ทุกๆปีจะมีช่วงเวลา ที่ผมจะได้ยินข่าวว่า “มีคนหมดเงินเก็บสะสมทั้งชีวิต ไปกับ … “
อย่างปีล่าสุด 2565 อาจจะเป็นคริปโตสินทรัพย์ดิจิตอลสารพัดเหรียญ อาจจะเป็นหุ้นเทคโนโลยีบางตัว อาจจะเป็นหุ้นจีนบางตัว หรือ อาจจะป็นหุ้นแบงค์ในต่างประเทศบางตัว ที่ราคาลดลงอย่างน่ากลัวช่วงที่ผ่านมา
กรณีตลาดหุ้นไทย ก็ใช่ว่าจะไม่มี ในปี 2566 ที่เพิ่งผ่านมา 4 เดือนนี้ ก็มีหุ้นไทยพิมพ์นิยม (เคยเป็นที่นิยมเล่นกันมาก) ราคาปรับตัวลงอย่างน่ากลัวเช่นกัน ตัวอย่างขอเป็นชื่อย่อนะครับ เช่น หุ้น J1 -52%, หุ้น J2 -41% , หุ้น S1 -50%, หุ้น S2 -47%, หุ้น B -32% ฯลฯ นี่คือการปรับลดลงในรอบ 4 เดือน ในช่วงเวลาเดียวกัน SET ปรับตัวลดลง -7%
ปัญหาใหญ่ประการหนึ่งในการลงทุนหุ้น ที่ทำให้คนๆหนึ่งสามารถหมดเงินเก็บสะสมทั้งชีวิต คือ การยึดติดกับตัวหุ้นและราคาเป้าหมายมากเกินไป ว่าหุ้นตัวที่ฉันถืออยู่นี้ ต้องไปที่ราคาเป้าหมายเท่านั้นเท่านี้แน่ๆ ซึ่งราคาเป้าหมายนี้บางครั้ง ก็มาจากวงใน มาจากเพื่อน มาจากแหล่งหุ้นเด็ด ที่สุดท้ายเด็ดวิญญาณได้ทั้งสิ้น อันนี้ต้องระวัง
อีกปัญหาหนึ่ง ที่ทำให้ถลำลึกเข้าสู่ปัญหาได้อีก คือการซื้อถัวเฉลี่ยขาลง อย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพราะยึดติดว่าหุ้นตัวนี้ดี แถมราคาลงมาแล้วเยอะมาก เช่น -50% ภายในปีเดียว ก็ขอย้ำอีกครั้งว่า ***หุ้นที่ลงมาแล้ว -50% “…ไม่ใช่หุ้นที่ลงทุนได้ทุกตัว*** เราจะท่องคาถา "จงกล้า เวลาคนอื่นกลัว" แบบซี้ซั้ว ไม่ได้ !!!
สมมติว่ามีหุ้นบางตัว งบการเงินปี 65 ไม่ส่ง ผู้บริหารลาออก เปลี่ยนตัวกรรมการเกือบยกชุด แม้ว่างบการเงินที่ผ่านมาจะดูดีแค่ไหน แต่เราไม่มีความจำเป็นต้องไปดูงบการเงินย้อนหลังให้เสียเวลาแล้ว เพราะถ้าผู้สอบบัญชีไม่รับรองงบการเงิน ไม่ส่งงบการเงินปีล่าสุด เราก็ไม่ต้องอ่านย้อนหลังเลยครับ ในเมื่อหุ้นดีๆ แถมยังถูก ในตลาดหุ้นไทยยังมีเยอะ เราควรจัดสรรพลังงานและเวลาไปที่กลุ่มหุ้นเหล่านั้นดีกว่า
ตัวอย่างในอดีต การถัวหุ้นขาลง ที่สุดท้ายราคาแทบกลายเป็นฝุ่น มีเยอะ หุ้นแบบนี้ ยิ่งถัว ยิ่งเข้าสู่หลุมดำ
- หุ้นลิสซิ่งที่งบดีมาก รายได้จากต่างประเทศดีเกินจริง ถูกสงสัยว่าไม่จริง
- หุ้นเครื่องสำอางค์เน้นขยายสาขา งบสวยดี แต่หน้างานลูกค้าอยู่ไหน แทบไม่เคยเห็น
- หุ้นอสังหาฯเพิ่มทุนแบบถี่ๆทั้งPP และRO สุดท้ายมีหนี้มาจากไหนไม่รู้ หุ้นหมดค่า
หุ้นเหล่านี้ราคาปัจจุบันแทบไม่เหลือค่า บ้างก็ถูกห้ามซื้อขายไปแล้ว ไม่เคยมีตัวไหนกลับมาได้อีกเลย
เราเลือกหุ้นดี ที่ราคาโซนล่าง ยังไงก็ได้เปรียบกว่า เราเน้นดูพื้นฐาน และทำตามสเต็ปว่า
- Money Making Machine เครื่องจักรพิมพ์เงินสดของกิจการนั้น คืออะไร มีคุณภาพดีแค่ไหน มีความได้เปรียบเชิงแข่งขันแค่ไหน ผูกขาดหรือกินขาดหรือไม่ ลูกค้าภักดีแค่ไหน มีแนวโน้มขยายกิจการหรือไม่ ฯลฯ
- Undervalue ราคาหุ้นต้องต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง ถ้ายังสูงเกินมูลค่าที่แท้จริงอยู่ เราต้องไม่ซื้อ
- Portfolio Diversification กระจายการลงทุนลงในหุ้น 7-10 ตัว โดยลงทุนในหุ้นคุณภาพสูงเท่านั้น เพราะการทำธุรกิจเป็นการดีลกับความไม่แน่นอน หุ้นก็เช่นกัน การกระจายไปสู่หุ้นคุณภาพสูงที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง 7-10 ตัว ต่อให้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดกับหุ้น 1 ตัวที่ราคาลดลงครึ่งหนึ่ง ก็จะกระทบพอร์ตการลงทุนของเราไม่มาก
ถ้าทำทั้ง 3 ขั้นตอนนี้ ผมมั่นใจว่า จะไม่เกิดเหตุการณ์สูญเสียเงินเก็บสะสมทั้งชีวิตกับหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง
ขอสรุปอีกครั้งว่า อย่ายึดติดกับตัวหุ้นและราคาเป้าหมายมากเกินไป และห้ามซื้อถัวเฉลี่ยขาลง อย่างไม่มีที่สิ้นสุด เด็ดขาดครับ