#ลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐาน

เลือกหุ้นลงทุน รับมือสถานการณ์ดอกเบี้ยขาขึ้น

โดย อธิป กีรติพิชญ์
เผยแพร่:
99 views

ปี 2565 ทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤติเงินเฟ้อที่รุนแรง ตัวเลขเงินเฟ้อของเกือบทุกประเทศทั่วโลกพุ่งสูงสุดในรอบหลายสิบปี ต้นทุนการผลิต หรือ วัตถุดิบ มีราคาเพิ่มสูงขึ้น มีที่มาหลักๆจากราคาน้ำมัน ราคาก๊าซ ราคาอาหาร ราคาปุ๋ย ฯลฯ ที่ถูกกดดันมาจาก ต้นทุนเพิ่ม (Cost - Push Inflation)


ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นตาม นำไปสู่ราคาสินค้าสูงขึ้น ตามราคาต้นทุนที่สูงขึ้นนั่นเอง แน่นอนว่า การปล่อยให้เงินเฟ้อไหลไปโดยไม่ทำอะไรเลย จะทำให้ประชาชนกลุ่มฐานรากลำบากมาก เข้าสู่ยุคข้าวยากหมากแพง ซึ่งเป็นศัตรูตัวสำคัญของรัฐบาลและผู้กำหนดนโยบายในทุกประเทศ 

 

นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (FED : เฟด) ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายดอกเบี้ย เคยย้ำถึงความมุ่งมั่นของเฟด ที่พร้อมจะทำทุกวิถีทาง เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่สูง นอกจากนี้ เขายังยืนยันด้วยว่าเฟดกำลังขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว โดยเพิ่มอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว 3 ครั้งในครึ่งแรกของปี 2565 โดยครั้งล่าสุด ปรับเพิ่ม 75bps ในระหว่างการประชุมในเดือนมิถุนายน 2565 แทนที่จะเป็น 50bps ตามที่คาดการณ์ไว้ในตอนแรก เพราะอัตราเงินเฟ้อสหรัฐยังคงเร่งตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง


ในขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่เฟดหลายคนได้เรียกร้องให้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วเพื่อกดให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายที่ 2% คาดว่าจะต้องปรับเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 50bps หรือ 75bps ในเดือนกรกฎาคม และอีกหลายครั้งตลอดช่วงเวลาที่เหลือของปี เพื่อคุมอัตราเงินเฟ้อให้ได้ 



เพื่อทำสงครามกับภาวะเงินเฟ้อ ทำให้ธนาคารกลางของหลายประเทศจำเป็นต้องส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย รวมทั้งประเทศไทย ที่ประเมินว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยภายในครึ่งหลังของปี 65 นี้ ทำให้นับจากนี้เราอยู่ในช่วงสถานการณ์ดอกเบี้ยขาขึ้น อย่างเต็มตัว ซึ่งแน่นอนว่าจะกระทบต่อการลงทุนในตลาดหุ้นอย่างแน่นอน เพราะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ย่อมมีทั้งกลุ่มธุรกิจที่ได้รับประโยชน์และเสียประโยชน์ 

 

ดอกเบี้ยขาขึ้นในทางทฤษฎีแล้ว จะเป็นลบต่อตลาดหุ้น

ในทางทฤษฎีการเงินแล้ว การขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นลบต่อตลาดหุ้น เพราะการวัดมูลค่าหุ้น(Valuation) ด้วยวิธี DCF Discounted Cashflow จะต้องใช้อัตราคิดลด (discounted rate) ที่เพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อมูลค่ากลุ่มหุ้นเติบโต ที่คาดหวังการเติบโตของกำไรในระยะยาวๆ เมื่อถูกคิดลดมาเป็นมูลค่าปัจจุบัน จะมีมูลค่าลดลง ดังที่ได้เห็นหุ้นสหรัฐฯ โดยเฉพาะกลุ่มหุ้นเติบโต กลุ่มหุ้นเทคโนโลยี ถูกเทขายออกมาตั้งแต่ช่วงต้นปี เมื่อตลาดเริ่มรับรู้ว่าดอกเบี้ยกำลังจะเพิ่มขึ้น 

 

แล้วตลาดหุ้นไทยจะได้รับผลกระทบอย่างไร?

ตลาดหุ้นไทย ก็ได้รับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ FED เช่นเดียวกัน เพราะที่สุดแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยก็คงจำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตามไปในไม่ช้า 
 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย จะยังไม่ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของไทยเลยในปีนี้ แต่ในความเป็นจริง อัตราผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี (bond yield) ของไทย ได้วิ่งขึ้นตามสหรัฐฯมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้ ซึ่งได้กดดันตลาดหุ้นไทย โดย SET Index YTD -6.7% (as of 12 .. 65) โดยเฉพาะกดดันต่อหุ้นหลายกลุ่มที่ไม่ชอบการปรับขึ้นดอกเบี้ย เช่น หุ้นกลุ่มการเงิน กอง REIT และ กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน Infrastructure Fund เป็นต้น ราคาหุ้นเหล่านี้ทยอยปรับลดลงมารับปัจจัยลบแล้วตั้งแต่ต้นปี ปรับตัวลงตั้งแต่ 5-20%  
 

ดังนั้นเมื่อถึงเวลาที่ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยจริง ตลาดหุ้นไทยอาจจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะตลาดหุ้นมักจะเล่นบนข้อมูลอนาคต สะท้อนภาพอย่างน้อย 6 เดือนล่วงหน้าเสมอ 

  

หน้าที่ของนักลงทุนคือ การมองหาหุ้นได้ประโยชน์และหุ้นเสียประโยชน์”  

ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยขึ้นต่อเนื่อง ตัวอย่างกลุ่มหุ้นที่จะได้รับประโยชน์ คือหุ้นกลุ่มธนาคารและกลุ่มประกัน

  • กลุ่มธนาคาร จะได้กำไรจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ ดังนั้น ธนาคารที่ปล่อยกู้ลูกค้ารายใหญ่ ซึ่งมีเครดิตลูกหนี้ดี จะได้เปรียบมาก เพราะได้ผลต่างของดอกกู้และดอกฝากสูงขึ้น หรือ ค่า NIM(Net Interest Margin) สูงขึ้น อีกทั้งยังมีความเสี่ยงจากหนี้เสีย NPL น้อยกว่า จึงได้รับประโยชน์ทางตรง 
  • กลุ่มประกัน ซึ่งมีรายได้หลักสองทาง คือ กำไรสุทธิจากเบี้ยรับรายปี และผลตอบแทนจากเงินลงทุน ซึ่งบริษัทประกันได้ประโยชน์จากการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่สูงขึ้น 

 

หุ้นที่จะได้รับผลกระทบเชิงลบจากการขึ้นดอกเบี้ยมีหลายกลุ่ม ที่ชัดเจนอาจแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ 

  1. หุ้นที่มีภาระหนี้สินสูง โดยเฉพาะหนี้ในระยะสั้น
  2. หุ้นที่ปล่อยกู้ให้แก่ลูกหนี้เสี่ยงสูง ที่มีความสามารถในการชำระหนี้ได้ต่ำ โดยเฉพาะหนี้ในระยะสั้น เช่น หุ้นสินเชื่อจำนำทะเบียน หุ้นกลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคล ฯลฯ  

 

ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุน ควรเน้นลงทุนหุ้นคุณภาพที่มีความปลอดภัยสูงที่เรียกว่า Defensive Stock เช่น กลุ่มอุปโภคบริโภคสินค้าจำเป็น กลุ่มบริหารหนี้ ที่มีโอกาสจะได้รับหนี้เสียที่จะถูกขายออกสู่ตลาดในราคาถูกมากขึ้น และกลุ่มบริการจำเป็น เช่น บริการสาธารณูปโภค และ บริการทางการแพทย์ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีอำนาจในการกำหนดราคาสินค้า สามารถปรับขึ้นราคาได้ และเมื่อขึ้นราคาแล้วยังมีลูกค้าต้องการสินค้าและบริการ จึงลดผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่มีโอกาสถดถอยได้ 

 

ที่สำคัญ หุ้นที่ตัดสินใจลงทุนต้องมีมูลค่าที่แท้จริงอยู่ในระดับที่เหมาะสม ราคาไม่แพงจนเกินไป คุ้มค่าเมื่อเทียบกับความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย (Recession) อีกด้วย

จึงนับเป็นการลงทุนที่ปลอดภัย มีแต้มต่ออย่างแท้จริง 


เจ้าของหนังสือ Best Seller “ติวหุ้น รวยด้วยวีไอ” และยังเป็นวิทยากรคอร์ส “ลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐานแบบ Value/Growth Investor” ด้วยประสบการณ์ในตลาดทุนกว่า 17 ปี และประสบการณ์ในการเป็นติวเตอร์ บวกกับความเป็นคนอารมณ์ขัน  ทำให้คุณนิ้วโป้งสามารถถ่ายทอดเรื่องยาก อย่างการลงทุน ให้เข้าใจได้ง่าย และยังใช้ภาษา ลีลาที่มีเอกลักษณ์น่าสนใจอย่างยิ่ง จึงทำให้ได้รับเชิญไปบรรยายในงานต่างๆ มากมาย

Facebook

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง