#ข่าวหุ้นธุรกิจการลงทุน

ถอดรหัส ทำไมนายิบ บูเคเล ถึงพยายามใช้บิตคอยน์เป็นเงินของประเทศ

โดย stock2morrow
เผยแพร่:
1,543 views

เวลาเราพูดถึงประเทศเล็กๆอย่างเอลซัลวาดอร์ (El Salvador) หรือผู้นำประเทศอย่างนายิบ บูเคเล 
เราจะนึกถึง "ความล้มเหลว" ในการใช้บิตคอยน์เป็นเงินของประเทศ
แต่เราเคยตั้งคำถามหรือไม่ ? 
ว่าทำไมประเทศเล็กๆอย่างเอลซัลวาดอร์ ถึงมีความพยายามในการผลักดันให้ประเทศเดินหน้าผ่านสกุลเงินที่เรียกว่า "บิตคอยน์"
วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจกันครับ ...

แต่เดิมเอลซัลวาดอร์มีปัญหาที่แก้ไม่ได้อยู่ 2 ประการ และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เป็น "ประเทศล้มเหลว" อย่างสิ้นเชิง มาจาก ...
1. ปัญหาทางด้านการเมือง นำไปสู่ปัญหาอาชญากรรมและยาเสพติด
2. ปัญหาทางด้าน "ค่าเงิน"


ข้อแรก  : ปัญหาทางด้านการเมือง นำไปสู่ปัญหาอาชญากรรมและยาเสพติด
เอลซัลวาดอร์ เป็นประเทศเล็กๆในทวีปอเมริกากลาง ที่มีประชากรราวๆ 6.5 ล้านคน อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานความร้อนใต้พิภพ และป่าไม้

ปัญหาทางด้านการเมืองระหว่างความเชื่อในคอมมิวนิสต์ และกลุ่มต่อต้านคอมมิวนิสต์ทำให้เกิดสงครามกลางเมืองหลายครั้งกินระยะเวลายาวนานเกือบ 30 ปี มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ผู้คนสิ้นหวัง ทำให้ประเทศตกอยู่ในวังวนแห่งอาชญากรรม และยาเสพติด
แทนที่ประเทศเล็กๆแห่งนี้จะมีชื่อเสียงทางด้านทรัพยกรธรรมชาติ และการท่องเที่ยว แต่กลับกลายเป็นว่าประเทศแห่งนี้มีชื่อเสียงในเรื่องของแก๊งมาเฟีย ยาเสพติด ขึ้นชื่อในเรื่องเมืองนอกกฏหมายอันดับต้นๆของโลก เด็กรุ่นใหม่ที่เติบโตมาไม่เป็นขอทาน ก็ต้องไปทำงานที่เกี่ยวข้องกับการค้ายา

จนกระทั่งมีเด็กหนุ่มคนหนึ่งชื่อ นายิบ บูเคเล (Nayib Bukele) หวังขึ้นมาเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศ .. 
อ่านมาถึงตรงนี้ เราอาจจะสงสัยว่าเด็กหนุ่มคนนี้เป็นเด็กที่ไม่มีประสบการณ์ทางด้านการเมือง หรือยังไม่เคยทำอะไรสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอัน มาก่อนหรือไม่ 
ปรากกฏว่า "ไม่ใช่แบบนั้น" 
เพราะพ่อของเขาเป็นนักการเมืองและนำพาเขาคลุกคลีการเมืองมาตั้งแต่เด็ก งานแรกในฐานะของการเป็นผู้นำ คือ การเป็นนายกเทศมนตรีของเมืองนิวโวคัสเคตลัน (Nuevo Cuscatlan) ชุมชนเล็กๆในเมืองซานซัลวาดอร์ เมืองหลวงของประเทศ

บูเคเล แสดงความสามารถในการเปลี่ยนชุมชนนิวโวคัสเคตลันจากแหล่งเสื่อมโทรม กลายมาเป็นเมืองแห่งความหวังของประเทศ ผ่านการสร้างห้องสมุด ศูนย์พัฒนาชุมชน-สร้างงานให้คนในชุมชน และที่สำคัญคือการศึกษาให้กับคนในพื้นที่โดยเฉพาะเด็กๆในย่านนั้น เพราะหวังว่าเด็กๆที่มีการศึกษา เมื่อพวกเขาโตขึ้นจะไม่เป็นอาชญากรรม
เมืองนิวโวคัสเคตลัน ได้กลายมาเป็นเมืองที่น่าอยู่ที่สุดในเอลซัลวาดอร์ ... ผู้คนเริ่มกลับมามีความหวังอีกครั้ง

ในปี 2015 บูเคเล ได้รับการรับเลือกจากประชาชนอย่างล้นหลามให้เป็นผู้ว่าฯ เมืองซานซัลวาดอร์ โดยเป้าหมายแรก คือ กำจัดแหล่งเสื่อมโทรม กวาดล้างอาชญากรรม ลดความรุนแรงและทำให้เมืองซานซัลวาดอร์กลับมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวปลอดภัย 
แต่การทำแบบนี้ย่อมไม่เป็นที่ถูกใจของผู้มีอำนาจในท้องถิ่น ในที่สุดบูเคเลจึงถูกขับไล่ออกจากพรรค และถูกการเมืองกลั่นแกล้งให้ออกจากการเป็นผู้ว่าของเมือง
นายิบ บูเคเล จึงก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ที่ชื่อว่า "New Idea" และเปลี่ยนภาพลักษณ์ของตัวเองมาเป็น "ผู้นำแห่งความหวังใหม่" 
และสุดท้าย เขาก็ได้รับเลือกจากประชาชนให้เป็นประธานาธิบดีเอลซัลวาดอร์
งานของเขามีอยู่หลายอย่าง เช่นการปราบปรามอาชญากรรมซึ่งถือเป็นหัวใจหลักในการนำพาประเทศไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น
แต่ผลงานที่คนทั่วโลกรู้จักกันเป็นอย่างดี คือ การออกกฏหมายให้ "บิตคอยน์' เป็นสกุลเงินที่ถูกต้องตามกฏหมายในเอลซัลวาดอร์
สาเหตุที่เขาทำแบบนั้น เพราะ ปัญหาทางด้านค่าเงิน


ข้อสอง : ปัญหาทางด้านค่าเงิน
ในอดีตประเทศเอลซัลวาดอร์ มีสกุลเงินเป็นของตัวเองในชื่อ "Salvadoran peso" 
ก่อนที่จะยกระบบการเงินของตัวเองใหม่ในปี 1919  และเปลี่ยนชื่อมาเป็น "โคโลน" (colón) และตรึงค่าเงินตัวเองกับดอลล่าร์สหรัฐ โดยมีอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 2 โคโลน = 1 ดอลล่าร์สหรัฐ 
ในปี 1931 สกุลเงินโคโลน เกิดวิกฤตเศรษฐกิจจึงปลอยค่าเงินลอยตัว ทำให้สกุลเงินโคโลนอ่อนค่าลงความมั่งคั่งของผู้ถือครองโคโลนลดลงอย่างรวดเร็ว บางคนก็หันมาถือดอลล่าร์สหรัฐกันอย่างลับๆ เพราะไม่เชื่อมั่นในสกุลเงินของประเทศ
ความไม่เชื่อมั่นครั้งนี้กินระยะเวลายาวนานถึง 70 ปี 
ในปี 2001 ประธานาธิบดีฟรานซิสโก ฟรอเรส (Francisco Flores) ประกาศให้สกุลเงินหลักของประเทศเป็น US Dollar ส่วนสกุลเงินโคโลนก็ยังสามารถใช้ได้โดยจะตรึงค่าเงินไว้ที่ 8.75 โคโลน = 1 ดอลล่าร์สหรัฐ 
แต่เนื่องจากว่าคนไม่เชื่อถือสกุลเงินโคโลนอีกต่อไป ทั้งประเทศเลยหันมาใช้สกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐแทน

ประเทศเอลซัลวาดอร์ เป็นประเทศเล็กๆที่ไม่ได้มีงานให้ทำมากนัก เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ประชาชนยากจน ธุรกิจล้มตายจำนวนมาก คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่จึงหันไปทำงานต่างประเทศ เวลาจะส่งเงินกลับก็ต้องส่งผ่านตัวกลาง เช่น Western Union หรือ Moneygram ทื่คิดค่าธรรมเนียมราวๆ 33% ของจำนวนเงินที่จะส่งกลับ

นอกจากนั้น เอลซัลวาดอร์ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการเข้าถึงระบบการเงิน เนื่องจากธนาคารในประเทศเอลซัลวาดอร์ส่วนใหญ่เป็นเครือข่ายธนาคารจากสหรัฐฯ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ที่มีฐานะยากจน ไม่มีรายได้ที่สม่ำเสมอ ไม่สามารถใช้บริการธนาคารเหล่านี้ได้ โดยเอลซัลวาดอร์มีสถิติประชากรที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบการเงินสูงราว 80% เลยทีเดียว
การไม่สามารถเข้าถึงระบบการเงินทำให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อของหนี้นอกระบบ และ อาชญากรรมทางการเงิน 
ยิ่งไปกว่านั้น การไม่สามารถมีได้แม้กระทั่งบัญชีเงินฝาก ทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่สามารถเก็บเงินได้โดยไม่เสี่ยงต่อการจารกรรม

บูเคเล เห็นปัญหาลักษณะนี้ประกอบกับตัวเองมีความสนใจในบิตคอยน์อยู่แล้ว 
โดยได้เคยแสดงความสนใจในเทคโนโลยีบิตคอยน์มาตั้งแต่ช่วงปี 2015 แต่ด้วยข้อจำกัดทางเทคโนโลยีทำให้บิตคอยน์ยังไม่พร้อมสำหรับการใช้งานในระดับประเทศ 
โดยเฉพาะสำหรับการใช้จ่ายประจำวันด้วยระยะเวลายืนยันธุรกรรมที่นานกว่า 10 นาที ...
จนกระทั่งในปี 2019 ไมค์ ปีเตอร์สัน นักโต้คลื่นชาวอเมริกันตั้งใจที่จะท้าทายความเชื่อดังกล่าวนี้ ด้วยการชักชวนผู้คนใน El Zonte ให้หันมาใช้ และ รับบิตคอยน์ผ่านระบบ Lightning Network ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นในช่วงปี 2018 ที่ทำให้ผู้คนสามารถรับส่งบิตคอยน์ได้อย่างรวดเร็ว โดยแทบไม่มีค่าธรรมเนียมในการใช้งาน และสามารถใช้งานได้โดยปราศจากศูนย์กลาง

เขาได้ก่อตั้งกลุ่ม Bitcoin Beach ขึ้นเพื่อผลักดันการเข้าถึงระบบการเงินผ่าน Lightning Network 
การเคลื่อนไหวดังกล่าวได้รับความสนใจจากสังคมบิตคอยน์ในหลาย ๆ ประเทศ 
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แจ็ค มอลเลอร์ (Jack Mallers) ผู้ก่อตั้ง Strike กระเป๋า Lightning Network ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในสหรัฐในขณะนั้นเนื่องด้วยความสะดวกสบายในการใช้งานที่ผู้ใช้สามารถจะรับส่งบิตคอยน์ หรือ USD ผ่าน Strike app ก็ได้ตามสมัครใจ

จากนั้นไม่นาน แจ็คก็ได้เดินทางมาอยู่อาศัยใน El Zonte เป็นเวลาหลายเดือนเพื่อช่วยผลักดันการใช้งานบิตคอยน์ และ USD ผ่าน Lightning Network ระหว่างนั้นเองที่ประธานาธิบดีนายิบ บูเคเล ได้ติดต่อ Mallers และกลุ่ม Bitcoin Beach เพื่อขอคำแนะนำในการสร้างโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงระบบการเงินได้ผ่าน Lightning Network นำมาสู่การร่างกฎหมายบิตคอยน์ และการพัฒนาแอปพลิเคชัน Chivo ซึ่งเป็นวอลเลตของรัฐบาลที่เชื่อมต่อกับกองทุนบิตคอยน์ ที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้น 
เมื่อประชาชนใช้งาน Chivo เขาจะสามารถรับเงินเป็นบิตคอยน์ หรือ USD ก็ได้ โดยรัฐบาลจะเป็นผู้แลกเปลี่ยนเงินดังกล่าวให้ทันทีผ่านกองทุนสภาพคล่องของรัฐ 
นอกจากนั้น ​Chivo ยังเป็นซอฟต์แวร์เปิดที่สามารถทำงานร่วมกันกับ Bitcoin Lightning Wallet อื่น ๆ ได้อีกด้วย

 

การใช้งาน Lightning เป็นระบบส่งเงิน สามารถทำให้ผู้คนส่งเงินข้ามประเทศได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
โดยประชาชนสามารถส่ง "ดอลล่าร์สหรัฐ" ผ่าน Lightning ได้ด้วยการใช้บริการ wallet ของรัฐบาลอย่าง Chivo หรือผ่าน lightning wallet อื่น ๆ อย่างเช่น Strike
การใช้งานระบบดังกล่าว เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ว่ากันว่ามีประชาชนราวๆ 2.5 ล้านคนใช้บริการนี้ในการส่งเงินข้ามประเทศ รับส่งโอนเงินภายในประเทศรวมเป็นมูลค่ากว่า 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 23% ของ GDP ประเทศเอลซัลวาดอร์ 
และยังคาดกันอีกว่า Western Union น่าจะสูญเสียรายได้กว่า 400 ล้านเหรียญต่อปีเลยทีเดียว

ในช่วงปีแรกหลังจากมีการใช้กฎหมายบิตคอยน์ มีประชาชนหันมาใช้ช่องทาง Lightning Network ในการส่งเงินกลับประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในหน่วยบิตคอยน์หรือดอลล่าร์สหรัฐ ผ่าน wallet ของรัฐบาลที่ชื่อว่า Chivo ส่งผลให้ประหยัดค่าธรรมเนียมการโอนเงินกลับไปได้กว่า 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ... 
อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เชื่อใจรัฐบาล ทำให้ผู้ใช้งานจำนวนมากเลือกที่จะใช้บริการ wallet อื่น ๆ อย่าง Strike หรือ Bitcoinbeach มากกว่าที่จะใช้ Chivo ทำให้ไม่สามารถรู้ตัวเลขที่แท้จริงได้ 
อย่างไรก็ตาม wallet ต่าง ๆ สามารถทำงานร่วมกันได้บนเครือข่าย Lightning ของบิตคอยน์ นับเป็นครั้งแรกที่ประชาชนมีทางเลือก

นอกจากจะได้ประโยชน์เรื่องของการรับ-ส่งเงินแล้ว ประเทศยังได้ประโยชน์อีกอย่างคือ เรื่องของการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว โดย GDP ในปี 2021 สูงถึงสองหลักเป็นครั้งแรกในรอบห้าสิบปี นำโดยธุรกิจ "การท่องเที่ยว" ที่เติบโตขึ้นหลายร้อยเปอร์เซนต์ในเวลาสั้นๆ มีการประชาสัมพันธ์เรื่องของ Bitcoin City การนำบิตคอยน์มาใช้แบบจริงๆจังๆมากขึ้น 
หรือการก่อตั้ง Bitcoin Beach ในพื้นที่เขตเมือง El Zonte ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญติดทะเล ... 
เอลซัลวาดอร์ได้กลายมาเป็นเมืองที่ชาวบิตคอยน์ต้องเดินทางไปให้ได้สักครั้ง มีการใช้จ่ายและดึงเงินจากต่างชาติมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน 
ผู้คนเริ่มลืมตาอ้าปากได้ ไม่ว่าจะใช้บิตคอยน์หรือดอลลาร์ก็ตามเพราะกฎหมายไม่ได้บังคับ 
แต่ทั้งคู่สามารถใช้ประโยชน์จากระบบ Lightning ได้ ทำให้ประชาชนเข้าถึงระบบการเงินได้มากขึ้นเป็นประวัติการ

ปัจจุบันในประเทศเอลซัลวาดอร์ มีสกุลเงินอยู่ 2 สกุลหลัก คือ ดอลล่าร์สหรัฐ (ใช้กันมากที่สุด) และ บิตคอยน์ (เป็นอันดับที่สอง) ...
ในวันนี้เอลซัลวาดอร์อยู่ในสถานะที่ดีที่สุดที่เคยเป็นมาตลอด 50 ปี ประเทศกำลังจะถูกทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ
จากประเทศพังทลาย ค่าเงินล่มสลาย ประชาชนเริ่มกลับมามีความหวังอีกครั้งจากเรื่องของความปลอดภัยภายในประเทศ การปราบปรามอาชญากรรมทำให้สังคมดีขึ้นในทุกมิติ 
รวมถึงการเข้าถึงระบบการเงินได้ง่ายขึ้น เพียงแค่เรามีสมาร์ทโฟนสักเครื่องพวกเขาก็สามารถรับส่งเงินกับใครก็ได้ทั่วโลก รับค่าจ้างจากต่างประเทศโดยไม่ต้องจ่าย "ค่าผ่านทาง" ที่โดนเอารัดเอาเปรียบ หรือแม้กระทั่งเดินไปซื้อขนมหน้าปากซอย

 

ดังนั้น สิ่งที่เราได้อ่านตามสื่อ หรือเว็บไซด์ข่าวต่างประเทศ 
ว่าประเทศเอลซัลวาดอร์กำลังจะล้มละลายจากการร่วงลงของราคาบิตคอยน์ ก็อาจจะไม่จริงซะทีเดียว 
เพราะว่าปัจจุบันเอลซัลวาดอร์ได้มีการถือครองบิตคอยน์เพื่อเก็บเป็นเงินสำรองในคลัง 2,301 BTC คิดเป็นมูลค่าราวๆ 4% ของเงินในคลังเท่านั้น  ซึ่งมูลค่าที่ทางภาครัฐใส่เงินเข้าไปอยู่ที่ 104 ล้านเหรียญสหรัฐ 
โดยในตอนนี้บิตคอยน์ที่ทางรัฐบาลถือมีมูลค่าเหลือ 51.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นการขาดทุนราวๆ 55%

-----------------------------------
Reference

Bitcoin in El Salvador : Wikipedia

Bloomberg

El Salvador's law: a meaningful test for Bitcoin : PwC

nber.org

forbes.com

nytimes.com

themomentum.co

Piriya Sambandaraksa : Facebook


ศูนย์รวมความรู้เรื่องหุ้น ศูนย์รวมนักลงทุนรายย่อย ที่อยากรู้วิธีการลงทุนในหุ้นอย่างถูกต้องและได้กำไรอย่างยั่งยืน ติดตามเราได้ที่

www.stock2morrow.com 

FB: stock2morrow 

LINE@stock2morrow

FacebookInstagramYoutubeLine

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง