เราอาจจะได้ยินมาแล้วว่า KBANK ได้เข้าถือหุ้นในธนาคารแมสเปี้ยน สถาบันการเงินของอินโดนีเซียในลักษณะถือหุ้นไม่มาก แต่เมื่อเวลาผ่านไป KBANK ก็ได้เข้าซื้อหุ้นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนล่าสุดถือหุ้นอยู่ 67.5% เบ็ดเสร็จแล้ว
คำถามคือ ทำไมต้องอินโดนีเซีย ?
ถ้าเราติดตามข่าว เราจะได้ยินว่า
... BBL ใช้เงินกว่า 8.1 หมื่นล้านบาทเข้าลงทุนใน Permata
... SCB ใช้เงินกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ เข้าลงทุนใน Akulaku ผู้ให้บริการโซลูชันทางการเงินดิจิทัลชั้นนำของประเทศอินโดนีเซีย
รวมถึงทุ่มเงินกว่า 50 ล้านเหรียญสหรัฐ เข้าลงทุนใน Jasa Jakarta (BJJ) ธนาคารพาณิชย์ในประเทศอินโดนีเซีย
และล่าสุด KBANK ได้เข้าลงทุนในธนาคารแมสเปี้ยน
เหตุผลเป็นเพราะว่า อินโดนีเซียมีศักยภาพการเติบโตที่สูงมาก ประชากรมีจำนวนมากและอยู่ในวัยทำงาน ทำให้อัตราการเติบโต GDP สูงกว่าไทย ระบบการเงินยังมีช่องว่างให้พัฒนาได้อีกมาก และที่สำคัญคือเป็นตลาดที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าไทย
ปัจจุบันประชากรอินโดนเซียอยู่ที่ 276 ล้านคน ซึ่งถือเป็นอันดับ 4 ของโลกและสูงที่สุดในอาเซียน แต่กลับมีอัตราการขอสินเชื่อที่ต่ำอยู่ราวๆ 36% ในขณะที่ไทยมีอัตราการขอสินเชื่ออยู่ที่ 80% จึงเป็นโอกาสของธุรกิจธนาคารในการขยายฐานลูกค้า และสร้างโอกาสโต เพราะเศรษฐกิจประเทศไทยเริ่มขยายตัวช้า
บทวิเคราะห์หลักทรัพย์หยวนต้า มอง "เป็นบวก" ต่อการเข้าลงทุนที่มากขึ้นของ KBANK เพราะเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ตลาด AEC+3 ของ KBANK และเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงมาก
นอกจากนี้ KBANK อาจจะนำเทคโนโลยีเข้าไปพัฒนาการดำเนินงานของธนาคารแมสเปี้ยน เพื่อให้มีประสิทธิภาพ จึงมีโอกาสที่รายได้และกำไรของธนาคารแมสเปี้ยนจะเติบโตขึ้นอย่างมากในอีก 2-3 ปีข้างหน้า
แต่สิ่งที่ต้องระวัง คือ ธนาคารแมสเปี้ยน เป็นธนาคารขนาดเล็ก มูลค่าของพอร์ตสินเชื่อและกำไรของธนาคารแมสเปี้ยนมีขนาด "ค่อนข้างเล็ก" เมื่อเทียบกับ KBANK ทำให้ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้มีนัยสำคัญมาก เมื่อเทียบกับการเข้าซื้อ Permata ของ KBANK
แต่อย่างน้อย นักลงทุนก็คงจะเริ่มมองเห็นศักยภาพการเติบโตของ KBANK ต่อไปในอนาคตครับ
-----------------------------------------
Reference
บทวิเคราะห์หลักทรัพย์หยวนต้า