#แนวคิดด้านการลงทุน

เราควรวางแผนลงทุน เพื่อรับมือยุคเงินเฟ้อในอนาคต

โดย อธิป กีรติพิชญ์
เผยแพร่:
960 views

ยุคเงินเฟ้อ คือ ภาวะเศรษฐกิจที่ระดับราคาสินค้าและบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะซื้อของชิ้นเดิมก็ต้องใช้เงินมากกว่าเดิม พูดง่ายๆคือ สภาวะข้าวของแพงขึ้นนั่นเอง 

 

สิ่งนี้ มีผลกระทบต่อความมั่งคั่งของเราทุกคนในระยะยาว  ตั้งแต่อดีตสภาวะเงินเฟ้ออยู่กับเราตลอด ถึงแม้อัตราเงินเฟ้อจะมีการปรับตัวขึ้นบ้างลงบ้าง แต่ก็ยังอยู่ในทิศทางขาขึ้น 

 

เพื่อให้เห็นภาพ ลองเทียบกับยุคที่ผมเรียนจบมาใหม่ๆคือปี 2539 ลองนึกถึงราคาน้ำมันเบนซิน ลิตรละ 12 บาท (ตอนนี้ 40 กว่าบาท/ลิตร) ราคาตั๋วหนัง 80 บาท (ตอนนี้ 240 บาท) ราคาทองคำบาทละ 4,792 บาท (ตอนนี้ 29,600 บาท) นั่นหมายความว่า สินค้าและบริการ มีแนวโน้มแพงขึ้นตามเงินเฟ้อ ค่อยๆปรับขึ้นตามระยะเวลาที่ผ่านไป 

 

วิธีแก้ ตอบแบบกำปั้นทุบดิน แน่นอนว่ามี 2 วิธี 

 

  1. เพิ่มรายได้ ... การเพิ่มรายได้ไม่ว่าจะเป็น เงินเดือน ค่าจ้าง จากการเพิ่มทักษะอาชีพ การเปลี่ยนงาน การเข้าสู่อาชีพที่อาศัยทักษะสูงๆ มีรายรับเพิ่มหลายทาง เพื่อชดเชยกับข้าวของที่ราคาเพิ่ม ถือเป็นหนึ่งทางออก
  2. ลดค่าใช้จ่าย ... เงินเฟ้อที่พุ่งสูง อาจจะต้องลดรายจ่ายลงแบบเข้มข้น ซึ่งอาจจะเพียงพอต่อภาวะเงินเฟ้อกระชากขึ้นแรงๆแบบในปี 2565 อย่างไรก็ตาม ลดรายจ่ายลงไปเรื่อยๆนั้นมีข้อจำกัด เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่งจะเริ่มกระทบคุณภาพชีวิต ดังนั้นจึงต้องเพิ่มรายได้ควบคู่กันไปด้วย 
     

ในภาพรวม การเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย คือพื้นฐาน ซึ่งเพียงพอที่จะช่วยให้มนุษย์เงินเดือน Freelance ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือ เจ้าของกิจการ สามารถที่จะปรับตัวรับกับเงินเฟ้อ ในช่วงที่ยังอยู่ในวัยทำงาน

 

แต่คำถามใหญ่ของชีวิตคือ ในระยะยาว เมื่อเข้าสู่วัยเกษียณจะทำอย่างไร นี่คือความสำคัญของการ สร้างแผนเงินออมและแผนการลงทุนให้เข้ากับภาวะเงินเฟ้อในระยะยาว เพราะ นี่คือสิ่งที่มีความสำคัญต่อวัยเกษียณของเรา ซึ่งอาจจะยาวนานอย่างน้อย 20 ปี หรืออาจมากกว่านั้นสำหรับบางท่านที่ดูแลสุขภาพเป็นอย่างดี 

 

ในช่วงวัยนี้ เรายังคงมีค่าใช้จ่ายพื้นฐานทุกอย่าง เหมือนตอนที่ทำงานอยู่ บางกรณีอาจมากกว่าด้วยซ้ำ ทั้งค่ากินอยู่ ค่าเดินทาง ค่าเรียนลูก ค่ารักษาพยาบาลดูแลสุขภาพ ค่าท่องเที่ยว ฯลฯ ดังนั้นเงินก้อนที่เราได้รับตอนเกษียณควรต้องลงทุนต่อยอดให้ก่อเกิดรายได้หลังเกษียณเป็นเงินไหลไปตลอด หากยึดติดกับรูปแบบการฝากธนาคารที่ให้ผลตอบแทน 1.0-1.5% หลังหักอัตราเงินเฟ้อระยะยาวแล้วคงติดลบอย่างแน่นอน

 

นี่คือยุคสมัยที่เราควรวางแผนลงทุน เพื่อรับมือยุคเงินเฟ้อในอนาคต ด้วยการมีแผนการลงทุนที่ดี โดยคำนึงถึงอัตราเงินเฟ้อที่อยู่รอบตัวเรา เพื่อก้าวสู่วัยเกษียณได้อย่างมั่นใจ 

 

หากเราคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในระยะยาว จะอยู่ที่ 3-5% นั่นหมายความว่า การฝากเงินทั้งหมดไว้ในธนาคารที่ดอกเบี้ย 1.0-1.5% คงไม่ใช่คำตอบที่ดีนัก เพราะผลตอบแทนขั้นต่ำจากการลงทุนเพื่อเอาชนะเงินเฟ้อควรเป็น 5% ซึ่งผลตอบแทนเงินลงทุนขั้นต่ำนี้แหละ ที่จะช่วยกำหนดว่าเราควรลงทุนในสินทรัพย์ชนิดใด

 

ดังนั้น การลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนเพิ่ม จึงจำเป็นต้องรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น โดยสร้างเป็นพอร์ตโฟลิโอการลงทุน ที่มีการจัดสรรสินทรัพย์ไว้หลายชนิด โดยมีการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง (Risk Assets) ด้วย เช่น หุ้น (Equity) กองรีท (REIT) กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) สินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) ฯลฯ 

 

กลยุทธ์การลงทุนในสินทรัพย์ดังกล่าว ควรต้องมีการคิดวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน เลือกลงทุนในยามที่เป็น Good Stock at Good Price เพื่อความปลอดภัยในการลงทุน ซึ่งอาจจะคาดหวังส่วนต่างกำไร หรือเงินปันผลเป็นกระแสเงินสด ก็ได้เช่นกัน 

 

ทั้งนี้ การสร้างพอร์ตโฟลิโอการลงทุน ที่ประกอบด้วยสินทรัพย์เสี่ยงสูง เสี่ยงกลาง และเสี่ยงต่ำ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่คาดหวังขั้นต่ำแบบเอาชนะเงินเฟ้อนั้น ต้องมีการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม เพื่อนำไปสู่ผลตอบแทนการลงทุนที่ดี ด้วยความเสี่ยงที่ยอมรับได้ในระยะยาว


เจ้าของหนังสือ Best Seller “ติวหุ้น รวยด้วยวีไอ” และยังเป็นวิทยากรคอร์ส “ลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐานแบบ Value/Growth Investor” ด้วยประสบการณ์ในตลาดทุนกว่า 17 ปี และประสบการณ์ในการเป็นติวเตอร์ บวกกับความเป็นคนอารมณ์ขัน  ทำให้คุณนิ้วโป้งสามารถถ่ายทอดเรื่องยาก อย่างการลงทุน ให้เข้าใจได้ง่าย และยังใช้ภาษา ลีลาที่มีเอกลักษณ์น่าสนใจอย่างยิ่ง จึงทำให้ได้รับเชิญไปบรรยายในงานต่างๆ มากมาย

Facebook

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง