#แนวคิดด้านการลงทุน

บริหารเงินใช้หลังเกษียณ ด้วยงบกระแสเงินสด

โดย อธิป กีรติพิชญ์
เผยแพร่:
961 views

พี่วัยเกษียณ ไม่ว่าจะหยุดทำงานตามอายุเกษียณที่ 60 ปี หรือหยุดทำงานจากการเกษียณอายุก่อนกำหนด (Early Retirement) เช่น อายุ 55 ปี  จำเป็นต้องวางแผนการใช้เงินหลังเกษียณอย่างดียิ่ง นี่คือสิ่งสำคัญลำดับต้นๆของวัยเกษียณ ที่อาจจะสำคัญไม่แพ้เรื่องสุขภาพและความรักในครอบครัว 

เงินก้อนสุดท้ายมักจะเป็นเงินก้อนใหญ่ที่ได้จากการทำงานและเก็บออมในหลากหลายรูปแบบ เช่น กองทุนสำรองลี้ยงชีพ กบข. กองทุนประหยัดภาษี LTF RMF ที่ครบอายุ เงินฝากสหกรณ์หน่วยงาน ประกันชีวิตสะสมทรัพย์ครบอายุ ฯลฯ

 พี่เกษียณหลายท่านไม่เคยจับเงินก้อนใหญ่ขนาดนี้มาก่อน การบริหารจัดการเงินก้อนสุดท้ายนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่ต้องมั่นใจว่า มันจะเพียงพอต่อการใช้จ่ายแบบไม่ลดคุณภาพชีวิต ตลอดระยะเวลาอย่างน้อย 20 ปีที่เราจะไม่ได้ทำงาน ดังนั้นการบริหารจัดการเงิน ควบคุมดูแลแบบใกล้ชิดจึงเป็นเรื่องจำเป็น เหมือนเราเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการเงิน(Chief Finance Officer) ของชีวิตเราเอง 

สิ่งที่ผมพบเจอบ่อยๆ คือพี่วัยเกษียณมักจะใช้ “งบกำไรขาดทุน” ในการติดตามข้อมูลการเงิน ซึ่งก็คือ มองจากเงินก้อนที่ได้จัดสรรงบรายเดือนไว้ใช้จ่ายจำนวนนึง แล้วนำมาใช้จ่ายรายเดือนต่างๆ เช่น ค่าอาหาร ค่าไฟฟ้าประปาโทรศัพท์อินเตอร์เน็ต ค่าเดินทาง ค่าแชมพูสบู่ยาสีฟัน ค่าท่องเที่ยว และค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันต่างๆ ฯลฯ ถ้ารวมสุทธิแล้วยังอยู่ในงบรายเดือน ก็สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข 

แต่ในความเป็นจริง ผมคิดว่าเราควรใช้หลักการของ “งบกระแสเงินสด” ซึ่งมีหลายมิติกว่า ในการติดตามข้อมูลการเงินมากกว่าครับ สมมติว่าตัวเราคือบริษัทมหาชนแห่งหนึ่ง งบกระแสเงินสด จะมี 3 ส่วนสำคัญที่จะมอง คือ
 

  1. กระแสเงินสดสุทธิจากการดำเนินงาน (CFO : Cashflow From Operating Activities) ในกรณีที่เราใช้ติดตามข้อมูลการเงินวัยเกษียณ CFO คือเงินสดสุทธิที่คงเหลือ จากงบประมาณใช้จ่ายประจำปีของเรา (รวมถึงรายรับอื่นๆที่อาจจะมีเงินสดไหลเข้ามา เช่น เงินปันผล ค่าเช่า) หักด้วย ค่าใช้จ่ายประจำวันทั้งหมดที่เราใช้จ่ายออกไป เช่น เราตั้งใจใช้เงินเดือนละ 30,000 บาท งบปีของเราคือ 360,000 บาท หักออกด้วยค่าใช้จ่ายประจำวันต่างๆตลอดทั้งปี สมมติเป็นเงิน 300,000 บาท ดังนั้น CFO ของเรายังเป็นบวก (คงเหลือ = +60,000 บาท) ซึ่งนับว่าเป็นนิมิตหมายอันดี ซึ่งหลายคนอาจจะคิดว่ารอดแล้ว อันที่จริงเราต้องดูที่ข้อ 2 ต่อครับ
     
  2. กระแสเงินสดสุทธิจากการลงทุน (CFI : Cashflow From Investing Activities)  กรณีงบบริษัท ส่วนนี้คือกระแสเงินสดที่แสดงการใช้เงินสดออกไปลงทุน เช่น ซื้อเครื่องจักร ขยายสาขา ขยายโครงข่าย ฯลฯ ซึ่งเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีอายุใช้งานระยะยาวเพื่อให้เกิดดอกผลจากการลงทุน ในกรณีที่เราใช้ติดตามข้อมูลการเงินวัยเกษียณ CFI คือเงินสดลงทุนซื้อของที่ใช้ในระยะยาว(เช่น เกิน 3 ปี) เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า รถยนต์ ฯลฯ หรือในบางกรณีอาจจะต้องซ่อมบ้านครั้งใหญ่ หรือซื้อคอนโดใหม่ หรืออาจจะเป็นค่ารักษาสุขภาพก้อนใหญ่ก็เป็นได้ ทั้งหมดนี้นับเป็นรายจ่ายลงทุน(CAPEX) ซึ่งนับเป็นเงินสดไหลออกทั้งสิ้น 
     
  3. กระแสเงินสดสุทธิจากการจัดหาเงิน (CFF : Cashflow From Financing Activities) ในกรณีงบบริษัท ถ้าเป็นลบ แสดงว่าใช้เงินสดจ่ายปันผลหรือชำระหนี้ (จ่ายเงินออก) แต่ถ้าส่วนนี้เป็นบวกแปลว่ามีการกู้เงินหรือเรียกเพิ่มทุนเข้ามา(รับเงินเข้า) ในกรณีที่เราใช้ติดตามข้อมูลการเงินวัยเกษียณ CFF เงินสดจ่ายออก คือ การให้อั่งเปาลูกหลานประจำปี (เหมือนเงินปันผล) แต่ถ้ากรณีฉุกเฉินใดๆหากก่อหนี้หยิบยืมเงิน ก็จะเป็นเงินสดไหลเข้า จากการกู้เงินก่อหนี้ 

 

  • กรณีที่ 1 : มีเงินใช้หลังเกษียณอย่างแท้จริง 

ถ้ากระแสเงินสดในข้อ 1) CFO เป็นบวก 2) CFI ติดลบ 3) CFF ติดลบ แปลว่าชีวิตเกษียณสามารถใช้จ่ายเงินได้ตามงบประมาณที่ตั้งไว้รายปี สามารถซื้อของใช้ที่เป็นงบลงทุนได้ อีกทั้งยังสามารถให้อั่งเปาลูกหลานทุกปี ทำได้แบบนี้คือสุดยอด 

 

  • กรณีที่ 2 : มีเงินใช้หลังเกษียณ แต่อาจจะต้องระมัดระวังการซื้อของชิ้นใหญ่ 

ถ้ากระแสเงินสดในข้อ 1) CFO เป็นบวก 2) CFI ติดลบ 3) CFF เป็น 0 แปลว่าชีวิตเกษียณสามารถใช้จ่ายเงินได้ตามงบประมาณที่ตั้งไว้รายปี แต่ไม่สามารถซื้อของใช้ที่เป็นงบลงทุนก้อนใหญ่ๆตามใจได้ทุกอย่าง ต้องบริหารเงินลงทุนข้อ 2) CFI ให้ดี ก็จะผ่านได้ ข้อ 3) CFF ถึงแม้ไม่ได้ให้อั่งเปาลูกหลาน (อันที่จริงควรเป็นลูกๆที่นำเงินอั่งเปามาให้ผู้สูงวัยนะครับ) แต่ถือว่ามีเงินใช้เป็นของตนเอง ไม่ต้องกู้ยืมใคร 

 

  • กรณีที่ 3 : มีเงินใช้ไม่พอหลังเกษียณ แม้แต่รายเดือนยังติดลบ 

ถ้ากระแสเงินสดในข้อ 1) CFO ติดลบ และ 2) CFI ติดลบ อีก นั่นแปลว่าชีวิตเกษียณมีเงินออมไม่พอใช้ ต้องลดคุณภาพชีวิตการใช้จ่ายลงเพื่อให้ 1) CFO และ 2) CFI ติดลบน้อยที่สุด ซึ่งอาจจะต้องอาศัยเงินสดไหลเข้าจากข้อ 3) CFF ด้วยการ พึ่งพาลูกหลานในการดำรงชีพ หรือแม้กระทั่งหยิบยืมก่อหนี้ ซึ่งอันตรายและจะไม่สบายใจ  

 

ขอให้พี่เกษียณทุกท่าน บริหารเงินออมอย่างมีประสิทธิภาพ ได้อยู่ในกรณีที่ 1 กันทุกคนครับ 


เจ้าของหนังสือ Best Seller “ติวหุ้น รวยด้วยวีไอ” และยังเป็นวิทยากรคอร์ส “ลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐานแบบ Value/Growth Investor” ด้วยประสบการณ์ในตลาดทุนกว่า 17 ปี และประสบการณ์ในการเป็นติวเตอร์ บวกกับความเป็นคนอารมณ์ขัน  ทำให้คุณนิ้วโป้งสามารถถ่ายทอดเรื่องยาก อย่างการลงทุน ให้เข้าใจได้ง่าย และยังใช้ภาษา ลีลาที่มีเอกลักษณ์น่าสนใจอย่างยิ่ง จึงทำให้ได้รับเชิญไปบรรยายในงานต่างๆ มากมาย

Facebook

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง