#ข่าวหุ้นธุรกิจการลงทุน

KBANK ทุ่ม 170 ล้านบาท ดำเนินการเชิงรุก ช่วยลูกค้าหนีภัยมิจฉาชีพหลอกดูดเงิน

โดย stock2morrow
เผยแพร่:
377 views

วันนี้ (8 มิ.ย.) ธนาคารกสิกรไทย (KBank) เปิดเผยว่าในช่วง 10 วันที่ผ่านมา ทางธนาคารได้ส่งข้อความ SMS ไปยังลูกค้าประมาณ 20 ล้านข้อความ เพื่อแจ้งเตือนไม่ให้ลูกค้าของธนาคารคลิกลิงก์ใน SMS แม้ว่าจะส่งมาในกล่องข้อความเดียวกันกับ SMS ที่มาจากธนาคารกสิกรไทยก็ตาม โดยชี้แจงว่า ธนาคารกสิกรไทยจะไม่มีการส่งลิงก์ใดๆ ไปกับข้อความ SMS ทั้งสิ้น
 

นายชัชวัฒน์ อัศวรักวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป และผู้บริหารด้านความมั่นคงปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า “เราลงทุนประมาณ 170 ล้านบาทไปกับโครงการต่างๆ มากมาย สื่อสารไปถึงลูกค้าของเราที่มีอยู่ 22 ล้านราย เพื่อช่วยให้ลูกค้าของเรารอดพ้นจากมิจฉาชีพบนโลกออนไลน์ ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งของโครงการต่างๆ ดังกล่าว คือการส่ง SMS แจ้งเตือนให้ลูกค้าทราบว่าธนาคารกสิกรไทยจะไม่ส่งลิงก์ไปกับข้อความ SMS ของธนาคาร” 
 

นายชัชวัฒน์กล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทยร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการช่วยสอดส่องดูแลธุรกรรมที่น่าสงสัยต่างๆ ขณะเดียวกันก็ประสานงานกับธนาคารอื่นๆ พร้อมกับเพิ่มจำนวนทีมงานในการสอดส่องดูแล รวมถึงมีการประชุมพิจารณาสถานการณ์เป็นประจำทุกวันภายในแต่ละหน่วยธุรกิจเพื่อตรวจจับธุรกรรมที่อาจจะเข้าข่ายผิดกฎหมาย นายชัชวัฒน์กล่าวเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการจับกุมมิจฉาชีพที่ส่ง SMS หลอกลวงประชาชนได้จำนวนหนึ่ง เมื่อช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งความพยายามต่างๆ เหล่านี้ ส่งผลให้การหลอกลวงของมิจฉาชีพออนไลน์ที่กระทำได้สำเร็จ มีจำนวนลดลง
 

นายชัชวัฒน์เปิดเผยว่า มิจฉาชีพออนไลน์จำนวนมากที่มาหลอกลวงคนไทย ไม่ได้อาศัยอยู่ในประเทศไทย ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำงานยากมากยิ่งขึ้นไปอีกในการติดตามจับกุมตัวมาดำเนินคดี 
 

“มิจฉาชีพออนไลน์เหล่านี้ส่วนใหญ่หลอกล่อเพื่อให้เหยื่อให้ความร่วมมือ เช่น ชวนเพิ่มเพื่อน LINE ปลอม และพูดคุย โน้มน้าวให้ติดตั้งแอปพลิเคชันอันตราย เพื่อให้มิจฉาชีพสามารถควบคุมโทรศัพท์มือถือและเข้าถึงโมบายแบงก์กิ้งของเหยื่อ ขโมยข้อมูลสำคัญของเหยื่อ หรือหลอกให้เหยื่อโอนเงินจากบัญชีของเหยื่อไปยังบัญชีของมิจฉาชีพ เพราะฉะนั้น ขั้นตอนแรกและเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในการสร้างเกราะป้องกันตัวเองให้รัดกุมยิ่งขึ้นก็คือ ทุกคนจะต้องไม่หลงเชื่อและตรวจสอบยืนยันแหล่งที่มาให้มั่นใจก่อนที่จะกระทำการใดๆ ก็ตาม” นายชัชวัฒน์กล่าว
 

นายชัชวัฒน์ได้แนะนำ 3 เรื่องที่เจ้าของบัญชีทุกคนสามารถทำได้เลย เพื่อเพิ่มความปลอดภัยได้ทันที และทำให้มิจฉาชีพออนไลน์มาหลอกลวงให้เสียทรัพย์ได้ยากยิ่งขึ้น
 

“ข้อหนึ่ง เพิ่มเพื่อน LINE Official Account ของธนาคารกสิกรไทย ที่ชื่อ “KBank Live” ซึ่งสามารถตรวจสอบว่าเป็น LINE Official Account จริงของธนาคารกสิกรไทยได้โดยสังเกตจากสัญลักษณ์โล่สีเขียวด้านหน้าชื่อ” วิธีการนี้ มิจฉาชีพออนไลน์จะส่งข้อความปลอมให้คุณได้ยากขึ้น เมื่อเทียบกับช่องทาง SMS นอกจากนั้น LINE Official Account นี้ ยังเป็นช่องทางที่ปลอดภัยกว่าในการรับแจ้งเตือนจากธนาคารกสิกรไทย รวมถึงในการติดต่อสื่อสารกับธนาคาร
 

ข้อสอง ไม่คลิกลิงก์ที่ส่งมากับ SMS แม้จะส่งมาในกล่องข้อความเดียวกันกับธนาคาร เพราะมิจฉาชีพออนไลน์จะสามารถแฮ็กและควบคุมโทรศัพท์ของท่านได้ โดยหลอกให้ท่านติดตั้งแอปพลิเคชันอันตราย ด้วยการกดลิงก์ที่ส่งมากับ SMS หรือ Line ปลอมเหล่านั้น ทั้งนี้ธนาคารกสิกรไทยจะไม่มีการส่งลิงก์อะไรก็ตามไปกับข้อความ SMS โดยเด็ดขาด เนื่องจากมิจฉาชีพสามารถส่ง SMS ปลอม โดยใช้ชื่อผู้ส่ง SMS เป็นใครก็ได้ ส่งตรงเข้าไปที่โทรศัพท์มือถือของประชาชนโดยไม่ผ่าน เครือข่ายของค่ายมือถือ ด้วยการใช้อุปกรณ์ประเภท False Base Station ซึ่งทำให้ข้อความ SMS ปลอมเหล่านั้น ดูเหมือนว่าถูกส่งมาจากธนาคารกสิกรไทย หรือบริษัท หรือหน่วยงานอื่นๆ” นายชัชวัฒน์กล่าว
 

นายชัชวัฒน์เปิดเผยว่า ธนาคารบางแห่งในสิงคโปร์ ได้ทำการลดหรือยกเลิกการส่งข้อความ SMS ให้ลูกค้าแล้ว เพื่อยกระดับความปลอดภัยให้กับลูกค้า
 

“และข้อสาม เช็กกับคอลเซ็นเตอร์ของธนาคารกสิกรไทย ที่หมายเลข 02-888-8888 กด 001” เมื่อมีข้อสงสัยเกี่ยวกับธุรกรรมกับธนาคาร ธนาคารกสิกรไทยยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะตอบคำถาม ให้คำแนะนำ และพร้อมให้บริการทุกท่านเสมอ
 

จากการติดตามและวิเคราะห์ของธนาคารกสิกรไทย พบว่า โดยทั่วไปมิจฉาชีพออนไลน์จะใช้การแต่งเรื่องหลอกลวงในสี่รูปแบบเพื่อชักจูงให้เหยื่อหลงเชื่อและให้ความร่วมมือกับมิจฉาชีพในการคลิกลิงก์ ติดตั้งแอปพลิเคชันอันตราย หลอกให้เปิดเผยข้อมูลที่เปิดช่องให้มิจฉาชีพเข้าควบคุมเครื่องโทรศัพท์มือถือของเหยื่อ หรือหลอกให้เปิดเผยข้อมูลบัญชีธนาคารของเหยื่อ รวมทั้งหลอกลวงให้เหยื่อโอนเงินให้
 

“เรื่องหลอกลวงของมิจฉาชีพหลักๆ รูปแบบแรก จะบอกให้ลูกค้าคลิกลิงก์ ติดตั้งแอปพลิเคชันอันตราย  ให้ข้อมูลบัญชี เพื่อที่จะลงทะเบียนรับความช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาล เรื่องหลอกลวงรูปแบบที่สองคือ ประเภทชวนคุยสร้างความสัมพันธ์ที่สนิทชิดเชื้อ และหลอกลวงให้เหยื่อทำบางอย่างโดยอาศัยความไว้วางใจ หรือ แบล็กเมล์ เรื่องหลอกลวงรูปแบบที่สาม และรูปแบบที่สี่ คือบอกกับเหยื่อว่าเหยื่อกำลังถูกตำรวจสืบสวน หรือถูกสรรพากรตรวจสอบภาษีอยู่ แล้วหลอกลวงให้เหยื่อรีบโอนเงินให้ เพื่อที่จะได้ไม่ถูกฟ้อง หรือไม่ต้องเจอกับปัญหาคดีความใดๆ หรือบอกกับเหยื่อว่าบัญชีของเหยื่อมีปัญหา หรือไม่ปลอดภัย แล้วพยายามชักจูงให้เหยื่อติดตั้งแอปลพลิเคชันอันตราย หรือให้เหยื่อทำการโอนเงินไปที่บัญชีของมิจฉาชีพ” นายชัชวัฒน์กล่าว
 

ทั้งนี้ ในประเทศไทยมีบัญชีธนาคารอยู่ประมาณ 122 ล้านบัญชี ในจำนวนนี้เป็นบัญชีที่ใช้งานผ่านทางออนไลน์ได้มากกว่า 99 ล้านบัญชี
 

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า “มิจฉาชีพสร้างความเดือดร้อนให้กับเหยื่อเป็นอย่างมาก โดยมิจฉาชีพมักจะเน้นไปที่กลุ่มคนที่เดือดร้อนมากที่สุดหากต้องสูญเสียเงินออมที่หามาด้วยความยากลำบาก ธนาคารกสิกรไทยจึงมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเป็นผู้นำในด้านความปลอดภัยของลูกค้า เราจึงได้ลงทุนอย่างมากไปกับเทคโนโลยีต่างๆ พร้อมกับทำงานเชิงรุกเพื่อให้ประชาชนมีความรู้ในการป้องกันตัวเองจากมิจฉาชีพออนไลน์”

 

 

นางสาวขัตติยากล่าวว่า มากกว่า 87% ของบัญชีออนไลน์ธนาคารกสิกรไทยทั้งหมด ได้เปลี่ยนไปใช้ระบบยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าแล้ว ซึ่งช่วยยกระดับความปลอดภัยในการทำธุรกรรมของลูกค้าให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น 
 

“ลูกค้าธนาคารกสิกรไทยทำให้เราเป็นธนาคารดิจิทัลอันดับ 1 ของประเทศไทยในแทบจะทุกมิติของตัวชี้วัดสำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็นในด้านของจำนวนผู้ใช้แพลทฟอร์มดิจิทัล จำนวนการโอนเงินออนไลน์ หรือความหลากหลายของบริการต่างๆ บนแพลทฟอร์มออนไลน์ และจากการที่ในปัจจุบัน มากกว่า 90% ของธุรกรรมของธนาคารกสิกรไทยทั้งหมดเป็นการดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ เราจึงได้ลงทุนไปกับวิธีการที่จะช่วยให้ประสบการณ์ของลูกค้าในการใช้แพลทฟอร์มต่างๆ ของธนาคารกสิกรไทย ทำได้ง่าย สะดวกสบาย และปลอดภัยอยู่เสมอ”
 

ปัจจุบัน K PLUS มีลูกค้าใช้งานมากกว่า 20 ล้านคน ซึ่งมากกว่าคู่แข่งที่ใกล้เคียงที่สุดกับธนาคารกสิกรไทย ถึง 20% โดยทุก 1 วินาที มีจำนวนการทำธุรกรรมผ่าน K PLUS มากกว่า 1,000 รายการ  และมีมูลค่าการทำธุรกรรมต่อเดือนเฉลี่ยแล้วมากกว่า 2 ล้านล้านบาท 
 

ก่อนหน้านี้ ธนาคารกสิกรไทยได้เผยว่าทางธนาคารได้ลงทุนไปประมาณ 22,000 ล้านบาทเพื่อยกระดับเทคโนโลยี ในช่วงระหว่างปี 2565 - 2567

 


ศูนย์รวมความรู้เรื่องหุ้น ศูนย์รวมนักลงทุนรายย่อย ที่อยากรู้วิธีการลงทุนในหุ้นอย่างถูกต้องและได้กำไรอย่างยั่งยืน ติดตามเราได้ที่

www.stock2morrow.com 

FB: stock2morrow 

LINE@stock2morrow

FacebookInstagramYoutubeLine

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง