เมื่อปลายเดือนพฤษจิกายนที่ผ่านมา ภาครัฐได้ขอความร่วมมือจาก PTT ในการจัดสรรรายได้จากธุรกิจโรงแยกก๊าซ 1.5 พันล้านบาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 4 เดือน รวม 6 พันล้านบาท อาจจะเป็นการสนับสนุนในรูปของเงิน หรือส่วนลดราคาก๊าซให้กับ กฟผ.
ล่าสุด PTT ได้เห็นชอบมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ เช่น จัดสรรก๊าซธรรมชาติเพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า จัดหา LNG ที่มีราคาเหมาะสม มุ่งลดต้นทุนเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าให้เทียบเท่า 6 พันล้านบาท แทนการจ่ายเงินสด 6 พันล้านบาท
อ่านมาถึงตรงนี้อาจจะสงสัยว่า ทำได้อย่างไร ?
ทาง PTT แสดงความคิดเห็นว่า ด้วยสภาพตลาดปิโตรเคมีปัจจุบันความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีน่าจะยังอยู่ในระดับต่ำ ทําให้มีการเดินเครื่องด้วยอัตราที่ลดลงกว่าช่วงสถานการณ์ปกติอยู่แล้ว
ซึ่งทาง PTT จะนำก๊าซในอ่าวที่ปกติส่งให้เป็นวัตถุดิบให้โรงแยกก๊าซ จะนำบางส่วนส่งไปให้โรงไฟฟ้าแทน (ทดแทนการนำเข้า Spot LNG ที่มีราคาสูงในปัจจุบัน)
บทวิเคราะห์หลักทรัพย์เอเชียพลัส มองว่าประเด็นนี้ทำให้ประเด็นลบของหุ้น PTT ลดลงและดูผ่อนคลายมากขึ้นที่ไม่ต้องจ่ายเงินให้กับภาครัฐ 6 พันล้านบาท
แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับภาครัฐด้วยว่าจะยอมรับได้หรือไม่ และ การบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ทำได้มีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน
ในกรณี Worst Case คือ ภาครัฐไม่ยอม หรือบริหารจัดการไม่ได้ ยังต้องจ่ายเงิน 6 พันล้านบาท จะส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงาน PTT ราวๆ 5.5% ในปี 2566
โดยในช่วงไตรมาส 1 ปี 2566 จะบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายพิเศษ 4.5 พันล้านบาท
และไตรมาส 2 ปี 2566 จะบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายพิเศษอีก 1.5 พันล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การที่ PTT ถูกมองว่าเป็นรัฐวิสาหกิจ และเคยถูกภาครัฐแทรกแซงมาแล้วทำให้ความน่าสนใจสำหรับการลงทุนของต่างชาติลดลง
คือประเด็นที่เรามองข้ามไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าวันไหนเรื่องของการ "บริจาคเงิน" จะถูกกลับมาเป็นประเด็นอีก
-------------------------------------------
Reference