นักลงทุนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อย ที่เริ่มเข้ามาศึกษาการลงทุนแบบปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental) หรือ การลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investment) ในช่วงปีแรกๆอาจจะคิดว่าการลงทุนในสายนี้ ที่เน้นปัจจัยพื้นฐานของกิจการเป็นหลัก มีแนวคิดในการถือหุ้นระยะยาวตราบเท่าที่กิจการยังคงมีปัจจัยพื้นฐานที่ดี และราคาหุ้นยังไม่แพงเกินมูลค่าที่แท้จริง
โดยระหว่างทางที่ถือครองหุ้นดีเหล่านั้น ก็มักจะมี “เงินปันผล” จ่ายให้ตลอดทุกปี ด้วยอัตราเงินปันผล (Dividend Yield) ที่ดีกว่าดอกเบี้ยฝากธนาคาร บางตัวจ่ายปันผลปีละ 2 ครั้ง แถมราคาหุ้นยังไม่ค่อยลงอีก
ทำให้หลายๆท่านสรุปเองว่า การลงทุนแบบปัจจัยพื้นฐานหรือแบบเน้นคุณค่านั้น แท้จริงแล้วก็คือการลงทุนใน “หุ้นปันผลดี” นั่นแหละ ซึ่งข้อสรุปนี้ ในหลายๆกรณีก็มีส่วนถูก เพราะ หุ้นหลายๆตัวที่ผมเลือกลงทุนก็มักจะจ่ายปันผลให้ทุกตัว ถ้าเป็นหุ้นแข็งแกร่งก็จะจ่ายมากหน่อย ถ้าเป็นหุ้นเติบโตก็อาจจะจ่ายน้อยหน่อย เพราะต้องนำกำไรไป Re-Invest เพื่อสร้างการเติบโตต่อเนื่อง
แต่ถ้าจะฟันธงข้อสรุปว่า “การลงทุนแบบเน้นคุณค่า = การลงทุนหุ้นปันผลดี” แบบทุกกรณี
อันนี้คงต้องตอบว่า “ไม่ถูกต้อง”
ใจความสำคัญของการลงทุนสายปัจจัยพื้นฐานแบบเน้นคุณค่า คือ Good Stock and Good Price ซื้อหุ้นดี ที่ราคาถูก ด้วย
ในส่วนของหุ้นดี(Good Stock) เราดูจากปัจจัยเชิงคุณภาพของหุ้น เช่น อยู่ในอุตสาหกรรมที่เติบโต มีแนวโน้มความต้องการสินค้าและบริการของบริษัทที่เพิ่มขึ้น และมีความได้เปรียบเชิงการแข่งขันที่ยั่งยืน อันนี้การดูหุ้นปันผลก็ไม่ต่างกัน เพราะที่มาของเงินปันผลคือกำไร ที่มาของกำไรคือความสามารถในการสร้างรายได้และบริหารต้นทุนของกิจการ และที่มาของความสามารถที่ดีของกิจการคือปัจจัยเชิงคุณภาพที่กล่าวข้างต้นนั่นเอง
ในส่วนของราคาดี(Good Price) หลักการของเราคือ ต้องลงทุนกับหุ้นที่ “Undervalue” หรือ หุ้นที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง คำถามใหญ่ของชีวิตคือ แล้วจะหามูลค่าที่แท้จริงยังไง เกี่ยวข้องกับเงินปันผลยังไง ?
ต้องบอกว่า วิธีการหามูลค่าที่แท้จริงนี่เป็นเรื่องใหญ่ ใช้เวลาศึกษาค่อนข้างนานครับ ใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการประเมิน มีหลายวิธี ทั้งถูกต้องตามทฤษฎีแต่ยากในทางปฏบัติ และง่ายแบบกะๆ+เร็วในการปฏิบัติ แต่อาจไม่ตรงทฤษฎีการเงินเป๊ะๆ ที่สำคัญคือไม่มีวิธีวัดมูลค่าหุ้นวิธีใดให้ผลที่ถูกต้องแบบ 100% แต่ละวิธีต้องใช้สมมติฐาน และให้ผลลัพธ์ที่ต่างกัน
วิธีการวัดมูลค่าหุ้นแบบใหญ่ๆที่ผมใช้อยู่เรื่อยๆ คือ
- Reproduction Cost of Asset
- Market Comparison เช่น P/E, P/BV, P/S, EV/EBITDA ฯลฯ
- Discounted Cashflow
วิธีที่ถูกต้องตามทฤษฎีทางการเงินอย่างมาก คือวิธีที่ 3 นี่แหละครับ การคิดลดกระแสเงินสด(Discounted Cashflow) ซึ่งเราสามารถใช้กระแสเงินสดอิสระ (Free Cashflow) มาคิดลด หรือ สามารถใช้เงินปันผล มาคิดลดก็ได้เช่นกัน ซึ่งเรียกว่า Dividend discount model
นั่นหมายความว่า เงินปันผลก็สามารถกำหนดมูลค่าหุ้นได้เช่นเดียวกัน และเป็นหนึ่งในวิธีที่เราใช้วัดมูลค่าหุ้นปันผล รวมทั้งกองรีทที่จ่ายปันผลในหลายกรณีด้วย นี่คือหนึ่งในทางเลือกของสายการลงทุนแบบเน้นคุณค่า โดยมุ่งเน้นที่การลงทุนหุ้นปันผลดีนั่นเอง
แต่ยังมีสายการลงทุนแบบเน้นคุณค่า ที่มุ่งเน้นด้านอื่นๆเช่น เน้นลงทุนในหุ้น Growth ก็ต้องใช้วิธีเลือกหุ้นที่จะมีการเติบโตของกำไร(กระแสเงินสดอิสระ)ในอนาคต หรือ เน้นลงทุนในหุ้น Value ก็ต้องเน้นหุ้นที่ราคา undervalue ชัดเจน มูลค่ากิจการคุ้มค่าต่อราคาบนกระดานวันนี้เลย
นักลงทุนที่จับจ้องเงินปันผล โดยเน้นปันผลที่ดีดูจากข้อมูล Dividend Yield ในเว็บตลาดหลักทรัพย์อย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ เพราะ นั่นเป็นเงินปันผลในอดีตย้อนหลัง 1 ปี เทียบกับราคาหุ้นปัจจุบัน อนาคตเงินปันผลอาจจะดีแบบเดิมหรือไม่ก็ได้ หรือ ปีที่ผ่านมา หุ้นตัวนี้อาจจะมีกำไรพิเศษแบบครั้งเดียว เช่น ขายสินทรัพย์ออกไป หรือ กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือ กำไรจาก Inventory Gain ก็เป็นได้
สิ่งสุดท้ายที่นักลงทุนมือใหม่ต้องระวัง คือหุ้นปันผลที่เราลงทุนอยู่ หากกิจการเข้าสู่ขาลงชัดเจน ห้ามใช้ตรรกะโดยกอดหุ้นเอาไว้ว่า “ติดดอยไม่เป็นไร ถือยาวๆเป็นวีไอ ขายไป(ตอนนี้)ก็ขาดทุน ทนถือไว้อย่างน้อยก็ได้ปันผลงาม” แบบนี้ไม่ได้นะครับ เพราะกิจการที่เป็นขาลง กำไรจะลดลง ราคาหุ้นก็จะลง แถมเงินปันผลก็จะลดลงได้รุนแรงเช่นกัน ยิ่งถ้ากิจการขาดทุนเมื่อไหร่ ก็อาจจะงดจ่ายเงินปันผลไปเลยก็ได้
คุณภาพกิจการและความสามารถในการทำกำไรในอนาคต คือสิ่งที่สำคัญที่สุด เป็นต้นธารของเงินปันผลที่แท้จริงครับ