WARRIX สลัดภาพแบรนด์สินค้ากีฬา เคลื่อนทัพธุรกิจไปสู่ Active Lifestyle วางแผนพัฒนาสินค้าเข้าตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ก่อนเดินหน้าขยายกลุ่มลูกค้าในวงการกีฬา-ค่ายเพลง-สุขภาพ พร้อมบุกตลาดอาเซียนเต็มสูบ แย้มปี 2566 ตั้งเป้าสร้างรายได้โต 30%
บนเส้นทางการทำธุรกิจของ ‘WARRIX’ หลังก้าวสู่การเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เสื้อฟุตบอลทีมชาติไทยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560-2572 วันนี้ถือว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จในการทำตลาดไทย สเต็ปจากนี้ไปเตรียมเจาะตลาดในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย สิงคโปร์ พม่า สปป.ลาว อินโดนีเซีย ด้วยวิสัยทัศน์การขยายแบรนด์ไปสู่ Regional
วิศัลย์ วนะศักดิ์ศรีสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วอริกซ์ สปอร์ต จำกัด (มหาชน) หรือ WARRIX กล่าวว่า หลายคนมองว่าภาพลักษณ์ของ WARRIX เป็นแบรนด์สินค้ากีฬาเท่านั้น เราจึงต้องนำธุรกิจไปสู่การเป็นแบรนด์แห่ง Active Lifestyle ที่ไม่ได้เน้นเฉพาะแบรนด์กีฬา แต่จะเป็นสินค้าที่เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของคนรุ่นใหม่ เพื่อรองรับเทรนด์การใส่ชุดกีฬาและรองเท้าสนีกเกอร์ในชีวิตประจำวันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เรียกได้ว่าอนาคตพอร์ตของบริษัทจะขยายมากกว่าเรื่องของฟุตบอล ที่สำคัญถ้าเราหมดสัญญาการเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เสื้อฟุตบอลทีมชาติไทยก็จะไม่กระทบกับยอดขายหลัก ซึ่งหากเทียบสัดส่วนคนไทยจะพบว่า 20% หรือประมาณ 14 ล้านคน เป็นแฟนฟุตบอล แน่นอนว่าประชากรกลุ่มนี้สร้างโอกาสการเติบโตของส่วนไลเซนส์ แต่ยังเหลือประชากรอีกหลายล้านคนที่ยังเป็นโอกาสสร้างการเติบโตควบคู่กันไป
หากสังเกตจะพบว่าที่ผ่านมาบริษัทได้จับมือพันธมิตรแบบข้ามอุตสาหกรรม เช่น ค่ายเพลง LOVEiS, ค่ายเพลง High Cloud ของ กอล์ฟ ฟักกลิ้งฮีโร่ เพื่อผลิตสินค้าของที่ระลึกสำหรับวงศิลปิน งานคอนเสิร์ต โดยนำ Know-How จากการทำชุดให้ทีมสโมสรเข้ามาผลิตสินค้าที่ระลึก ทำให้เรามีฐานแฟนคลับศิลปินเข้ามาเพิ่มขึ้น
สำหรับแผนการดำเนินงานต่อจากนี้ WARRIX เตรียมพัฒนาสินค้าใหม่ ควบคู่กับการขยายช่องทางขายในห้างโมเดิร์นเทรดทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพื่อขยายฐานลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น รวมถึงการขยายกลุ่มลูกค้าในวงการกีฬาให้ครอบคลุม เริ่มตั้งแต่ตลาดวิ่งที่เริ่มเติบโตอย่างมาก รวมถึงบาสเกตบอล กอล์ฟ ตลอดจนอุปกรณ์เทรนนิ่ง ฟุตแวร์ และอันเดอร์แวร์
ด้านแผนงานในตลาดอาเซียน ในปี 2565 บริษัทได้เข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท Premier Football ในประเทศสิงคโปร์ เพื่อนำสินค้าของ WARRIX เข้าไปจำหน่าย คาดว่าจะได้รับการตอบรับอย่างดี โดยวางเป้ารายได้ปีแรกที่ 3 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และอยู่ระหว่างดำเนินการทางกฎหมายเพื่อทำธุรกิจชุดกีฬาในมาเลเซีย คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566
นอกจากนี้ยังได้ลงทุนซื้อสิทธิเครื่องหมายการค้าของ ‘Fit Junctions’ สถาบันฝึกสอนการออกกำลังกายและโภชนาการ ซึ่งจะช่วยให้บริษัทได้รับสิทธิในช่องทางโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook, YouTube, TikTok และเว็บไซต์ รวมถึงสื่อการสอนในรูปแบบ E-Book และคลิปวิดีโอ และจากนี้เราเตรียมเปิดให้บริการคลินิกกายภาพสาขา 2 และศูนย์ฝึกกีฬาวิ่งที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ภายในไตรมาส 1 พร้อมปรับรูปแบบการบริการ แบ่งเป็น 4 ด้าน ได้แก่ การรักษา ฝึกฝน ฟื้นฟู และการนอนหลับ คาดว่าธุรกิจสุขภาพจะสร้างรายได้ให้บริษัท 50 ล้านบาท
การกระจายธุรกิจไปในทุกๆ เซ็กเมนต์จะทำให้บริษัทมีรายได้จากหลายช่องทาง โดยปี 2566 ได้ตั้งเป้าสร้างรายได้เติบโตประมาณ 20-30% หลักๆ มาจากธุรกิจเดิมอย่างธุรกิจสปอร์ตไลเซนซิ่ง (Sport Licensing) 21% และสินค้าทั่วไป (Non-Licensed) 78%
ด้านผลประกอบการในปี 2565 WARRIX มีกำไรสุทธิ 128.63 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 113.53 ล้านบาท หรือ 752% จากงวดปี 2564 ที่มีกำไรสุทธิ 14.2 ล้านบาท เป็นผลมาจากโควิดคลี่คลาย ทั้งภาครัฐและเอกชนเริ่มจัดกิจกรรม ทำให้ช่องทางขายเริ่มกลับมาทำยอดขายได้อีกครั้ง ประกอบกับการพยายามบริหารต้นทุนให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ