#แนวคิดด้านการลงทุน

การท่องเที่ยวเมืองจีนกำลังเริ่มต้นเท่านั้น

โดย ธีรัตม์ กฤตยาภัทร
เผยแพร่:
120 views

ประวัติศาสตร์การเป็นคอมมิวนิสต์ของเมืองจีน ทำให้คนจีนเองไม่ได้ท่องเที่ยวลืมตาดูโลกกว้างมาเป็นร้อยปี แต่แล้วเมื่อเติ้งเสี่ยวผิงตัดสินใจเปิดประเทศเมื่อปี 1978 ทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลง นักลงทุนผู้ยิ่งใหญ่แห่งเอเชียอย่าง ลีกาชิง ก็ลังเลที่จะลงทุนในเมืองจีนมาโดยตลอดนะครับ จนกระทั่งปี 1991 ที่เริ่มเห็นความจริงจัง เริ่มเห็นแนวคิดของการเปิดประเทศอย่างเต็มกำลัง นั่นคือจุดเปลี่ยนใจชายผู้ที่ร่ำรวยที่สุดของเอเชียให้ลงทุนไปกับทุนนิยมสีแดง (Red Capitalism)

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของเมืองจีนโตขึ้นกว่า 4 เท่าจากมูลค่า 7.7 แสนล้าน มาเป็น 3 ล้านล้านหยวนใน 10 ปี ตัวเลขสถิติจำนวนครั้งของการท่องเที่ยวนั้นดูใหญ่มากแทบไม่น่าเชื่อเลยทีเดียวครับ ในปี 2015 คนจีนเดินทางไปกว่า 4 พันล้านเที่ยวสำหรับการท่องเที่ยวในประเทศ แต่เดินทางไปต่างประเทศเพียง 120 ล้านเที่ยวเท่านั้นเอง

ด้วยช่องการเติบโตของการท่องเที่ยวต่างประเทศของคนจีนที่มีมากมายขนาดนี้ เวลานี้คงเรียกได้ว่า เป็นจุดเริ่มต้นของการท่องเที่ยวจีน และอาจเป็นการท่องเที่ยวของโลกก็ว่าได้

ความเคลื่อนไหวอะไรบ้างที่ทำให้ดูจะเป็นเช่นนั้น:

1. แนวทางการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานการบินของจีน - การขยายตัวของสนามบินปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ โดยในปีนี้จะใส่เงินทุ่มไปอีกกว่า 7.7 หมื่นล้านหยวน หรือประมาณ 4 แสนล้านบาทไปกับโครงสร้างพื้นฐานการบิน โดยเฉพาะการสร้างสนามบินใหม่ และปรับปรุงสนามบินเดิม

2. การเจรจาระหว่างผู้นำจีนและผู้นำต่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมผ่านการโปรโมตการท่องเที่ยว

3. การเจรจาซื้อฝูงบินด้วยเงินมหาศาลจากผู้ผลิตเครื่องบินที่ใหญ่ที่สุดของโลกเพื่อเพิ่มฝูงบินของสายการบินจีนชั้นนำ และเพื่อเรียนรู้เทคโนโลยีการบิน

4. การลดความเข้มงวดของการได้วีซ่า เพิ่มจำนวนวีซ่าแบบ "Multiple-Entry" ให้นานขึ้น

5. การเพิ่มขึ้นของ "Direct Flight" หรือการบินตรงระหว่างเมืองชั้น 1 อย่างปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ ไปยังเมืองสำคัญๆของโลกมากมาย

มาดูตัวอย่างของการเปิดเที่ยวบินตรงใหม่ของสายการบินที่ใหญ่ที่สุด 4 อันดับของจีน หรือ "The Big 4 Airlines" กันครับ

- Air China บินตรงจาก ปักกิ่ง-นิวยอร์ค, ปักกิ่ง-นิวเจอร์ซี่ และปักกิ่ง - แคลิฟอร์เนีย โดยเส้นทางปักกิ่ง-แคลิฟอร์เนียมีเที่ยวบินบินมากถึง 21 เที่ยวต่อสัปดาห์

- Hainan Airlines บินตรงจากเมืองสำคัญอย่างเซี่ยงไฮ้-บอสตัน และ เซี่ยงไฮ้-ซีแอตเติ้ล รวมทั้ง ปักกิ่ง-ซานโฮเซ ซึ่งเป็นศูนย์กลางแหล่ง American startups อย่าง Sillicon Valley

- China Southern บินตรงจาก กวางโจว-ซานฟรานซิสโก เมืองแห่งสะพานแดง Golden Gate Bridge

- China Eastern บินตรงระหว่างเมืองสำคัญอย่างเฉิงตู-หนานจิง-ลอสแองเจลิส

ที่น่าสนใจสุดๆในปลายปี 2015 ที่ผ่านมา ในงานนับถอยหลังสู่ปี 2016 ที่ Time Squares ณ ใจกลางมหานครนิวยอร์ค ได้มีการแสดงจากทางจีนพร้อมกับการชูป้ายโปรโมตให้ปี 2016 เป็นปี "US-China Tourism Year" หากดูจากเที่ยวบินตรงที่เกิดขึ้นมาแล้ว ก็เห็นเป็นรูปเป็นร่างว่าชาวจีนนั้นคงจะไปเที่ยวอเมริกามากขึ้นพอๆกับชาวอเมริกันที่จะมาสำรวจเมืองจีน

หลังจากนี้ไปคงไม่เพียงแต่จะเป็นจีนกับอเมริกา แต่จะเป็นประเทศมหาอำนาจเก่าที่สำคัญอย่างอังกฤษด้วยเช่นกัน เพราะนักเรียนจีนจำนวนมากมายมหาศาลที่เข้าไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษเป็นเวลานาน การเป็นคู่ค้าคนสำคัญ และการเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในจุดยุทธศาตร์ของประเทศอังกฤษ โอกาสนี้น่าจะเป็นโอกาสดีในการศึกษาการลงทุนในบริษัทที่ได้ประโยชน์จากการบิน อย่างสนามบิน การบริการขนส่งและบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์สำหรับสนามบิน หรือแม้กระทั่งบริษัทด้านความบันเทิงที่อยู่ติดสนามบินที่สำคัญ เช่น Disneyland ที่กำลังจะเปิดใหม่ใกล้กับสนามบินเซี่ยงไฮ้

ช่วงนี้หุ้นจีนตกลงมาแรงจริงครับ แต่หากศึกษาดีๆและเตรียมพร้อมเอาไว้ ก็น่าจะเป็นโอกาสดีที่จะเติบโตไปกับ "Chinese Tourism" นะครับ

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก China Daily

บทความโดย: บูม MoneyCrown / FB: MoneyCrown


ผู้ก่อตั้งแฟนเพจ MoneyCrown ที่เน้นสาระความรู้และการวิเคราะห์บริษัทจากปัจจัยพื้นฐาน โดยเน้นหุ้นเติบโต (growth stock) ที่ราคาสมเหตุสมผล มีเงินปันผลสูง และเติบโตต่อเนื่อง

ประสบการณ์การทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านการจัดการ (Management Consulting) ที่ประเทศไทย ประเทศอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา

ประวัติการศึกษา:

- ปริญญาตรี: คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

- ปริญญาโท: MS in Management, Cass Business School, London

- ปริญญาโท: MS in Management Science & Engineering, Columbia University in the City of New York

นอกเหนือจากความสนใจหาหุ้นที่น่าสนใจโดยอาศัยวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานแล้ว ยังสนใจการลงทุนในต่างประเทศเป็นพิเศษ โดยเฉพาะตลาดจีน ตลาดอเมริกา เทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงเรื่องราวของ tech startup ที่อเมริกาอีกด้วย

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง