เมื่อคืนที่ผ่านมา สิ่งที่นักลงทุนน่าจะจับตามากที่สุด คือ ถ้อยแถลงของ FED
โดย FED เน้นย้ำว่า จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงกว่าคาด และคงไว้ระดับสูงให้นานพอเพื่อให้แน่ใจว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวลงมาสู่ที่ระดับ 2%
โดยสาเหตุที่ทำให้ FED คิดแบบนี้ คือ ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ดูดีเกินไป อาจจะทำให้เงินเฟ้อยืดเยื้อมากขึ้น ไม่ยอมลงมาอยู่ที่ระดับ 2%
พูดง่ายๆ คือ ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การบริโภคที่สูงขึ้น อาจจะเป็นสาเหตุทำให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น สวนทางกับแนวคิดของ FED ที่จะพยายามทำทุกสิ่งทุกอย่างให้เงินเฟ้อลงมาให้ได้
ดังนั้น สิ่งที่เราจะเห็น FED ทำ คือ ขึ้นดอกเบี้ยแรงๆ และคงไว้ระดับสูงให้นานพอ ...
แต่เดิมสิ่งที่ตลาดมองเอาไว้ คือ เมื่อต้นปี FED มีการปรับดอกเบี้ยขึ้น 0.25% และอาจจะปรับอีกครั้งกลางปีอีก 0.25% และคงอัตราไว้จนกระทั่งจบปี 2566
แต่ภาพสะท้อนจาก Fed Watch Tool ในปัจจุบันพบว่า ...
เราอาจจะเห็นวันที่ 22 มีนาคม ที่จะถึงนี้ FED จะปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 0.5% ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ 5.25% มีความเป็นไปได้ถึง 69.8%
ขณะที่เพดานการปรับดอกเบี้ย FED อาจพุ่งสูงถึง 5.75% ในเดือนมิถุนายน และคงไว้ในระดับสูงจนกระทั่งจบปี 2566
ถือเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดอยู่พอสมควร เพราะโดยส่วนใหญ่ ถ้าตัวเลขเศรษฐกิจออกมาแข็งแกร่ง นักลงทุนจะคลายกังวล
แต่กลับกลายเป็นว่า ด้วยตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง นักลงทุนกลับรู้สึกกังวลเพราะกลัวว่า FED จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยแบบดุดัน และคงไว้ในระดับสูง
อย่างไรก็ตาม วันศุกร์ที่จะถึงนี้ จะมีการประกาศตัวเลขการจ้างงาน หรือ Nonfarm Payrolls ซึ่งถ้าตัวเลขออกมาดี เราอาจจะเห็น FED ขึ้นดอกเบี้ยแบบแรงๆ
หรือพูดง่ายๆ คือ ดําเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นก็เป็นได้ครับ ...