ความไม่ลงรอยกันระหว่างสหรัฐอเมริกา และจีนตั้งแต่การเยือนไต้หวันของนางแนนซี เพโลซี ทำให้คำว่า "Decoupling" กลับมาใช้กันอีกครั้งตามหน้าสื่อ
... จริงๆคำว่า Decoupling ใช้กันมาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดี Donald Trump ว่าด้วยเรื่องของการจัดระเบียบเศรษฐกิจ แนวคิดการแยกเศรษฐกิจหรือห่วงโซ่การผลิตออกจากอีกประเทศหนึ่งอย่างสิ้นเชิง เพื่อลดการพึ่งพาประเทศนั้นๆ ในแง่การใช้เป็นฐานการผลิต รวมถึงฐานการนำเข้าหรือซัพพลายเออร์วัตถุดิบและส่วนประกอบ เพื่อลดผลกระทบต่อซัพพลายเชนทั้งระบบในยามที่อะไรๆ ก็มีความไม่แน่นอนสูง จากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ต่างๆ
ซึ่งเราจะเห็นได้จากประเด็นเรื่องของ Trade War ที่นักลงทุนเคยกังวลกันอยู่ช่วงหนึ่ง
หลังการเยือนไต้หวัน จะยิ่งเป็นชนวนให้การแบ่งขั้วระหว่างจีนและสหรัฐฯ เร่งตัวขึ้น อีกทั้ง ในเดือนสิงหาคม สหรัฐฯ ได้ผ่านร่างกฎหมาย CHIPS and Science Act ซึ่งตั้งงบประมาณไว้ที่ 5.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศ พร้อมให้เครดิตภาษีสำหรับการลงทุนเพิ่มเติม และห้ามบริษัทที่ได้รับการสนับสนุนขยายกิจการการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ไปสู่จีน
และในเดือนกรกฎาคม สหรัฐฯ ได้กดดันบริษัท ASML ที่ผลิตเทคโนโลยีสำคัญในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงไม่ให้ทำธุรกิจกับจีนอีกด้วย รวมถึงก่อนหน้านี้ได้มีการจัดตั้ง Build Back Better World ร่วมกับกลุ่มประเทศ G7 ซึ่งเป็นโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานให้กับประเทศกำลังพัฒนา เพื่อต่อต้านโครงการ Belt and Road Initiative ของจีน
แต่ทางฝั่งจีนก็ไม่ได้อยู่เฉย ออกมาเคลื่อนไหวด้วยเหมือนกัน โดยได้ตั้งเป้าการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ถึง 80% ของอุปสงค์ในประเทศภายในปี 2030 ตามแผน Made in China 2025
โดยได้ตั้งกองทุน China Integrated Circuit Industry Investment Fund ขึ้นในปี 2014 ด้วยวงเงินประมาณ 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ภายในประเทศ นอกจากนี้ จีนยังให้สิทธิพิเศษอื่น ๆ เช่น การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีนำเข้าสำหรับผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์
ขณะที่รัฐบาลท้องถิ่นเซี่ยงไฮ้ประกาศให้เงินอุดหนุนบริษัทที่ลงทุนในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์เทียบเท่ากับ 30% ของมูลค่าการลงทุน แต่ไม่เกิน 100 ล้านหยวนเพื่อพัฒนาการผลิตภายในประเทศ
ทั้งนี้เทคโนโลยีจีนปัจจุบันยังไม่สามารถผลิตชิปที่มีขนาดเล็กสุด (5 nm) ที่ใช้ในเทคโนโลยีขั้นสูงได้ อย่างไรก็ดี ล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม ศูนย์วิจัย TechInsights รายงานว่า ขณะนี้จีนสามารถผลิตชิปขนาด 7 nm ได้เองแล้ว ซึ่งเร็วกว่าที่ประเมินไว้มาก สะท้อนการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในระยะต่อไป
ถามว่าจากเหตุการณ์ Decoupling ครั้งนี้ ใครจะได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์
บทวิเคราะห์ของ SCB EIC มองว่า ...
สำหรับฝั่งที่เสียประโยชน์ คือทั้งจีนและสหรัฐอเมริกา
เพราะจะทำให้ทั้งสองประเทศสูญเสียช่องทางการค้าซึ่งกันและกัน ยังทำให้เกิดปัญหาการ ชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานมากขึ้น โดยอาจจำเป็นต้องหาแหล่งป้อนวัตถุดิบรายใหม่ซึ่งต้องใช้ทั้งเวลาและเงินลงทุนมหาศาล
ส่วนฝั่งที่ได้ประโยชน์ คือ หลายประเทศที่พร้อมจะเปิดโอกาสทางการลงทุน
เนื่องจากสหรัฐอเมริกาและจีนจำเป็นต้องกระจายความเสี่ยงโดยการหาตลาดนำเข้าวัตถุดิบและฐานการผลิตแหล่งใหม่ ผ่านการลงทุนระหว่างประเทศ (FDI) ทำให้หลายประเทศมีโอกาสได้รับเม็ดเงินการลงทุนทั้งจากจีนและสหรัฐอเมริกา
รวมถึงจะยังสามารถส่งออกสินค้าไปยังสองประเทศได้มากขึ้นเพื่อทดแทนที่สินค้าที่หายไป เช่น การที่โรงพยาบาลในจีนหันมาซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงจากฝั่งยุโรปและญี่ปุ่นมากขึ้น แทนที่การสั่งซื้อจากสหรัฐฯ เพียงประเทศเดียว การที่จีนลดภาษีนำเข้าแก่ประเทศต่าง ๆ ในองค์การการค้าโลก รวมไปถึงการที่บริษัทจากสหรัฐฯ เริ่มมีการย้ายฐานการผลิตจากจีนไปสู่ประเทศอื่น เช่น เวียดนาม
กลับมาที่ประเทศไทย ...
จะได้รับผลกระทบอย่างไรจาก Decoupling ครั้งนี้บ้าง ?
งานวิจัย US Chamber of Commerce พบว่ามี 4 อุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบ คือ
... อุตสาหกรรมการบิน
... อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์
... อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์
... อุปกรณ์การแพทย์
ซึ่งอุตสาหกรรมการบิน และอุปกรณ์การแพทย์ ของไทยไม่ได้มีขนาดใหญ่มาก และการส่งออกการแพทย์ของไทยก็ไม่ได้เป็นเทคโนโลยีชั้นสูง จึงมีผลกระทบที่ค่อนข้างจำกัด
ดังนั้นทาง SCB EIC มองว่า ไทยจะได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์
1. อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์
โดยเฉพาะเรื่องของการประกอบ ทดสอบบรรจุ และนำมาผลิตเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยานพาหนะ เครื่องใช้ไฟฟ้าบางชนิด จำเป็นต้องใช้เซมิคอนดักเตอร์เป็นส่วนประกอบ แสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์มีบทบาทสำคัญกับการส่งออกของไทยเป็นอย่างมาก
... ดังนั้น หากการ Decoupling เกิดขึ้น สหรัฐฯ อาจจะสูญเสียตลาดเซมิคอนดักเตอร์ในจีน อาจทำให้เซมิคอนดักเตอร์มีราคาสูงขึ้น อีกทั้ง สหรัฐฯ อาจจำเป็นต้องลดการผลิตในจีนลง ทำให้ห่วงโซ่อุปทานเกิดการชะงักงัน ผลกระทบทั้งหมดนี้จะส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานพาหนะของไทย จากการที่วัตถุดิบมีราคาสูงขึ้นและขาดแคลนอุปทานในการผลิต
2. อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์
อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์เป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เงินลงทุนมาก เนื่องจากเคมีภัณฑ์เป็นภาคธุรกิจที่ใช้ปัจจัยการผลิตทุนเป็นส่วนใหญ่ (Capital-intensive) สังเกตได้จากการที่ต้องใช้โรงงานขนาดใหญ่ที่มีระบบอัตโนมัติ รวมไปถึงขั้นตอนการผลิตที่ซับซ้อน ทำให้มีอัตราการทำกำไรที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค3 การลงทุนใน R&D และการประหยัดต่อขนาด (Economies of scale) จึงเป็นสิ่งสำคัญต่ออุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ โดยอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีความเชื่อมโยงกันในระดับสูง เนื่องจากเป็นตลาดนำเข้าและส่งออกที่สำคัญซึ่งกันและกัน ดังนั้น ในระยะยาว การ Decoupling อาจทำให้ประสิทธิภาพในการผลิตลดลงในขณะที่ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น
... ถึงแม้ในระยะยาว Decoupling จะทำให้ประสิทธิภาพในการผลิตเคมีภัณฑ์ภายในสหรัฐฯ และจีนลดลง ส่งผลให้ราคาเพิ่มขึ้น แต่เมื่อมองในมุมของไทยที่มีจีนและสหรัฐฯ เป็นแหล่งนำเข้าเคมีภัณฑ์ที่สำคัญ Decoupling ทำให้สหรัฐฯ และจีนค้าขายกันน้อยลง เป็นเหตุให้ทั้งสองจำเป็นต้องหาตลาดอื่นเพื่อเป็นทางเลือกมากขึ้น โดยจีนอาจหันไปนำเข้าเคมีภัณฑ์จากกลุ่มประเทศอื่นมากขึ้น รวมถึงไทย ทำให้ไทยอาจขยายตลาดส่งออกได้เพิ่มขึ้น อีกทั้ง การที่สหรัฐฯ จำเป็นต้องส่งออกให้จีนน้อยลงส่งผลให้สหรัฐฯ ต้องหาตลาดส่งออกอื่น ๆ ทำให้ไทยอาจมีโอกาสได้นำเข้าเคมีภัณฑ์ในราคาที่ถูกลง
แล้วแบบนี้ไทยควรรับมือการ Decoupling อย่างไร
SCB EIC มีความคิดเห็นว่า
1. ไทยควรกระจายความเสี่ยงในการนำเข้าและส่งออก รวมไปถึงการจัดหาห่วงโซ่อุปทานจากหลากหลายประเทศ
2. ภาครัฐควรมีส่วนสนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมต้นน้ำในห่วงโซ่อุปทานของเซมิคอนดักเตอร์และเคมีภัณฑ์
การ Decoupling ระหว่าง สหรัฐฯ และจีน ไม่ใช่เรื่องไกลตัว โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และเคมีภัณฑ์ ดังนั้น ในระยะถัดไปไทยควรกระจายความเสี่ยงในการนำเข้าและส่งออก รวมไปถึงการจัดหาห่วงโซ่อุปทานจากหลากหลายประเทศ อีกทั้ง ภาครัฐควรมีส่วนสนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมต้นน้ำในห่วงโซ่อุปทานของเซมิคอนดักเตอร์และเคมีภัณฑ์ เนื่องจาก Decoupling ทำให้ไทยมีโอกาสในอุตสาหกรรมทั้งสองมากขึ้น ภาครัฐจึงควรออกนโยบายส่งเสริมการลงทุนให้เติบโตได้ต่อเนื่องในระยะยาว
-----------------------------------------
Reference