษัทจดทะเบียนไทย 813 บริษัท จ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลรวม 3.75 แสนล้านบาทสูงสุดในประวัติศาสตร์ และคิดเป็น 50.2% ของภาษีนิติบุคคลที่กรมสรรพากรจัดเก็บทั้งหมดในปี 2565
- มูลค่าการเก็บภาษีเพิ่มเป็น 2.4 เท่า เมื่อเทียบกับช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยสาเหตุหลักมาจากความสามารถของบริษัทจดทะเบียนที่มากขึ้น สร้างรายได้มากขึ้น และความโปร่งใสในการทำบัญชี
- ข้อมูลที่นำมาคิดเป็นภาษีนิติบุคคลที่จ่ายให้กับกรมสรรพากร ยังไม่ครอบคลุมภาษีอื่นๆ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัทตรวจสอบบัญชี กองทุนต่างๆ รวมถึงภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย ที่หักจากนักลงทุนในตลาดหุ้นไทยเมื่อมีการจ่ายปันผล
- ข้อมูลที่น่าสนใจอีกอย่าง คือ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา บริษัทจดทะเบียนไทยจ่ายภาษีรวมกันแล้วกว่า 2.32 ล้านล้านบาท
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เผยแพร่ SET Note เรื่อง “ตลาดหุ้นไทย: บทบาทต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยกับการมีส่วนร่วมในการจ่ายภาษีให้ภาครัฐ” ว่าตลาดทุนประกอบด้วยผู้มีส่วนร่วมเกี่ยวข้องหลายฝ่าย ซึ่งมีส่วนในการสร้างงาน สร้างนวัตกรรม สร้างกำลังซื้อผ่านการจ้างงาน และสร้างผลกำไร ถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างรายได้ให้ภาครัฐผ่านการมีส่วนร่วมในการจ่ายภาษีและเป็น “ห่านทองคำ” อีกตัวหนึ่งในการเสริมสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศไทย
ทั้งนี้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 56 - 65) รัฐบาลไทยจัดเก็บภาษีสุทธิหลังหักการจัดสรรแล้วเฉลี่ยปีละ 2.37 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่ประมาณ 80% จัดเก็บโดยกรมสรรพากร และกว่า 631,000 ล้านบาทเป็นการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล
ขณะที่หากพิจารณาเฉพาะภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยจากงบการเงินรวม พบว่าในปี 65 บริษัทจดทะเบียนไทย 813 บริษัท จ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลรวมสูงสุดในประวัติศาสตร์ด้วยมูลค่ารวมกว่า 375,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 50.2% ของภาษีนิติบุคคลที่กรมสรรพากรจัดเก็บทั้งหมดในปี 65
ด้านกลไกการเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นไทยช่วยให้ภาครัฐจัดเก็บภาษีได้เพิ่มมากขึ้น สังเกตได้จากมูลค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลที่บริษัทจดทะเบียนนำส่งกรมสรรพากรในช่วง 3 ปี หลังจากเข้าจดทะเบียนซื้อขายฯ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 2.4 เท่า เมื่อเทียบกับในช่วง 3 ปีก่อนเข้าจดทะเบียนฯ จากความสามารถในการสร้างรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นและความโปร่งใสในการทำบัญชีที่เพิ่มมากขึ้น
นอกจากภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ภาครัฐจัดเก็บจากบริษัทจดทะเบียนแล้ว บริษัทจดทะเบียนยังมีการจ่ายภาษีในรูปแบบต่างๆและไม่รวมถึงภาษีต่างๆที่ผู้มีส่วนร่วมในตลาดหุ้นไทยได้จ่ายภาษีให้ภาครัฐ อาทิ
… ภาษีอื่นๆ และรวมทั้งอากร ที่บริษัทจดทะเบียนจ่ายรวมกว่า 277,000 ล้านบาท ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
… ประมาณการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่กรมสรรพากรจัดเก็บจากการจ้างงานพนักงานของบริษัทจดทะเบียนไทยในปี 64 มีมูลค่าสูงถึง 80,325 ล้านบาท หรือคิดเป็น 24% ของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งหมดที่สรรพากรจัดเก็บในปี 64
… ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ที่หักจากนักลงทุนในตลาดหุ้นไทยเมื่อมีการจ่ายปันผลในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีมูลค่าสูงกว่า 249,000 ล้านบาท โดยในปี 65 ปีเดียวมีการนำส่งภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย รวมสูงกว่า 30,000 ล้านบาท
ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าตลาดหุ้นไทยมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมในฐานะผู้มีหน้าที่จ่ายภาษีให้แก่ภาครัฐ