#ลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐาน

นักลงทุนวีไอ เขา Cut Loss ไหมครับ ?

โดย อธิป กีรติพิชญ์
เผยแพร่:
1,909 views

คำถามเรื่องนักลงทุนวีไอ เขา Cut Loss กันไหมพี่ ? 

เป็นหนึ่งในคำถามยอดฮิต ที่ผมรับมาทาง inbox เรื่อยๆตลอด 10 ปี ที่ทำแฟนเพจมาเลย

Cut Loss แปลแบบบ้านๆว่า “การตัดขาดทุน” 

บางคนเรียกว่าเป็นกลยุทธ์ตัดนิ้วรักษาแขน บางคนเรียกว่ากลยุทธ์ตัดไฟตั้งแต่ต้นลม

มันคือ การที่นักลงทุนซื้อหุ้นตัวนึงแล้วราคาปรับตัวลดลง ต่ำกว่าต้นทุนที่ซื้อมา กระทั่งแสดงค่าเป็น “สีแดง” ไปแล้ว ที่ใน SET Streaming เรียกว่า Unrealized Loss นั่นแหละครับ เช่น ซื้อหุ้น A มาที่ราคา 50 บาท แล้วต่อมาราคาหุ้น A ลดลงเหลือ 45 บาท (ขาดทุน 10%) แล้วเราไม่อยากเปิดโอกาสให้ตนเองต้องขาดทุนเพิ่มขึ้นไปอีก จึงตัดใจยอมรับการขาดทุนตรงนี้ ด้วยการขายหุ้น A ออกไปที่ราคา 45 บาท นี่คือการ Cut Loss

การตัดสินใจขายหุ้น ก็เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองขาดทุนมากขึ้นไปอีก ซึ่งนักลงทุนแต่ละคนก็จะมีจุด Cut Loss ที่ต่างกันออกไป ขึ้นกับว่ารับความเสี่ยงได้แค่ไหน กรณีส่วนใหญ่ที่ผมพบเจอคือการตั้งเป็น %ขาดทุน เอาไว้ เช่น ราคาลงมากระทั่งขาดทุน -10% ต้องคัท หรือ -20% ต้องคัท เป็นต้น 

ทีนี้คำถามว่า นักลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐาน ที่ดูพื้นฐานกิจการและวัดมูลค่าหุ้นมาอย่างเต็มที่แบบวีไอแล้ว จะไม่ Cut Loss ในทุกกรณี ... คนอื่นว่าอย่างไรไม่รู้ แต่ผมเองมีความเชื่อว่า Cut Loss ได้ครับ 


เพียงแต่ว่า เกณฑ์การ Cut Loss จะไม่ได้ใช้ราคาหุ้นเป็นหลัก แต่ใช้ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

ผมเองมีกฏการ Cut Loss ส่วนตัว 3 ข้อ

1. พื้นฐานกิจการเปลี่ยน 

หุ้นที่เราซื้อเริ่มมีสภาพธุรกิจแย่ลง ไม่เป็นไปตามที่เคยคาดไว้ เช่น การแข่งขันเพิ่มขึ้น คู่แข่งใหม่ๆเข้ามามากขึ้น ถูกดิสรัปชั่นโดยผู้เล่นหน้าใหม่ กฏระเบียบภาครัฐเข้ามาควบคุมหนักข้อขึ้น ต้นทุนการทำธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ฯลฯ ทั้งหมดนี้ล้วนกระทบต่อพื้นฐานกิจการ ไม่ว่าจะเป็นฝั่งรายได้ หรือฝั่งต้นทุน สิ่งเหล่านี้กระทบต่อกำไรจากการดำเนินงาน ทำให้กำไรลดลง ซึ่งถ้าเราถือหุ้นต่อไปเรื่อยๆ ราคาหุ้นควรจะลดลงๆเช่นกัน
 

#ก็ต้องยอมรับและยอมคัท  

2. อ่านพื้นฐานอนาคตผิด  

การซื้อหุ้นคือการซื้ออนาคต ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าเป็นการคาดการณ์ที่ไม่มีใครรู้อย่างแจ่มชัด 100%เต็มครับ หน้าที่ของนักลงทุนวีไอคือการตามศึกษาข้อมูลของหุ้นที่เราลงทุนให้มากๆ ต้องเข้าใจว่าอะไรมีผลต่อรายได้และกำไรของกิจการในระยะยาว เช่น ช่วงปี 2016 ที่กระแสช่องทีวีดิจิตอลมาแรง ช่วงเวลานั้นเราอาจจะมีมุมมองที่เป็นบวกมากกับธุรกิจ  แต่เมื่อเวลาผ่านไป กลับมีธุรกิจที่ไม่ใช่ช่องทีวีไทย แต่แย่งเวลาคนดูทีวีออกไปได้มากมาย เช่น Facebook Tiktok NetFlix Disney+ ฯลฯ กระทั่งมีข้อมูลชัดเจนว่า คนรุ่นใหม่ดูทีวีน้อยลงมาก ซึ่งกระทบต่อเรตติ้งของช่องทีวีและรายได้จากค่าโฆษณาเป็นเทรนด์ขาลง ที่เราเคยอ่านอนาคตไว้แบบนึง ความเป็นจริงกลับเป็นอีกแบบนึง  

#ก็ต้องยอมรับและยอมคัท

3. ประเมินมูลค่าผิด 
เรื่องการประเมินมูลค่า (valuation) เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ และมันคือการประเมินอนาคต ซึ่งผิดพลาดได้ ไม่ว่าจะเป็นวิธี DCF (Discounted Cashflow) ซึ่งเต็มไปด้วยการใส่สมมติฐาน การเติบโต กำไร ค่า WACC ฯลฯ หรือแม้กระทั่งวิธี Forward P/E ที่เป็นการเอาราคาหุ้นในปัจจุบันหารด้วย EPS อนาคต (projected earning per share) ก็เช่นกัน 

ลองดู IAA Consensus ที่เว็บ settrade ดูครับ แม้แต่นักวิเคราะห์มืออาชีพ ประเมินราคาหุ้นตัวเดียวกัน ในช่วงเวลาเดียวกัน ก็สามารถประเมินราคาออกมาแตกต่างกันได้มากมายเช่นกัน 

ถ้าเราประเมินราคาหุ้นที่ลงทุนด้วยมุมมองที่ดีเกินไป เมื่อมีโอกาสกลับมาทบทวน เปลี่ยนสมมติฐานใหม่ให้สอดคล้องความเป็นจริงมากขึ้น แล้วพบว่ามูลค่าที่แท้จริงต่ำกว่าเดิมมาก

#ก็ต้องยอมรับและยอมคัท


เจ้าของหนังสือ Best Seller “ติวหุ้น รวยด้วยวีไอ” และยังเป็นวิทยากรคอร์ส “ลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐานแบบ Value/Growth Investor” ด้วยประสบการณ์ในตลาดทุนกว่า 17 ปี และประสบการณ์ในการเป็นติวเตอร์ บวกกับความเป็นคนอารมณ์ขัน  ทำให้คุณนิ้วโป้งสามารถถ่ายทอดเรื่องยาก อย่างการลงทุน ให้เข้าใจได้ง่าย และยังใช้ภาษา ลีลาที่มีเอกลักษณ์น่าสนใจอย่างยิ่ง จึงทำให้ได้รับเชิญไปบรรยายในงานต่างๆ มากมาย

Facebook

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง